“ประภัตร” ชูงานวิจัยและพัฒนาข้าว เตรียมรองรับการแข่งขันตรงตามความต้องการของตลาดโลก มุ่งยกระดับการส่งออกข้าวไทย

วันที่ 16 มีนาคม 2563 เป็นวันสถาปนากรมการข้าวครบรอบ 14 ปี ในช่วงเช้ามีกิจกรรมประกอบพิธีสงฆ์ พิธีบวงสรวงแม่โพสพ พิธีไหว้ศาลพระภูมิ และพิธีไหว้เจ้าที่ ซึ่งมี นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร แขกผู้มีเกียรติ และเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าว เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย อีกทั้งยังได้จัดให้มีพิธีมอบโล่ ประกาศเกียรติคุณ ข้าราชการพลเรือนดีเด่น “คนดีศรีข้าว” ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยได้รับเกียรติจาก นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นผู้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นของกรมการข้าวในปีนี้ ได้แก่ นายอนุชาติ คชสถิตย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวร้อยเอ็ด และ นางสาวชวนชม      ดีรัศมี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือ “แนวทางการเร่งรัดและการขับเคลื่อนแผนงานโครงการปีงบประมาณ 2563” พร้อมมอบโล่และเกียรติบัตรในพิธีเชิดชูเกียรติข้าราชการดีเด่น กรมการข้าว เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมการข้าวครบรอบ 14 ปี ณ ห้องประชุมจักรพันธ์ กรมการข้าว ว่า ปัจจุบัน ภาคการเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ภัยธรรมชาติซึ่งคาดว่าจะเกิดภัยแล้งไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ตลอดจนสถานการณ์โรคติดต่อ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร ผลไม้ ปศุสัตว์ และประมง อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างวางแผนช่วยเหลือสินค้าด้านต่างๆ และตลอดระยะเวลาที่กำกับดูแลกรมการข้าว ได้มุ่งวางระบบการทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ อาทิ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอกับความต้องการ การพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน การพัฒนาแปลงใหญ่ การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อใช้ในการทำนา รวมทั้งวางระบบการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาด หรือผู้ส่งออกข้าว เช่น พันธุ์ กข 79 และพันธุ์ข้าวนุ่ม PTT 03019-18-2-7-4-1 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่อยู่ระหว่างเตรียมรับรองพันธุ์ สำหรับนโยบายที่จะให้มีการร่วมแรงร่วมใจกันวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ดีเพื่อการแข่งขันของศูนย์วิจัยข้าว และร่วมแรงร่วมใจในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ขอย้ำว่ายังคงให้มีการดำเนินงานเช่นเดิม และต้องเร่งรัดดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว

นายประภัตร เปิดเผยว่า กรมการข้าวต้องให้ความสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวเพื่อการแข่งขันของไทยตามความต้องการของผู้ส่งออกข้าว เช่น การวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น (ปัจจุบันผลผลิตต่อไร่ข้าวรอบที่ 1 : นาปี 666 กิโลกรัม ต่อไร่ รอบที่ 2 :นาปรัง 669 กิโลกรัม ต่อไร่) การวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าว รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาข้าวต้องให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิตข้าว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวนา โดยมีเป้าประสงค์ในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะมีพันธุ์ข้าวที่สามารถรองรับการแข่งขันและตรงตามความต้องการของตลาดโลก เพื่อยกระดับการส่งออกข้าวของประเทศไทย

นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า ชาวนามีความต้องการปลูกข้าวที่ใช้ระยะเวลาสั้น และให้ผลผลิตมาก ดังนั้นศูนย์วิจัยข้าวในแต่ละภูมิภาค ควรร่วมมือกันในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับชาวนาในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนุ่มออกมาให้ได้ตามเป้าประสงค์ โดยจะแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ ข้าวหอมมะลิ  ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวขาว ข้าวแข็ง และข้าวเหนียว ซึ่งหากชาวนามีความรู้ความเข้าใจ ก็จะสามารถทราบได้ว่าภาคไหนควรผลิตข้าวพันธุ์อะไร และทราบถึงความเหมาะสมของพันธุ์ข้าวในการปลูกแต่ละพื้นที่ ตลอดจนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวออกมาให้เพียงต่อความต้องการในการส่งออก

นอกจากนี้ สถาบันการจัดการนานาชาติยังได้จัดอันดับประเทศไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 42 ของโลก เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งในด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม อาทิ ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ประเทศไทยมีความท้าทายในด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สำคัญ เช่น กำหนดโจทย์การวิจัยที่ตอบสนองความต้องการประชาชน ภาคการผลิตและบริหาร ดังนั้น หากมีพันธุ์ข้าวที่ดี ถือว่ามีโอกาสสูงที่จะชนะคู่แข่งได้ ซึ่งงานวิจัยและพัฒนาข้าวถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการผลิตข้าวของไทย