ทีวีวิทยาศาสตร์ ซีซั่น 2 ยกคุณภาพชีวิต สู่ “ไทยแลนด์ 4.0”

พูดถึงไทยแลนด์ 4.0 หลายคนอาจจะงง ว่ามันคืออะไร ทำไมสมัยนี้ อะไรๆ ก็ไทยแลนด์ 4.0 กันจัง

ไปถาม อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้รับคำตอบกลับมาว่า ตัวเลข 4 ในที่นี้เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งกว่าจะมาเป็นไทยแลนด์ 4.0 ก็ต้องผ่าน 1.0, 2.0 และ 3.0 กันมาก่อน โดย 1.0 ก็คือ ยุคของเกษตรกรรม คนไทยปลูกข้าว พืชสวน พืชไร่ เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ นำผลผลิตไปขาย สร้างรายได้และยังชีพ ไทยแลนด์ 2.0 ก็คือ ยุคอุตสาหกรรมเบา ในยุคนี้เรามีเครื่องมือเข้ามาช่วย ประเทศเริ่มมีศักยภาพมากขึ้น ไทยแลนด์ 3.0 ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน เป็นยุคอุตสาหกรรมหนัก เราผลิตและขายส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ ก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ เป็นต้น

คำพูดที่ว่า ต้องช่วยกันนำพาประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นั่นก็คือ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนนั่นเอง

รัฐมนตรี วท.บอกด้วยว่า เครื่องมือหนึ่งที่จะพาไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ก็คือ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)” นั่นเอง ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศต่างๆ ที่ขึ้นชื่อว่าพัฒนาแล้วได้

เราได้สร้างกลไก หรือเครื่องมือที่เรียกว่า “คลินิกเทคโนโลยี” เพื่อนำเทคโนโลยีที่มาจากผลงานวิจัยและพัฒนาถ่ายทอดไปยังชุมชนหรือท้องถิ่น มาตั้งแต่ปี 2546 โดยร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 69 จังหวัด ปัจจุบันคลินิกเทคโนโลยีได้กระจายไปตามชุมชนต่างๆ และได้มีการนำ วทน.ไปใช้ประโยชน์ โดยมีผู้รับประโยชน์จากการนำ วทน. ไปใช้ปีละไม่น้อยกว่า 20,000 คน สร้างรายได้หรือลดรายจ่ายได้ปีละ 86-160 ล้านบาท รวมทั้งสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งข้อมูลเทคโนโลยีผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ โทรศัพท์ สื่อสิ่งพิมพ์ และบริการเคลื่อนที่ ปีละไม่น้อยกว่า 800,000 คน และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของหมู่บ้านหรือชุมชนที่นำ วทน.ไปใช้ประโยชน์ผ่านคลินิกเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯโดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงได้ผลิตรายการโทรทัศน์ “Science Hit วิทยาศาสตร์ทันสมัย ซีซั่นที่ 2” ขึ้น เพื่อแสดงให้คนไทยเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าวิทยาศาสตร์จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตตลอดจนสร้างงานสร้างรายได้ให้ได้อย่างไร ชมรายการนี้ได้ทุกวันจันทร์และพุธ เวลา 11.30-12.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม Most Channel ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับชมได้ผ่าน 4 ช่องทาง คือ กล่องรับสัญญาณ PSI ช่อง 246, SUNBOX ช่อง 118, GMMZ ช่อง 207 และ Dynasat ช่อง 104 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

อรรชกาบอกว่า วท.ผลิตรายการนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนไทยโดยเฉพาะชาวบ้านหรือชุมชนต่างๆ ได้เห็นว่า วทน.สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตจริงๆ อย่างเช่นหมู่บ้านที่มีผลงานการพัฒนาที่โดดเด่น คือ หมู่บ้านควายนม จ.เชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเป็นอาชีพหลัก ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้บ้านใหม่ดอนแก้วกลายเป็นหมู่บ้านที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติสูง รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวมานาน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม จนกระทั่งคลินิกเทคโนโลยีเข้าไปพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยนำ วทน.เข้าไปแก้ปัญหา ทำให้คนในชุมชนรู้จักกับการทำเกษตรแบบผสมผสาน การเลี้ยงควายนม การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ไม่เบียดเบียนผืนป่า จนปัจจุบันคนในชุมชนแห่งนี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

สิ่งสำคัญกว่านั้นที่ผู้ชมจะได้เห็นในรายการคือ ความร่วมมือร่วมใจและความเสียสละของคนในชุมชน จนบางหมู่บ้านมีการต่อยอดนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกระบวนการบริหารจัดการโดยชุมชนเอง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ก็สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

และยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเดินไปสู่การเป็นคนไทยยุค 4.0 ตามที่ตั้งใจเอาไว้ให้ได้อีกด้วย

ที่มา : มติชนรายวัน คอลัมน์ คนเมือง ผู้เขียน : ชุติมา นุ่นมัน

อรรชกา สีบุญเรือง