ตลาดนัดโค-กระบือ บ้านท่าแร่ วันนี้ จากหมู่บ้านแหล่งปลา มาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เมื่อเอ่ยชื่อบ้านท่าแร่ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร หลายคนมักนึกถึงเรื่องราว ของ “สุนัข” ที่เคยเป็นข่าวคราวมายาวนาน เพราะบ้านท่าแร่ เมื่อไรก็ตาม หากมีคนต่างจังหวัดถามว่าอยู่ที่ไหน หากบอกว่าอยู่สกลนคร ต้องถามว่ารู้จัก “ท่าแร่” หรือไม่

แต่จะถามต่อว่าที่นั่น “เนื้อสวรรค์” ยังคงมีจำหน่ายหรือไม่ และร้านอาหารบางชนิดหรือก๋วยเตี๋ยว เพราะต้องใส่ลูกชิ้น ทำเอานักนิยมกินก๋วยเตี๋ยวไม่กล้าลอง…

วันนี้บ้านท่าแร่ในเรื่องของการ “เปิบเนื้อ” ดังกล่าวกำลังเงียบหายไป ผู้คนส่วนหนึ่งที่เคยทำมาค้าขายเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงบางชนิด ได้หันไปทำอาชีพอื่นกันจะหมดแล้ว เช่น ปลูกข้าวโพด เป็นต้น

บ้านท่าแร่อยู่ห่างจากตัวเมืองสกลนคร ราว 25 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางขับรถ 30 นาที สายสกลนคร-นครพนม

เป็นชุมชนที่อยู่ติดกับ “หนองหาร” แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 77,000 ไร่ ชาวบ้านมีอาชีพทางการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ส่วนหนึ่งจะทำประมง จับปลาในหนองหาร ต่อจากนั้นนำมาแปรรูปด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน นำมาทำ “ปลาแดก” หรือปลาร้า ในสมัยก่อนปลาร้าหรือปลาแดกบ้านท่าแร่ จะเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง เพราะเมื่อถึงยามเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านท่าแร่ ส่วนหนึ่งจะมี “เกวียนพวง” จะพากันนำปลาแดก ขึ้นเกวียนพวงบรรทุกปลาแดก และจากนั้นจะมุ่งหน้าไปสู่ผู้ที่อยู่ที่ราบ จังหวัดอุดรธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เพื่อนำ “ปลาแดก” ไปจำหน่ายและแลกข้าวเปลือกกลับมาสู่คนพื้นลุ่ม ครั้งละ 10-15 ลำ ไปเป็นขบวนรอนแรมไปเป็นหลายเดือนจึงกลับมา

ผู้เฒ่าผู้แก่ รุ่นเก่าๆ แห่งบ้านท่าแร่ เล่าให้ฟังว่า ประเพณีการกินสุนัขนั้น ที่ท่าแร่เมื่อก่อนกินกันกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คนเท่านั้น และมักนิยมกินกันเฉพาะหน้าหนาวอากาศเย็นเพราะเชื่อว่าจะทำให้ร่างกายอบอุ่น แต่ต่อมา เมื่อมีการสร้างประตูน้ำหนองหาร (ประตูน้ำสุรัสวดี) ทำให้ปลาไม่สามารถขึ้นมาจากน้ำโขงมาวางไข่ในหนองหารได้ เพราะติดบันไดปลาโจน แม้ขึ้นได้ก็ไม่กี่ชนิด จึงทำให้ปริมาณปลาลดลง การจับปลา การทำประมง จึงได้หายไป และตลาดปลาหรือ “ท่าปลา” ท่าแร่จึงหมดไปเพราะไม่มีปลา ทำให้กลุ่มทำปลาแดกต้องหยุด หลายคนบอกว่าเป็นการสิ้นสุดหรือ “วัฒนธรรมปลาแดก” ล่มสลายลงไปเพราะบ้านท่าแร่ เป็นแหล่งปลาแดกขนาดใหญ่ จาก “ลุ่มน้ำสงคราม”

เมื่อวัฒนธรรมปลาแดกล่มสลาย วัฒนธรรมการกิน “หมา” หรือสุนัขจึงเกิดขึ้น กลุ่มค้าปลาแดก ก็หันไปทำมาหากินแบบใหม่ จนกระทั่งการค้าเนื้อ “หมา” หรือสุนัขเริ่มเกิดขึ้นมาขยายวงกว้างกลายเป็นธุรกิจระดับประเทศ เป็นเรื่องราวที่ผู้เฒ่าแห่งบ้านท่าแร่เล่าเรื่องราว ความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับหมู่บ้านท่าแร่ให้ฟัง ซึ่งยังมีเรื่องราวดีๆ ของบ้านท่าแร่มาเล่าให้ฟังในคราวต่อไป

“ตลาดท่าแร่ ที่นี่จะมีผู้คนที่อยู่ใกล้ๆ แถบนี้ เพราะท่าแร่เป็นหมู่บ้านที่ติดริมหนองหาร จะเป็นทางผ่านเข้าได้ ตัวเมืองสกลนคร และจังหวัดนครพนม ตลาดทุกสิ่งจะมารวมอยู่ที่ท่าแร่ เพราะแม่ค้า พ่อค้า จะมาจากอำเภอนาหว้า อำเภอศรีสงคราม โพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม จะไหลรวมมาที่นี่มากกว่าเพราะเป็นจุดรวมกึ่งกลางของสองจังหวัด ตลาดนัดโค-กระบือ จะเปิด 2 วัน ศุกร์-เสาร์” คุณสมบัติ กายราช ส.อบจ.สกลนคร และเจ้าของตลาดนัดโค-กระบือ บ้านท่าแร่ เล่าให้ฟัง

คุณสมบัติ กายราช

คุณสมบัติ เล่าให้ฟังว่า จากที่เคยเป็นเกษตรกรและมีเพื่อนรู้จักมาก คิดทำมาค้าขายอย่างอื่นไม่ถนัด ประกอบกับเพื่อนบ้านและเพื่อนๆ หลายคน เมื่อยามจำเป็นใช้เงินได้มาหาพร้อมกับมาหยิบยืมเงินแม้จำนวนไม่มาก บางรายลูกจะเปิดเทอมไม่มีเงินก็มาบอกขายโค-กระบือให้เพื่อนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่าย ในครอบครัวและแก้ปัญหา จึงคิดที่จะจัดตลาดนัด จึงใช้เนื้อที่ 22 ไร่ ริมถนนสายสกลนคร-นครพนม ก่อนถึงหมู่บ้านท่าแร่ เปิดตลาดนัดโค-กระบือเพื่อเป็นแหล่งรวมโค-กระบือ ให้มีการพบกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายโดยตรง โดยมีการคิดค่าบริการพื้นที่เล็กน้อยเท่านั้น

จากที่เคยเปิดแค่วันเดียว คือวันเสาร์ แต่ไม่สามารถรองรับผู้ชื้อผู้ขายได้ เพราะตลาดนัดที่โค-กระบือมา อย่างน้อยต้อง 2 วัน เนื่องจากบางรายอยู่ไกล ขนโค-กระบือมาไม่ทันตลาด จะต้องค้างคืน จึงขยายเป็น 2 วัน เพราะเมื่อหากไม่ทันวันแรกก็ต้องได้ลงวันต่อไป

ระบบของตลาด จะมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ มาคอยดูแลสัตว์ทุกอาทิตย์ จะมีการพ่นยา ดูแลความสะอาดสถานที่ มีการควบคุมอย่างใกล้ชิด มีกฎระเบียบวางไว้ชัดเจน ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกตัดสิทธิไม่ให้นำโค-กระบือ เข้ามาจำหน่ายหรือซื้อขายได้

บรรยากาศการซื้อขาย

คุณสมบัติ บอกว่า ที่นี่จะเป็นแหล่งรวม มีพ่อค้านำโค-กระบือเข้ามาขายรวม ทั้งเกษตรกรก็สามารถมาขายได้ ส่วนพ่อค้าจะมาจากทางภาคกลางและภาคเหนือเข้ามาซื้อกลับไป

ช่วงนี้ราคาโค-กระบือ จะมีราคาแพงขึ้น ทำให้พ่อค้าแม่ค้าต่างบ่นกันมาก บางรายขนมาถึงตลาดจำเป็นต้องขายเนื่องจากภาระที่บ้านรออยู่ บางคน สัตว์เลี้ยงเหมือน “กระปุกออมสิน” ที่เดินได้ เมื่อไม่มีเงินก็นำออกมาใช้แลกเปลี่ยนเพื่อนำมาใช้จ่ายหรือลงทุน ตลอดจนเป็นค่าเทอมให้บุตรหลาน

ผู้ขาย แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. ผู้ขายเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีอาชีพหลักในการทํานา นําโค-กระบือเข้ามาขายยังตลาดนัดเป็นครั้งคราว
  2. ผู้ขายเป็นอาชีพหรือพ่อค้าสัตว์เป็นอาชีพหลัก ผู้ขายลักษณะนี้มักจะเป็นผู้ซื้อในตลาดไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อนําสัตว์ไปขายในตลาดนัดอื่นต่อไป

ผู้ซื้อก็แบ่งจำแนกเป็นตามวัตถุประสงค์ เช่น กลุ่มซื้อส่งโรงงานชำแหละ พวกนี้เป็นรายใหญ่ และประเภทซื้อทำประโยชน์ต่อในฟาร์ม มักเป็นเกษตรกรที่หาซื้อไว้เพื่อทำพันธุ์หรือใช้แรงงานและขายต่อ รวมถึงผู้ซื้อเพื่อนำสัตว์ไปขายต่อ ส่วนการซื้อขายและจ่ายเงิน เทคนิคในการซื้อขายนั้น ผู้ขายจะเป็นผู้เสนอราคาแบบเหมาตัวต่อผู้สนใจที่จะซื้อ ส่วนผู้ซื้อจะมีวิธีต่อรองประเมินด้วยสายตาเท่านั้น ตกลงกันได้แล้วจะจ่ายกันเป็นเงินสด

ส่วนใหญ่การซื้อขายโค-กระบือ จะกระทำกันเสร็จสิ้นในช่วงเช้า และตลาดจะเริ่มวายเมื่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้บริการออกใบซื้อ-ขาย ใบรับรองสุขภาพ และใบเคลื่อนย้ายแล้ว และสิ้นสุดการเปิดตลาดในช่วงบ่าย

ในแต่ละสัปดาห์ จะมีโค-กระบือ เข้ามายังตลาด 300-400 ตัว เฉลี่ยเดือนละ 800-1,200 ตัว

สำหรับการหมุนเวียนเงินในตลาด ในการเปิดตลาดนัดแต่ละครั้งจะมีเงินสดหมุนเวียนเข้าออกตลาด จำนวนมาก เงินจากผู้ซื้อไปยังผู้ขาย

รายได้ของตลาด (รายรับ) ได้จากค่าธรรมเนียมผู้ขายขายสัตว์ได้ตัวละ 20 บาท

ร้านค้าจะหน่ายสินค้าภายในตลาด ค่ารับฝากสัตว์ จากผู้ดูแลสัตว์ หากเป็นตลาดตนเองไม่ต้องเช่า และรายจ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟเท่านั้น

ตลาดนัดโคกระบือบ้านท่าแร่ นอกจากจะมีพ่อค้าสัตว์จากหลายพื้นที่เข้ามาใช้บริการ และที่นี่ยังเป็นตลาดรวม เน้นไปที่ความตรงไปตรงมา และเกษตรกรเป็นการพบกันระหว่างผู้ซื้อและผู้จำหน่ายโดยตรง

สำหรับเกษตรกร พ่อค้า หรือท่านที่สนใจสามารถติดต่อหรือสอบถามได้ที่ คุณสมบัติ กายราช ส.อบจ.สกลนคร โทร. (083) 338-3008, (094) 42973690