เปิดศูนย์เรียนรู้ ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร มีความสามารถและศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ได้แก่ ข้าวและข้าวโพด จนได้รับมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวระดับประเทศ รวมทั้งเป็นกลุ่มที่มีความร่วมมือและร่วมใจกันพัฒนากิจกรรมด้านการเกษตรและพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนใกล้เคียงหรือบุคคลที่มีความสนใจ…ทางสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาชุมชนจึงได้ทำการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วม “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า”

เมื่อเร็วๆ นี้ สยามคูโบต้า ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร เปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร แห่งแรกในภาคเหนือ ถือเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย โชว์จุดเด่นผู้นำผลิตเมล็ดพันธุ์พืช ชูระบบ KUBOTA (Agri) Solutions ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณณัฐกมล ลักขณาวราภรณ์ ผู้จัดการส่วนอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า สยามคูโบต้ามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย จึงได้ดำเนินนโยบายเพื่อตอบแทนสังคมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงทางอาหาร ด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม

จากซ้ายไปขวา คุณณัฐกมล ลักขณาวราภรณ์ คุณกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ คุณสุนทร จำรูญ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 สยามคูโบต้ามุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง จึงเกิดเป็น “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” หรือ SIAM KUBOTA Community Enterprise (SKCE) โดยคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการทำงานร่วมกันระหว่างสยามคูโบต้ากับกลุ่มเกษตรกร นำไปสู่การช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตในการทำการเกษตร ส่งเสริมให้ชุมชนมีความอยู่ดีกินดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

บรรยากาศภายในงาน

ที่ผ่านมาสยามคูโบต้าได้เปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าทั้งสิ้นจำนวน 3 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแบ่งออกเป็นจังหวัดศรีสะเกษ 2 แห่งและจังหวัดอุดรธานี 1 แห่ง ซึ่งสยามคูโบต้าให้การส่งเสริมกิจกรรมใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านการตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ทำให้ทั้ง 3 ศูนย์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

คุณณัฐกมล ลักขณาวราภรณ์ ผู้จัดการส่วนอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด

สำหรับในปีนี้ สยามคูโบต้าจึงเดินหน้าเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร ณ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นศูนย์เรียนรู้แห่งที่สี่ และยังเป็นแห่งแรกในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบ ซึ่งได้นำระบบ KUBOTA (Agri) Solutions การจัดการเกษตรกรรมครบวงจรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้ามาใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เครื่องจักรกล

“มีการเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าที่มีความพร้อมอีกแห่งของภาคเหนือ ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ ต้นเดือนมีนาคม” คุณณัฐกมล กล่าว

คุณกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่

ด้าน คุณเปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ประธานในพิธี เปิดเผยว่า ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร ถือเป็นศูนย์แห่งแรกในภาคเหนือ โดยมีหน่วยงานภาครัฐช่วยสนับสนุนให้ชุมชนแห่งนี้เติบโตและประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทุกหน่วยงานมีบทบาทร่วมกันในการสร้างสังคมเกษตรสมัยใหม่ที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างความรู้ และสร้างอาชีพผ่านการพัฒนาบุคลากรในชุมชน รวมทั้งสนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อให้เข้าถึงการทำเกษตรกรรมในชุมชนได้อย่างแท้จริง

คุณสุนทร จำรูญ ประธานกลุ่มตอนิมิตร

คุณสุนทร จำรูญ ประธานกลุ่มตอนิมิตร เปิดเผยว่า กลุ่มตอนิมิตรผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ทั้งข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง และพืชผัก และได้รับการยอมรับว่าสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีเด่นในระดับประเทศ โดยมีเป้าหมายคือ “พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เรียนรู้เทคนิคและวิธีการทำเกษตรสมัยใหม่ จนสามารถพึ่งพาตนเองได้” ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากสยามคูโบต้าในเรื่องความรู้ด้านเกษตร การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การสร้างรายได้เพิ่ม และร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนดีขึ้น

คณะชุมชน

สยามคูโบต้ามุ่งมั่นพัฒนากลุ่มเกษตรเพื่อสร้างเป็นชุมชนต้นแบบทางการเกษตรที่มีความเข้มแข็ง รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้ศึกษาวิธีการทำเกษตรที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรในชุมชนมีความกินดีอยู่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ และประยุกต์เครือข่ายอาชีพในชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน เกิดการพัฒนาทั้งชุมชน และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนในพื้นที่ต่อไป