กะหล่ำปลี ผักยอดนิยมของคนไทย ปลูกได้ทั่วประเทศ ทุกฤดูกาล

แม่บ้านสมัยใหม่ทุกท่านที่ไปจ่ายตลาดด้วยตนเอง ทุกท่านคงจะต้องรู้จักกับผักชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “กะหล่ำปลี” และก็คิดว่าคงจะมีน้อยคนที่ไม่เคยกิน “กะหล่ำปลี”

กะหล่ำปลี เป็นผักในตระกูลครูซิเฟอเรีย ซึ่งมาจากคำว่า ครูซิฟิก ซึ่งหมายถึง ไม้กางเขน เพราะมีความเชื่อว่า กะหล่ำปลี เป็นพืชอาหารที่สวรรค์ประทานมาให้แก่มวลมนุษย์ชาติ การที่มีดังนี้เพราะดอกของพืชในตระกูลนี้ จะมี 4 กลีบ วางตัวเป็นรูปไม้กางเขนหรือกากบาท

กะหล่ำปลี มาจากคำว่า ครูซิฟิก หมายถึง ไม้กางเขน เพราะมีความเชื่อว่ากะหล่ำปลีเป็นพืชอาหารที่สวรรค์ประทานมาให้แก่มวลมนุษย์ชาติ เพราะดอกของพืชในตระกูลนี้ จะมี 4 กลีบ วางตัวเป็นรูปไม้กางเขนหรือกากบาท
กะหล่ำปลี มาจากคำว่า ครูซิฟิก หมายถึง ไม้กางเขน เพราะมีความเชื่อว่ากะหล่ำปลีเป็นพืชอาหารที่สวรรค์ประทานมาให้แก่มวลมนุษย์ชาติ เพราะดอกของพืชในตระกูลนี้ จะมี 4 กลีบ วางตัวเป็นรูปไม้กางเขนหรือกากบาท

กะหล่ำปลี เป็นผักในตระกูลกะหล่ำเช่นเดียวกับ คะน้า บร็อกโคลี่ ผักกาดขาว แรดิช และ เทอร์นิพ มีลักษณะเป็นหัวกลมขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีสีเขียว และกะหล่ำปลีสีม่วงอีกสายพันธุ์ที่มีสีสันแปลกตา สวยงาม

Cabbage คือชื่อภาษาอังกฤษของกะหล่ำปลี ซึ่งเดิมเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อมาได้แพร่กระจายไปทั่วโลก และถูกนำมาปลูกในไทยอย่างแพร่หลายเพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย

กะหล่ำปลี ผักที่คิดว่าคงจะมีน้อยคนที่ไม่เคยกิน กะหล่ำปลีสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ และทุกปลูกได้ทุกฤดูกาล
กะหล่ำปลี ผักที่คิดว่าคงจะมีน้อยคนที่ไม่เคยกิน กะหล่ำปลีสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ และทุกปลูกได้ทุกฤดูกาล

สำหรับประเทศไทยนั้น แต่เดิมปลูกได้ดีเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน เพราะการจะห่อตัวเป็นปลีได้จำเป็นต้องได้รับอากาศหนาว ต่อมามีการปรับปรุงพันธุ์ให้ทนกับอากาศร้อน จึงทำให้สามารถปลูกได้ทั่วประเทศ และทุกฤดูกาล

กะหล่ำปลีเป็นพืชที่มีอายุ 2 ปี แต่นิยมปลูกเป็นพืชปีเดี่ยว อายุตั้งแต่เริ่มลงปลูกจนถึงกินได้ ประมาณ 3-4 เดือน

กะหล่ำปลีหน้าหนาวจะสร้างปลีได้สวยน่ากินกว่าฤดูอื่น แต่หลายๆ คนก็กลัวยาฆ่าแมลงที่ตกค้างตามใบ จึงนิยมกินกะหล่ำปลีโดยแกะเอาปลีข้างในลึกๆ ซึ่งไม่สัมผัสกับยาฆ่าแมลง

กะหล่ำปลีในประเทศไทย แยกออกได้เป็น 3 ชนิด คือ

– กะหล่ำปลีธรรมดา พันธุ์โคเปนเฮเกน มาร์เก็ต และพันธุ์โกลเด้นท์ เอเคอร์

– กะหล่ำปลีสีม่วง หรือสีแดง ใบเป็นสีแดงทับทิม ขึ้นได้ดีในที่อากาศหนาวเย็น

– กะหล่ำปลีใบย่น ชนิดนี้มีผิวใบหยิกย่น และต้องการอากาศหนาวเป็นพิเศษ

แต่ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อะไร ก็มีผลในการป้องกันโรคได้หลายๆ โรคที่เกิดในร่างกายได้ในสมัยโบราณ โดยมีบันทึกเกี่ยวกับการใช้กะหล่ำปลีเป็นยา จากบันทึกของ คาโต เดอะ เซนเซอร์ (234-149 ปี ก่อนคริสตกาล) บันทึกไว้ว่า “กะหล่ำปลีช่วยสลายหนองจากแผลและมะเร็ง”

มีบันทึกในประวัติศาสตร์โรมันบันทึกไว้ว่า กะหล่ำปลีถูกใช้เป็นยาครอบจักรวาล “ชาวโรมันเคยขับหมอออกจากอาณาจักรระยะหนึ่ง พวกเขาดำรงสภาพไว้ได้ด้วยกะหล่ำปลี สำหรับโรคทุกชนิด…” และนี่ก็อาจจะเป็นความเชื่อโบราณซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ค่ะ

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการค้นพบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ครั้งแรกเกี่ยวกับกะหล่ำปลี ในปี ค.ศ.1931 เมื่อนักวิจัยชาวเยอรมันทดลองฉายรังสีแก่หนูให้ถึงแก่ความตาย เขาค้นพบโดยบังเอิญว่า หากหนูทดลองได้รับกะหล่ำปลีเป็นอาหารจะทนต่อรังสีมากกว่าหนูธรรมดา จึงเชื่อว่าหนูที่กินกะหล่ำปลีมีความทนทานต่อรังสีเอกซ์

และยังมีการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบว่า กะหล่ำปลี มีคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็งได้ การค้นพบดังกล่าว โดย นายแพทย์ลีวัต เทนเบิร์ก ศาสตราจารย์ทางด้านสรีระ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า ในสหรัฐอเมริกา และยังมีแนวคิดที่จะสกัดสารเคมีจากกะหล่ำปลีมาเป็นยา

กะหล่ำปลีสีม่วง หรือสีแดง ใบเป็นสีแดงทับทิม ขึ้นได้ดีในที่อากาศหนาวเย็น
กะหล่ำปลีสีม่วง หรือสีแดง ใบเป็นสีแดงทับทิม ขึ้นได้ดีในที่อากาศหนาวเย็น

มีคนจำนวนไม่น้อยในต่างประเทศที่ติดตามค้นคว้าเกี่ยวกับประโยชน์ของผักชนิดนี้ และได้จัดกะหล่ำปลีไว้ในโปรแกรมอาหารอย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็ง

สำหรับในเมืองไทยเราดูเหมือนจะมีผู้นิยมกินกะหล่ำปลีกันน้อย แม้ว่ากะหล่ำปลีจะกินได้ทั้งสุกและดิบ แต่เมื่อกิจการร้านลาบ และส้มตำ เข้ามาอยู่ในความนิยมของคนไทยมากขึ้น กะหล่ำปลีก็กลายเป็นผักที่นิยมกินคู่กันได้อย่างลงตัว จนทำให้กะหล่ำปลีเป็นสินค้าสำคัญภายในประเทศ และในการส่งออกไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง

กะหล่ำปลีในเมืองไทย มีการปลูกมากในแถบจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน ทั้งชนิดสีขาวและสีม่วง แต่ชนิดสีขาวจะนิยมกินกันมากกว่าชนิดสีม่วง ซึ่งจะนิยมนำมาใช้ในการทำสลัดผสมกับผักอื่นๆ หรือผสมในยำต่างๆ เท่านั้น

กะหล่ำปลี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดพันธุ์ ปลูกเป็นแปลงยกร่อง ปลูกกันในระยะที่เรียกว่า “ปลายฝนต้นหนาว” เพราะกะหล่ำปลีเป็นพืชที่ต้องการความเย็น ดังนั้น ในเขตบริเวณเขาในจังหวัดเชียงใหม่ทางภาคเหนือ และภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมในการปลูกกะหล่ำปลีเป็นที่สุด จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยในยุคปัจจุบัน

ผักกะหล่ำปลีนี่แหล่ะ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผักเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้แก้ปัญหาการลักลอบปลูกยาเสพติด (ฝิ่น กัญชา) สำหรับชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ผักดีที่ต้องกิน

กะหล่ำปลี ผักพื้นๆ ที่เรารู้จักกัน ที่ไม่ได้มีดีแค่ความอร่อย แต่มีคุณค่าทางโภชนาการอันยอด แถมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย กะหล่ำปลีเป็นผักที่เมื่อกินสดๆ ก็กรอบ อร่อย และเมื่อนำไปประกอบอาหารก็รสเลิศไม่แพ้กัน ทำให้ไม่แปลกใจเลยว่า… กะหล่ำปลีผักที่เราหากินได้ง่ายสุดๆ แถมราคาก็ไม่แพง

กะหล่ำปลีรูปหัวใจ
กะหล่ำปลีรูปหัวใจ

– แต่น้อยคนจะรู้ว่า จริงๆ แล้ว ประโยชน์ของกะหล่ำปลีนั้นมีอะไรบ้าง?

– กินแล้วดีอย่างไร?

– และมีเมนูกะหล่ำปลีอะไรบ้าง?

 

ลองสักนิด จะติดใจค่ะ

กะหล่ำปลี นอกจากจะนำมากินสดๆ เคียงคู่กับอาหารได้เกือบทุกชนิดแล้ว ก็ยังสามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลาย เช่น กะหล่ำปลีใช้ผัด ต้มกับหมู ไก่ กุ้ง หรือต้มจิ้มน้ำพริก หรือบางท่านก็มีเมนูแปลกๆ ออกไป เช่น กะหล่ำปลียัดไส้หมู ไก่ กุ้งสับที่ต้มทั้งหัว หรือเมนูยอดนิยมของนักกิน อย่าง กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา ที่เขาบอกว่าสุดอร่อยสุดๆ

เมนูยอดนิยมของนักกิน อย่าง กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา ที่เขาบอกว่าสุดอร่อยสุดๆ
เมนูยอดนิยมของนักกิน อย่าง กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา ที่เขาบอกว่าสุดอร่อยสุดๆ

สำหรับการกินเป็นผักสดๆ ก็มักจะผ่าเป็นซีกๆ กินคู่กับลาบ ส้มตำ แต่มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งในการกินผักดิบในตระกูลกะหล่ำปลีต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ จะมีสารต่อต้านการสร้างฮอร์โมนไทรอกซิน จากต่อมไทรอยด์ จะทำให้เกิดโรคคอหอยพอก และการเจริญเติบโตผิดปกติเพราะขาดฮอร์โมนตัวที่ว่านั่นเอง แต่หากทำให้สุก สารนี้จะสลายไป

 

ของดีที่สารอาหารเพียบ

ไฟเบอร์ในกะหล่ำปลีมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผักชนิดนี้กลายเป็นอาหารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ ไม่ว่าจะเป็นผักสดหรือผักสุก และการกินกะหล่ำปลีจะทำให้กากใยในผักเข้าไปช่วยระบบย่อยอาหาร และทำให้ขับถ่ายได้ดีขึ้น เมื่อระบบการขับถ่ายดี ร่างกายก็จะขจัดคอเลสเตอรอลออกมาได้ดีขึ้น

ในกะหล่ำปลี มีกรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) ที่ช่วยยับยั้งและขัดขวางไม่ให้น้ำตาลและแป้งกลายเป็นไขมัน จึงมีส่วนในการช่วยลดน้ำหนักและคอเลสเตอรอลได้เช่นกัน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะ

ว่าการกินกะหล่ำปลี ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ เพราะมีการศึกษาพบว่า ในกะหล่ำปลีไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลีสีเขียวหรือสีม่วง จะมีกลูโคซิโนเลท (glucosinolates) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านมะเร็งที่เกิดจากสารเคมีต่างๆ แต่ก็ควรจะเลือกกินกะหล่ำปลีที่ปลอดสารพิษ เพื่อจะได้ไม่รับสารพิษที่ตกค้างจากการปลูกเข้าสู่ร่างกาย

– ลดความอ้วนได้ ปริมาณแคลอรีที่ไม่สูงมากจนเกินไปของกะหล่ำปลี และไฟเบอร์ที่สูง ทำให้กะหล่ำปลีเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับการลดน้ำหนัก เพราะเมื่อเรากินเข้าไปแล้วไฟเบอร์จะทำให้อยู่ท้องและอิ่มได้นานขึ้นค่ะ

– เป็นอาหารบำรุงสมอง วิตามินเค และสารแอนโทไซยานินในกะหล่ำปลี โดยเฉพาะในกะหล่ำปลีสีม่วง ที่มีสารทั้ง 2 ชนิด มากเป็นพิเศษ สามารถช่วยสร้างเสริมสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาธิ และสภาพจิตใจได้ เพราะสารอาหารทั้ง 2 ชนิด จะเข้าไปป้องกันการถูกทำลายของระบบประสาท และบำรุงสมองไม่ให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือสมองเสื่อมด้วย

– บำรุงผิวพรรณ ซัลเฟอร์ เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อเล็บ ผม และผิวหนัง โดยสามารถช่วยให้ผิวไม่มันและลดการเกิดสิว ซึ่งในกะหล่ำปลีก็มีสารชนิดนี้อยู่ไม่น้อยเลย จะนำมากินหรือนำมามาส์กหน้าก็ช่วยบำรุงผิวได้ทั้งนั้นเลยค่ะ

– ล้างสารพิษในร่างกาย วิตามินซีในกะหล่ำปลีทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยขับสารพิษ และกรดยูริกออกจากร่างกาย ซึ่งสารพิษเหล่านี้นี่แหล่ะ! ที่เป็นสาเหตุของโรคไขข้ออักเสบ โรคผิวหนัง โรครูมาตอยด์ และโรคเกาต์

– ลดความดันโลหิต โพแทสเซียมในกะหล่ำปลีมีส่วนช่วยให้การทำงานของระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดี ช่วยให้หลอดเลือดขยายได้มากขึ้น ซึ่งดีต่อการไหลเวียนเลือด

– ลดอาการปวดหัว อาการปวดหัวสามารถหายได้ด้วยการใช้กะหล่ำปลีมาประคบที่ศีรษะ หรือดื่มน้ำกะหล่ำปลีสด วันละ 25-50  มิลลิลิตร ใครที่มีอาการปวดหัวเรื้อรังบ่อยๆ ลองดูค่ะ

– ลดอาการแฮงก์ของนักดื่ม กะหล่ำปลีสามารถช่วยบรรเทาอาการแฮงก์จากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักได้ เนื่องจากกะหล่ำปลีมีน้ำเป็นส่วนประกอบมาก ทำให้เมื่อกินเข้าไปแล้ว น้ำในกะหล่ำปลีจะไปเจือจางแอลกอฮอล์ในร่างกายช่วยให้อาการดีขึ้น (อย่าคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่น เพราะวิธีนี้นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยโรมันแล้ว)

– ป้องกันการอักเสบและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สารกลุ่มเบตาเลน (Betalains) ในกะหล่ำปลีสีม่วง มีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือดและสร้างเสริมอินซูลินในร่างกาย แถมยังมีสรรพคุณในการช่วยต้านการอักเสบได้ดีเช่นเดียวกับหัวบีทรูทอีกด้วย

ได้เห็นทั้งคุณค่าทางอาหาร พร้อมทั้งสรรพคุณอันมากมายของกะหล่ำปลี “ผักเพื่อชีวิต” กันไปแล้ว ต่อไปนี้หากเราเจอกะหล่ำปลีในจานอาหาร หรือในผักเคียงของอาหารต่างๆ ก็อย่าเขี่ยทิ้งเด็ดขาด!!! เพราะไม่เช่นนั้น ท่านอาจโดนมือดีหยิบชิ้นปลามันไปกินก่อนก็ได้น้า!