โรงเรียนบ้านกุดขมิ้น ชัยภูมิ เด็กรักเกษตร ขาดโอกาส วอนผู้ใหญ่ใจดี ส่งเสริม

ตามพิกัดจีพีเอสนำทางไปยังโรงเรียนบ้านกุดขมิ้น มีระยะทางห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ไปราว 10 กิโลเมตรเศษ ถือว่าไม่ไกลนัก สำหรับนักเดินทางทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

แต่หลังจากแยกถนนสายหลักเข้าไปยังโรงเรียน ตามเส้นทางลาดยางและลูกรังแล้ว ความรู้สึกห่างไกลและกันดารผุดขึ้นทันที แม้ระหว่างทางจะผ่านชุมชน แต่ระหว่างทางก็ผ่านทุ่งนาที่เป็นเวิ้งขนาดใหญ่สองข้างทาง พาลนึกไม่ออกว่าจะบอกจุดพิกัดนัดพบตรงไหนได้ หากไม่ใช่ที่โรงเรียนบ้านกุดขมิ้น

คุณเฑียรไชย คำหาญพล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกุดขมิ้น

พื้นที่โรงเรียนกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา แต่เท่าที่ทราบ นักเรียนมีเพียง 42 คน ครูอีก 4 คน

คุณเฑียรไชย คำหาญพล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกุดขมิ้น หมู่ที่ 7 ตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เล่าว่า โรงเรียนก่อตั้งมานาน 77 ปีแล้ว มีพื้นที่ทั้งหมด 42 ไร่ แต่มีการเรียนการสอนเพียงระดับชั้นประถมศึกษาเท่านั้น ไม่ได้รับการขยายโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ของโรงเรียนแต่อย่างใด ทำให้มีครูผู้สอนเพียง 4 คน ซึ่งหากประเมินจากความเป็นจริง ก็ไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอน แต่โรงเรียนมีวิธีแก้ปัญหาด้วยการทำการเกษตรในโรงเรียน เพื่อให้มีรายได้เป็นผลกำไร นำไปจ้างครูดูแลระดับชั้นอนุบาล และประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน

คุณสุรเดช ม่วงนิกร ครูชำนาญการพิเศษ ผู้ดูแลกิจกรรมการเกษตร

เพราะจำนวนครูและเด็กนักเรียนมีไม่มาก ประกอบกับเป็นเด็กนักเรียนที่ยังอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งถือว่ายังเล็ก จึงไม่สามารถทำกิจกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ได้ การเกษตรในโรงเรียนจึงทำได้ในระดับหนึ่ง พิจารณาตามความเหมาะสมเท่านั้น

ครูเฑียรไชย บอกว่า พื้นที่ทั้งหมดไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ จากทั้งหมด มีเสาไฟฟ้าแรงสูงตั้งอยู่ ไม่เหมาะสำหรับพานักเรียนไปทำกิจกรรม เพราะเกรงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น จึงปล่อยให้ชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่ทำการเกษตรด้วยการปลูกเห็ดฟาง โดยไม่เก็บค่าเช่า แต่ให้ดูแลแปลงเห็ดฟางของโรงเรียนที่มีอยู่บริเวณนั้น และทำแปลงเห็ดฟางที่มีอยู่ เป็นที่สำหรับให้นักเรียนไปเรียนรู้การเพาะเห็ดฟางจากผู้ปกครองที่เพาะเห็ดฟางด้วย

โรงเรือนเพาะเห็ด

ถัดจากบริเวณนั้นมาเข้าใกล้ตัวอาคารเรียน เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ 10×30 เมตร เดิมเป็นพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำ แต่ใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการนำพันธุ์ปลาเบญจพรรณมาเลี้ยงปล่อยลงบ่อที่มี และทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ไว้ด้านบนบ่อน้ำ ให้ขี้ไก่เป็นอาหารปลาด้วยส่วนหนึ่ง ซื้ออาหารเม็ดสำเร็จรูปเลี้ยงปลาสลับกับอาหารที่เหลือจากอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนด้วยอีกส่วนหนึ่ง และปลาเบญจพรรณเป็นปลาที่สามารถกินอาหารจากพืชในน้ำได้เองอีกส่วนหนึ่ง ทำให้ปลาเจริญเติบโต เมื่อถึงรอบการจับก็มีพ่อค้ามาจับเหมาไปยกบ่อ

ทำปุ๋ยหมักกลับกองด้วย

ส่วนไก่ไข่ เลี้ยงไว้จำนวน 30 ตัว ตามโครงการที่มีผู้สนับสนุนงบประมาณการสร้างโรงเรือนและพันธุ์ไก่ไข่ให้

คุณสุรเดช ม่วงนิกร ครูชำนาญการพิเศษ ผู้ดูแลกิจกรรมเกษตรให้กับโรงเรียน บอกว่า โรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีงบประมาณน้อย การประกอบกิจกรรมทางการเกษตรเพื่อเป็นต้นแบบให้กับนักเรียนในการสอน จึงต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่มี หรือเมื่อมีผู้สนับสนุนโครงการทางด้านการเกษตรใดๆ ทางโรงเรียนจะรับไว้ปฏิบัติตาม เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการเรียนการสอนให้กับนักเรียนได้เห็นของจริง และได้ลงมือปฏิบัติ เช่น ไก่ไข่ มีผู้สนับสนุนโรงเรือนและพันธุ์ไก่ไข่ ทำให้เก็บไข่ไก่ได้ทุกวัน สำหรับเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอาหารกลางวัน หากใช้ไม่หมดก็ขายให้กับครูหรือผู้ปกครองได้ทุกวัน

เพาะเห็ดฟางในตะกร้า

เมื่อไก่ไข่อายุมากขึ้น หมดรอบการผลิตไข่ โรงเรียนจึงนำขายออกเป็นไก่เนื้อ และนำรายได้จากการขายไก่เนื้อมาพิจารณาเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนต่อไป

ผู้อำนวยนการโรงเรียน บอกด้วยว่า นักเรียนที่นี่ยากจนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กด้อยโอกาสเกินกว่าครึ่ง การปลูกฝังพื้นฐานเรื่องของการทำการเกษตรจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะอย่างน้อยก็เป็นวิชาชีพให้กับนักเรียนหากอนาคตไม่มีอาชีพใดรองรับ

เด็กๆ ชอบมาก

“เราไม่ได้คาดหวังเรื่องของผลกำไร และพื้นที่โรงเรียนเองก็เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีแหล่งน้ำที่ดี แต่เราก็ยังทำแปลงผัก เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ แม้จะปลูกเพียงผักใช้น้ำน้อย หรือผักอายุสั้น เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า ก็ตาม อย่างน้อยก็เพื่อให้นักเรียนได้ลงแปลงจริง”

ผลผลิตที่ได้จากการปลูกผัก ก็นำเข้าโครงการอาหารกลางวัน ลดต้นทุน และให้เด็กนักเรียนนำกลับบ้านไปประกอบอาหาร โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพียงเพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงในแปลงเกษตรเท่านั้น

มีงบประมาณมาขุดเจาะบาดาล ก็ยังใช้ไม่ได้

ปัญหาที่เป็นอุปสรรคของทั้งการเรียนการสอน และการเรียนรู้ของเด็กๆ คุณเฑียรไชย บอกว่า เด็กที่เรียนโรงเรียนนี้เกินกว่าครึ่งเป็นเด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มด้อยโอกาส ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และมีฐานะยากจน เมื่อผู้ปกครองต้องออกทำสวนทำไร่ จำเป็นต้องพาเด็กออกไปด้วย เพราะไม่มีคนมาส่งโรงเรียน ทางโรงเรียนก็จำเป็นต้องติดตาม ไปนำตัวนักเรียนกลับมา หรือหากทำไม่ได้เช่นนั้น ก็ต้องหาเวลาสอนเพิ่มให้กับนักเรียนกลุ่มนั้นๆ ดังนั้น การสอนให้นักเรียนมีวิชาชีพพื้นฐานติดตัว จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

จากสภาพของโรงเรียนที่เห็น พบเพียงความตั้งใจจริงของครูทุกคน แต่สิ่งที่สอดแทรกให้เห็นและตอกย้ำมากกว่าภาพที่ตาเห็น คือ ความแห้งแล้งของโรงเรียนที่ปราศจากแหล่งน้ำ แม้ว่าจะมีผู้ใหญ่ใจดีในละแวกใกล้เคียงส่งความเมตตามาเป็นอาหารมื้อกลางวันบ้าง แต่หากเป็นไปได้ ครูเฑียรไชย ตัวแทนของครูทั้งหมดบอกกับเราว่า แหล่งน้ำสำหรับใช้ในการเรียนการสอนทางด้านการเกษตร เป็นสิ่งที่โรงเรียนขาดแคลนที่สุด ทำให้ไม่สามารถส่งเสริมการสอนอื่นได้ดีเท่าที่ควร ทำให้คำตอบเมื่อถามถึงสิ่งที่โรงเรียนต้องการมากที่สุด คือระบบน้ำ

สอนเรื่องการคำนวน

แน่นอนว่า หากมีผู้ใหญ่ใจดีหรือหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรเล็กๆ น้อยๆ ในโรงเรียน เป็นตัวอย่างและแหล่งเรียนรู้ให้เด็กนักเรียนได้ก็คงจะดี

นางสาวมิธิตา ฝาชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของโรงเรียน ผู้ซึ่งประสานงานผ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เพราะเห็นความขาดแคลนของเด็กนักเรียน และมีใจช่วยเหลือ ต้องการส่งเด็กให้ถึงจุดหมาย เช่นเดียวกับครูของโรงเรียน บอกว่า โรงเรียนบ้านกุดขมิ้น ตั้งอยู่พื้นที่ที่เป็นดินทราย การกักเก็บน้ำจึงทำได้ไม่ดีนัก แม้มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ แต่เมื่อปลายหนาวเข้าฤดูแล้ง น้ำในบ่อก็แห้งเหือด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ ได้ หากมีแรงส่งเสริมสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีทั้งภาครัฐและเอกชนบ้าง ก็จักขอบพระคุณแทนเด็กนักเรียนทุกคน

(จากซ้ายไปขวา) คุณวรรณนิศา ชัยมาโย ครูอัตราจ้าง คุณอาภรณี สิงหราช ครูอัตราจ้าง คุณสุรเดช ม่วงนิกร ครูชำนาญการพิเศษ คุณเฑียรไชย คำหาญพล ผู้อำนวยการโรงเรียน และ คุณมิธิตา ฝาชัยภูมิ ฝ่ายธุรการ

หากท่านใดมีจิตเมตตา ต้องการส่งเสริมสนับสนุนไม่ว่าจะด้านใด ทางโรงเรียนก็ยินดีรับไว้ โดยสามารถติดต่อประสานงานมาได้ที่ คุณเฑียรไชย คำหาญพล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกุดขมิ้น หมู่ 7 ตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ โทรศัพท์ (092) 397-9290