ดัน “พริกปลอดภัย” สู่เกษตรแปลงใหญ่ ถอดบทเรียนพื้นที่ปลูกน้อย-เหลือเงินมาก

นักวิจัยถอดบทเรียน “ปลูกพริกพื้นที่น้อย เหลือเงินมาก” หนุนโครงการพริกแปลงใหญ่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดแพร่ ถือเป็นตัวอย่างที่นำนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาลมาดำเนินการและได้ผลดีเพราะมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจดำเนินงานบนฐานงานวิจัย “พริกปลอดภัย” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยงานรัฐสนับสนุนต่อเนื่อง

อ.วีระ ภาคอุทัย โชว์คุ่มือการจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกสดปลอดภัย

หลังจากประสบความสำเร็จในการทำโครงการ “พริกปลอดภัย” ที่จังหวัดชัยภูมิในปี 2553 อาจารย์วีระ ภาคอุทัย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ประเมินภาพรวมทั้งจังหวัดพบว่า มีมูลค่าการขายพริกประมาณ 900 ล้านบาท มูลค่าจ้างเก็บพริกประมาณ 300 ล้านบาท ทำให้มีการขยายผลโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น พริกผลใหญ่และพริกใหญ่พันธุ์ลูกผสม อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ และพริกพันธุ์พื้นเมืองในอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งประสบปัญหาโรคและแมลงอย่างมาก ทั้งโรคกุ้งแห้ง ยอดเน่า รากเน่าโคนเน่า เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงวันทองพริก หรือแมลงวันพริกและหนอนเจาะผล เป็นต้น ส่งผลให้ผลผลิตน้อยและราคาพริกที่เกษตรกรขายได้มีราคาตกต่ำ

สร้างรายได้ให้เกษตรกร

นักวิจัยระบุว่า ปัญหาหลักเกิดจากเมล็ดที่เก็บไว้เองมีเชื้อรา ทำให้เกิดโรคกุ้งแห้งติดอยู่ การปลูกพริกหลังฤดูกาลปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวนาปีแล้วไม่มีการไถเตรียมดินแล้วคลุมแปลงด้วยฟางหรือเปลือกข้าวโพดก่อนปลูกพริกและปลูกถี่เกินไป เพื่อให้ต้นพริกพยุงต้นป้องกันต้นพริกล้ม แปลงปลูกพริกอยู่ติดกันหรือปลูกพริกแน่น ไม่ได้วางแผนปลูกร่วมกัน หรือไม่ได้เก็บพริกที่เป็นโรคและแมลงออกจากสวน ให้น้ำแบบสายยางติดฝักบัวพ่นฝอยตลอดทำให้การแพร่กระจายของโรคกุ้งแห้งเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดินเป็นกรด (ค่าพีเอชน้อยกว่า 6.0) ทำให้สิ้นเปลืองปุ๋ยและเกิดโรคจากเชื้อราได้ง่าย

อาจารย์วีระและคณะวิจัยจึงได้วิเคราะห์ปัญหาและจัดประชุมร่วมกับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่เกษตร เพื่อให้รู้สาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ไขป้องกัน กระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม การคัดเลือกเกษตรกรที่อยากทำวิจัยร่วมกับโครงการ โดยการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน เน้นการป้องกัน ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพริก โดยนำประสบการณ์จากจังหวัดชัยภูมิมาปรับใช้

พริกท่าวังผา น่าน

จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ พบว่า ปีการเพาะปลูก 2561/2562 พริกใหญ่มีผลผลิตเฉลี่ย 3,496.52 กิโลกรัม ต่อไร่ กำไรต่อไร่สูงกว่าไร่ละ 7,676.48 บาท ซึ่งงานวิจัยได้มีส่วนช่วยสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนพริกแปลงใหญ่ อำเภอหนองม่วงไข่ มีเกษตรกรได้ใบรับรอง GAP ตามนโยบายของรัฐจำนวน 68 ราย ขณะที่ตลาดพริกเริ่มปรับตัว นอกจากส่งโรงงานซอสพริกแล้วยังขยายการส่งพริกสดผ่านพ่อค้าส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ต่อยอดงานวิจัยด้วยการจัดตั้งโรงคัดและบรรจุตามมาตรฐาน GMP และโรงอบพริก ส่วนผลผลิตพริกแดงสด บ้านนาฝ่า ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เฉลี่ยไร่ละ 2.5 ตัน มีรายได้ประมาณไร่ละ 30,000 บาท ทำให้ได้บทเรียน “ปลูกพริกพื้นที่น้อย เหลือเงินมาก ปลูกพริกพื้นที่มาก ไม่เหลือเงินเลย” โดยเงินที่ได้จากการขายพริกใช้เป็นทุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เงินทุนทำการเกษตร ใช้หนี้ ธ.ก.ส. หากเหลือจะเก็บออม ทั้งนี้ พริกที่แพร่และน่านส่วนใหญ่ส่งโรงงานซอสพริกที่ลำพูน อยุธยา และสมุทรปราการ

ผลผลิตพริกของเกษตรกรหนองม่วงไข่

นักวิจัยกล่าวว่า ในปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้าพริกแห้งประมาณ 4,800 ล้านบาท ส่วนมากมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกพริกสดลดลงจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาพริกแห้งนำเข้าถูกกว่าเพื่อใช้ทำพริกป่นสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และมีการนำเข้ามาเก็บในห้องเย็นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พริกสดราคาตก ปัจจุบันไทยนำเข้าพริกสดจากประเทศจีนจำนวนมาก ส่วนพริกแดงเด็ดก้านส่งโรงงานซอสพริกในประเทศไทยส่วนมากปลูกในจังหวัดสุโขทัย แพร่ น่าน และเชียงใหม่

จากการสอบถามข้อมูลจากเลขากลุ่มวิสาหกิจชุมชน อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ ในปี 2561 พบว่ามีการส่งเสริมให้ปลูกพริกแปลงใหญ่ในอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ จำนวนสมาชิก 118 คน พื้นที่ปลูกพริก 234 ไร่ วงเงินกู้ ธ.ก.ส. ตั้งไว้ที่ 5 ล้านบาท แต่กู้จริงเพียง 1.15 ล้านบาท เสียดอกเบี้ย 48 บาท ซึ่งปกติเกษตรกรจะไม่ถอนเงินออกมาหมดทีเดียว แต่จะกู้เป็นงวด รวม 8 งวด ซื้อพริกได้ประมาณ 148 ตัน เพื่อส่งโรงงานซอสพริก และซื้อพริกแดงเด็ดก้านจากสมาชิกประมาณกิโลกรัมละ 12 บาท ขายพริกราคาที่โรงงานซอสพริกประมาณกิโลกรัมละ 14 บาท มีกำไรเบื้องต้นประมาณ 16,406 บาท ซึ่งถือว่ายังมีกำไรยังไม่มาก เพราะทำปีแรก ขณะที่การจัดการต่างๆ ยังมีปัญหา โดยเฉพาะการหาที่ส่งพริกให้โรงงานและค่าขนส่ง แต่มีข้อสังเกตว่าเมื่อมีวิสาหกิจชุมชนพริกแปลงใหญ่เข้ามาซื้อพริก ทำให้ราคาพริกที่พ่อค้าในพื้นที่รับซื้อราคาไม่ตกเหมือนทุกปี

แปลงพริกบ้านนาฝ่า น่าน

โครงการพริกแปลงใหญ่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวจึงถือว่าเป็นตัวอย่างที่นำนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาลมาทำแล้วได้ผล ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดแพร่ให้ความสนใจมากขึ้น ผลของความสำเร็จที่ได้เกิดจากการเลือกพืชที่มีผลกำไรสูงคือ พริก มีเกษตรกรเข้าร่วมมากพอ มีฐานงานวิจัยพริกปลอดภัยสนับสนุน มีการรวมเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และมีหน่วยงานรัฐหรือจังหวัดให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเกษตรกรอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ที่เข้าร่วมโครงการวิจัยพริกปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ปลูกพริกขี้หนูผลใหญ่ ซึ่งนักวิจัยได้ขอพันธุ์จาก ดร.สิริกุล วะสี ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานโรงกุ้งแห้งที่เกิดจากเชื้อรา เกษตรกรปลูกพริกระบบปลอดภัยตามที่อบรมและใช้สารชีวภัณฑ์ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น ปลูกพริก 800 ต้น ให้น้ำระบบน้ำหยดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เก็บพริกขายส่งตลาดเองทั้งพริกเขียว พริกแดง และพริกแห้ง เดือนตุลาคม 2562 มีรายได้ 27,000 บาท ส่วนปี 2563 พริกสวย ดก โรคน้อย เพราะอากาศเย็น ราคาพริกสูงกว่าปีที่แล้ว 4-5 บาท ต่อกิโลกรัม โดยเกษตรกรได้ใบรับรอง GAP พริกจากกรมวิชาการเกษตร หากขยายเกษตรกรไปทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเหมาะสมแล้วเชื่อมโยงเครือข่ายระบบเกษตรปลอดภัยจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในแต่ละจังหวัด