นวัตกรรมเพื่อชุมชน มทร.ธัญบุรี

นักศึกษารายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน มทร.ธัญบุรี แสดงผลงานคืนชุมชน ประยุกต์องค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรม ณ ชุมชนบ้านบึงสมบูรณ์ หมู่ที่ 2 ตำบลบึงกาฬสาม จังหวัดปทุมธานี

นายวิรัช โหตระไวศยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า นวัตกรรมเพื่อชุมชนตอบโจทย์ชุมชน เกิดองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขยายรายวิชาและรับนักศึกษาเพิ่มในการเข้ามาเรียนวิชาดังกล่าว ชุมชนเป็นแหล่งในการค้นคว้า เรียนรู้ องค์ความรู้ต่างๆ ได้เห็นสภาพชุมชนที่แท้จริง โดยใช้กระบวนการ “ความคิดเชิงนวัตกรรม” คือ นักศึกษาต้อง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาไปสู่นวัตกรรม ตามความต้องการของชุมชน ด้วยการลงมือทำ และต้องชื่นชมทางด้านคณาจารย์ทีมทำงานจิตอาสา ช่วยด้วยความเต็มใจในการลงชุมชนกับนักศึกษา นอกจากนวัตกรรมเพื่อชุมชน แนวคิดกระบวนการคิดของนักศึกษาเปลี่ยนไป ได้  บูรณาการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์องค์ความรู้ต่างๆ ปลายทางได้รู้การทำงานเป็นทีม Soft Skill ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรต่อสังคม

นายทองสุข สีลิด กำนันตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เล่าว่า การเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยน เป็นการเติมเต็มให้กับชุมชน องค์ความรู้สามารถนำไปต่อยอดได้ เช่น เปลือกไข่ เป็นของเหลือใช้ในชุมชน นักศึกษานำมาผลิตปุ๋ย เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเรียนรู้ได้ ถ้าชาวบ้านไปเรียนรู้ หรือค้นคว้าเอง เป็นเรื่องที่ยาก ถ้ามีคนมาให้ความรู้ทำให้ชาวบ้านเข้าใจ นำไปต่อยอดจะสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนในวันนี้ อยากให้ชาวบ้านเรียนรู้ องค์ความรู้ที่ได้ นำไปสู่การผลิตแบบผู้ประกอบการ ต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่อย่างไรก็ตามองค์ความรู้ที่สร้าง จะเกิดประโยชน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับนำไปต่อยอดของคนในชุมชน

นายภควัต มาสูงเนิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า นวัตกรรมของกลุ่มผมคือ “เก้าอี้จากฟ่างข้าว” นำวัสดุในชุมชนมาสร้างมูลค่า ชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน “นอกจากเกรดที่ผมคาดหวังแล้ว วิชานี้ทำให้ผมเปลี่ยนความคิด จากที่เคยเที่ยวเคยดื่มกับเพื่อน ผมเลิกที่จะปฏิบัติแบบนั้น ได้เจอชาวบ้าน คนแก่ คนที่ลำบาก อยากจะช่วยเหลือ ซึ่งทำให้เรามองเห็นอะไรที่กว้างขึ้น ไม่ยึดติดกับตัวเอง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ตัวเอง การทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือ ตลอดจนการอาสาที่จะทำในสิ่งที่เพื่อนไม่สามารถทำได้” เมื่อก่อนไม่เคยร่วมกิจกรรมในชุมชน ทั้งที่ตาเป็นประธานชุมชน แต่ทุกวันนี้ตาช่วยไปทำกิจกรรมผมจะไป ไม่ว่าจะไปเวียนเทียน หรือช่วยเก็บขยะในชุมชน

นางสาวชนาภา ใต้ตอนไผ่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เล่าว่า ชุมชนบ้านบึงสมบูรณ์ มีการทำข้าวจำหน่าย ในกลุ่มได้ลงความเห็นออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยให้กับทางชุมชน เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้กับข้าว ยกระดับ OTOP สู่การพัฒนาข้าว เรียนวิชานี้ทำให้กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิด ความเป็นผู้นำ นอกจากนั่นยังได้เห็นถึงความแตกต่างของคนในชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ดีใจที่ได้เรียนวิชานี้ และได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชน

นางสาวจิราภรณ์ โฉมฉิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เล่าว่า เปลือกไข่เป็นขยะ จึงนำเปลือกไข่ที่มีแคลเซียมสูง มาทำปุ๋ยไล่ศัตรูพืชและเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งจากการทดลอง ใส่ปุ๋ย และไม่ใส่ปุ๋ย แบบใส่ปุ๋ย ไม่มีศัตรูพืช ขนาดของต้นมีความสูงต่างกันโดยใส่ปุ๋ยมีความยาวมากกว่าประมาณ ครึ่งเซนติเมตร ต่อยอดให้ชาวบ้านทำขาย โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ เรียกความสนใจของผู้ซื้อ ออกแบบโลโก้ ใส่ไอเดีย วิชานี้ได้บูรณาการวิชาเรียนหลายวิชาเข้าด้วยกัน และช่วยเหลือชุมชนอีกด้วย

เช่นเดียวกับ นางสาวปัณฑิตา สมตั้ง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนมีเปลือกไข่เหลือทิ้งจากร้านอาหารตามสั่ง นำเปลือกไข่มาทำน้ำยาสุขภัณฑ์เติมกลิ่นส้ม นำเปลือกไข่ไปบด (ใช้วิธีการตำ) ใส่กลีเซอรีน แต่งกลิ่นส้ม เปลือกไข่ที่ตำละเอียดจะช่วยขจัดคราบได้ดี ชาวบ้านสามารถทำใช้ในบ้าน หรือจำหน่ายในชุมชน ซึ่งอายุในการเก็บรักษา 1 สัปดาห์ การเรียนวิชานี้ทำให้เรียนรู้ปัญหาจริง ลงพื้นที่เก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ ฝึกการทำงานเป็นทีม