ศรแดง แนะเทคนิคปลูกพืชน้ำน้อย สู้ภัยแล้ง ปลูก 1 ไร่ รายได้เกินหมื่น ในเวลา 20-90 วัน

“น้ำ คือชีวิต” น้ำ เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเกษตร ปีไหนน้ำดี เพาะปลูกพืชได้มาก ขายได้ราคาดี เศรษฐกิจก็เฟื่องฟูไปด้วย หากปีไหนเผชิญวิกฤตภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ปีนั้นเศรษฐกิจก็ฝืดเคืองตามไปด้วย

ปี 2563 เอลนิโญกลับมาเยือนเมืองไทยอีกรอบ ส่อเค้าภัยแล้งปีนี้อาจลากยาวไปถึงกลางปี หลายคนห่วงกังวลว่า ปีนี้น้ำน้อย แล้งแบบนี้ จะปลูกอะไรดี บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ตราศรแดง ผู้นำอันดับ 1 ด้านเมล็ดพันธุ์ผัก ได้นำเสนอไอเดีย “ปลูกพืชน้ำน้อย 7 ชนิด” เป็นทางเลือกใหม่สู้วิกฤตภัยแล้งในปีนี้ เพราะข้อดีของพืชกลุ่มนี้คือ ใช้น้ำน้อย อายุเก็บเกี่ยวสั้น แถมขายได้ราคาอีกต่างหาก

เปิดตัวโครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ ในช่วงภัยแล้ง”

ระบบน้ำสำหรับพืชน้ำน้อย

เมื่อน้ำมีน้อย ก็จำเป็นต้องใช้สอยอย่างประหยัด ศรแดง แนะนำ 2 ทางเลือก ในการลงทุนทำระบบน้ำ ได้แก่

1. ระบบมินิสปริงเกลอร์ เหมาะสำหรับปลูกพืชสวน ไม้ดอก และแปลงผัก แรงดันน้ำ ประมาณ 10-20 เมตร อัตราการไหลของหัวปล่อยน้ำ 20-300 ลิตร ต่อชั่วโมง ระบบนี้ใช้แรงดันน้ำ “ปานกลาง” และมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้อยกว่าระบบสปริงเกลอร์

2. ระบบน้ำหยด เหมาะสำหรับพืชผักล้มลุก เช่น แตงกวา แฟง ฯลฯ แรงดันน้ำ ประมาณ 5-10 เมตร อัตราการไหลของหัวปล่อยน้ำ 2-8 ลิตร ต่อชั่วโมง ระบบนี้ใช้แรงดันน้ำ “ค่อนข้างต่ำ” มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้อยที่สุด เรียกว่า ระบบน้ำหยดเหมาะสำหรับปลูกพืชน้ำน้อยมากที่สุด โดยทั่วไป พื้นที่ 1 ไร่ มีต้นทุนในการวางระบบน้ำหยด ประมาณ 3,250 บาท

ต้นทุนค่าใช้จ่ายของระบบน้ำหยด

คู่มือทำระบบน้ำหยด

ระบบน้ำหยด เป็นการให้น้ำอย่างช้าๆ  ลงไปในดินจากท่อพลาสติกที่มีลิ้นกั้น “โดยหยดน้ำน้อย แต่พืชได้มาก” ข้อดีของระบบน้ำหยด คือใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพถึง 90% ลดความเครียดที่จะทำให้เกิดโรคพืช ลดการกัดกร่อนของหน้าดิน ลดการชะล้างของปุ๋ย ที่สำคัญคือ ลดการจ้างแรงงาน ปัญหาที่พบของระบบน้ำหยดคือ ต้นทุนเริ่มแรกสูง ต้องมีการบำรุงรักษา ต้องใช้น้ำที่มีคุณภาพสูงและต้องมีทักษะในการใช้งาน

ศรแดง แนะนำเทคนิคการวางผังแปลงและติดตั้งระบบน้ำหยด (ให้น้ำโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงเล็กน้อย) เริ่มจากเตรียมแปลงโดยการยกแปลง (ยาว 15-20 เมตร) เตรียมโครงสร้างหลัก (สูง 1-2 เมตร) สำหรับถังเก็บน้ำ ติดตั้งหัวจ่ายและติดตั้งกรอง ต่อท่อหลัก วางสายน้ำหยดและล็อกสายน้ำหยด

เมื่อมีการใช้งานระบบน้ำหยด ในดินที่มีความหนาแน่นมาก (ประเภทดินเหนียว) อุ้มน้ำได้ดี ใช้เวลาให้น้ำนานกว่าและความถี่ในการให้น้ำน้อยกว่า สำหรับดินที่มีความหนาแน่นน้อย (ประเภทดินทราย) อุ้มน้ำได้ไม่ดีนัก ใช้เวลาให้น้ำน้อยกว่า แต่ความถี่ในการให้น้ำมากกว่า ควรวางสายน้ำหยดไว้ใกล้ๆ แถวที่ปลูกพืช หากปลูกพืชตระกูลแตงหรือผักลูก สายน้ำหยดไม่ควรยาวเกิน 50 เมตร เพราะน้ำต้นสายถึงปลายสายจะไม่เท่ากัน ควรหงายรูน้ำหยดขึ้น เพื่อป้องกันตะกอนค้างสาย ทำให้รูหยดตัน ควรทำความสะอาดตัวกรองและตรวจสอบการไหลและการหยดของน้ำ อย่างน้อย 1ครั้ง ต่อสัปดาห์ ตรวจแรงดันปลายสาย (8-15 PSI) และล้างภายในสายน้ำหยด อย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อเดือน

การวางผังแปลงน้ำหยด

เตรียมแปลงดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

ศรแดง แนะนำให้เกษตรกรที่สนใจปลูกพืชน้ำน้อยเตรียมดิน โดยใช้วิธีการไถดะและไถพรวน (2-3 ครั้ง) เตรียมแปลงโดยการยกแปลงผสมปุ๋ยรองพื้นและปุ๋ยคอก รดน้ำให้ชุ่ม ยกระบบแปลงให้พอเหมาะ ย่อยดินก้อนให้มีขนาดเล็กลงหรือนำออกจากแปลง เพื่อป้องกันการกักเก็บลมร้อน หากเตรียมดินดี การคลุมแปลงจะสามารถอยู่ได้นานต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ฤดูกาลปลูก

ภาพการเตรียมดิน

นอกจากนี้ ศรแดง ยังแนะนำให้คลุมแปลงด้วยหญ้าหรือฟางข้าวและรดน้ำให้พอมีความชื้น ก่อนเจาะหลุมปลูกต้นกล้า วิธีนี้จะช่วยให้ดินมีความเย็นในฤดูร้อน รักษาความชื้นในดิน ป้องกันความเสียหายที่เกิดจากฝน ลดการสูญเสียปุ๋ย ลดวัชพืช ปรับปรุงโครงสร้างดิน ลดการอัดแน่นของดิน ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ผลผลิตไม่สัมผัสกับพื้นดิน ปัญหาที่อาจพบได้คือ ในที่ที่มีความชื้นสูง หากฟางใกล้โคนต้นมากไป อาจทำให้เกิดโรคเน่าได้ อาจเป็นที่สนใจของสัตว์ศัตรูพืช เช่น หมู และไก่ เสี่ยงต่อการเกิดโรคและนำแมลงพาหะ

การวางพลาสติกคลุมแปลง
คลุมแปลงปลูกด้วยหญ้าหรือฟางข้าว

การวางพลาสติกคลุมแปลง ศรแดง แนะนำให้เกษตรกรหงายด้านสีเงินขึ้นด้านบน ขึงแผ่นพลาสติกให้ตึง โดยแนบกับแปลงมากที่สุด ยึดพลาสติกโดยตอกไม้ไผ่หรือเหล็กตัวยูคว่ำ วัดระยะห่าง ก่อนเจาะหลุมเพื่อให้พร้อมย้ายปลูกในวันถัดไป วางฟางรอบๆ หลุมปลูก เพื่อไม่ให้ความร้อนผ่านพืชโดยตรง ข้อดีของการวางพลาสติกคลุมแปลงคือ ป้องกันความเสียหายจากปัญหาฝนตกชุก ลดการอัดแน่นของดิน ช่วยรักษาความชื้นในดิน ลดการขังของน้ำ ลดการชะล้างของปุ๋ย ลดการกัดเซาะดิน สามารถใช้งานปลูกพืชได้ 3 ฤดูกาล แต่ข้อด้อยคือ ลงทุนสูงในครั้งแรก อาจพบปัญหาของเชื้อราหรือแบคทีเรียอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว

7 พืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่สร้างรายได้ในช่วงหน้าแล้ง

7 พืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ สู้ภัยแล้ง

โครงการ “ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ ในช่วงภัยแล้ง” ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชน้ำน้อย จำนวน 7 ชนิดได้แก่

  1. ข้าวโพดข้าวเหนียว พันธุ์สวีทไวโอเล็ท และ ข้าวโพดหวาน พันธุ์จัมโบ้สวีท เคลือบเมล็ดด้วยสารเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้มีรากฝอยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นข้าวโพดหาอาหาร หาน้ำ ได้ดีกว่าพันธุ์การค้าอื่นๆ อัตราการใช้น้ำ 438 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ อายุพืช 64-68 วัน ขาย 16,000-17,000 บาท ต่อไร่ กำไรสุทธิ ไร่ละ 13,200 บาท
  2.   ฟักทอง พันธุ์ข้าวตอก 573 และพันธุ์ประกายเพชร อัตราการใช้น้ำ 616 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ อายุพืช 75-90 วัน ขาย 24,000 บาท ต่อไร่ กำไรสุทธิ ไร่ละ 22,460 บาท
  3.  ถั่วฝักยาว พันธุ์ลำน้ำชี และพันธุ์ลำน้ำพอง อัตราการใช้น้ำ 458 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ อายุพืช 55-60 วัน ขาย 60,000 บาท ต่อไร่ กำไรสุทธิ ไร่ละ 54,950 บาท
  4.   แฟง พันธุ์สะพายเพชร อัตราการใช้น้ำ 551 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ อายุพืช 60-65 วัน ขาย 40,000 บาท ต่อไร่ กำไรสุทธิ ไร่ละ 36,300 บาท
  5.  แตงกวา พันธุ์ธันเดอร์กรีน อัตราการใช้น้ำ 660 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ อายุพืช 30-32 วัน ขาย 39,000 บาท ต่อไร่ กำไรสุทธิ ไร่ละ 34,450 บาท
  6.  ผักบุ้ง พันธุ์ยอดไผ่ 9 อัตราการใช้น้ำ 300 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ อายุพืช 21 วัน ขาย 43,200 บาท ต่อไร่ กำไรสุทธิ ไร่ละ 36,400 บาท
  7.  พริกขี้หนู พันธุ์เพชรมงกุฎ เป็นสายพันธุ์พริกที่พัฒนาให้มีความทนแล้งโดยเฉพาะ ผลผลิตได้คุณภาพดีแม้อยู่ในสภาพอากาศแล้ง ที่สำคัญใช้น้ำน้อย แค่ 758 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ อายุพืช 150 วัน ขาย 105,000 บาท ต่อไร่ กำไรสุทธิ ไร่ละ 62,150 บาท
เปรียบเทียบผลตอบแทนปลูกพืชน้ำน้อยทั้ง 7 ชนิด

ไม่ต้องห่วงว่า ปลูกแล้วจะขายที่ไหน  เพราะศรแดงรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านตลาดตลอดเวลา ทุกวันนี้ ศรแดง มีเครือข่ายการค้ากับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายพืชผักทั้ง 7 ชนิด อยู่แล้ว พร้อมประสานการขายผลผลิตให้แก่เกษตรกรทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ศรแดงยังมีเครือข่ายพันธมิตร 3 กลุ่ม อยู่ในเฟซบุ๊ก ได้แก่ กลุ่มปลูกแตง มะระ บวบ ศรแดงกลุ่มปลูกข้าวโพดศรแดง และกลุ่มปลูกพริกศรแดง ซึ่งเป็นศูนย์รวมพ่อค้าแม่ค้าผู้รับซื้อผลผลิต ใช้เป็นเวทีถกปัญหาเรื่องการเพาะปลูกและการตลาด เกษตรกรสามารถนำผลผลิตตัวเองไปโพสต์ขายในเครือข่ายพันธมิตรเหล่านี้ได้โดยตรง หรือมีปัญหาเรื่องการปลูก ก็สามารถขอคำปรึกษาจากเครือข่ายเหล่านี้ได้เช่นกัน

ปัจจุบัน ศรแดง มีพนักงานภาคสนามอยู่ทั่วประเทศ ที่พร้อมให้ความรู้ด้านการปลูกและการตลาดสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ได้ หากใครสนใจเข้าร่วมปลูกพืชน้ำน้อยกับศรแดง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด โทร. 02-831-7777 เฟซบุ๊กเพจ เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง Line: @sorndaengseed หรือที่ www.eastwestseed.com