เกษตรฯเฝ้าระวังตั๊กแตนไผ่ระบาดหลังพบกระจายที่ลาว

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการเฝ้าระวังการระบาด “ตั๊กแตนไผ่” (Yellow-spined bamboo locust) : Ceracris kiangsu ซึ่งเป็นตั๊กแตนที่สร้างความเสียหายให้แก่พืชเกษตร อาทิ พืชตระกูลไผ่ พืชตระกูลหญ้า พืชตระกูลปาล์ม ข้าว และข้าวโพด ซึ่งขณะนี้พบการระบาดอยู่ที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งห่างจากไทยประมาณ 114 กม. โดยลักษณะการแพร่กระจายของตั๊กแตนไผ่ จะพบในบริเวณพื้นที่ป่าไผ่ทางตอนใต้ของจีนที่ระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเล 300-400 ม. จนถึง 780 ม. มีการวางไข่จำนวนมากใต้ผิวดิน ไข่ฟักในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง หรืออุณหภูมิสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส

โดยตัวเต็มวัยจะอาศัยในพื้นที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น และสร้างความเสียหายได้กว้างขวางและรุนแรง ส่วนพืชที่มักกัดกินเป็นอาหาร ได้แก่ พืชกลุ่มไผ่ พืชในตระกูลหญ้า พืชตระกูลปาล์ม และพืชล้มลุกบางชนิด มีวงจรชีวิตแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะวางไข่ใต้ผิวดิน ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ระยะตัวอ่อน(46-69 วัน) ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ระยะตัวเต็มวัย (40 วัน) ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และระยะไข่ ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า สำหรับแนวทางการป้องกันการระบาดของตั๊กแตนไผ่ ทางกรมได้เตรียมแนวทางการดำเนินการป้องกันเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1.การเฝ้าระวัง โดยเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงซึ่งเป็นจังหวัดแนวชายแดน สปป.ลาว ในภูมิอากาศและพืชอาหารเหมาะสม อาทิ จังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน 2.วิธีการป้องกัน โดยการติดตั้งกับดักตลอดแนวพื้นที่เสี่ยงในพืชเป้าหมาย อาทิ ข้าวโพด ข้าวไร่ และไผ่ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างจำแนกในห้องปฏิบัติการ และ 3.ระยะเวลาดำเนินการ โดยดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นระยะตัวเต็มวัยของตั๊กแตนไผ่ 4.ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง 5.เตรียมการรองรับหากเกิดการแพร่ระบาด และ 6.ติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของศัตรูพืชอันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

“กระทรวงได้เฝ้าระวัง และพยายามยับยั้งไม่ให้ตั๊กแตนไผ่เข้ามายังไทย โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดที่มีความเสี่ยง เช่น จังหวัดน่าน พะเยา และเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดมาก หากสังเกตทิศทางจะพบว่า ตั๊กแตนไผ่จะมาตามลมที่พัดมาจากทางตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ไทย จึงต้องป้องกันล่วงหน้าโดยการติดตั้งกับดักตลอดแนวพื้นที่เสี่ยงในพืชเป้าหมาย ตลอดทั้งเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ รวมทั้งให้ความร่วมมือด้านข้อมูลทางวิชาการกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) และ สปป.ลาว ในการป้องการระบาด โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นระยะตัวเต็มวัย ทั้งนี้ หากประชาชนพบลักษณะที่คล้ายตั๊กแตนไผ่ ขอความร่วมมือให้รีบแจ้งมายังเกษตรอำเภอในพื้นที่ ศูนย์วิจัยพืชผลของกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ด้วย” นายสมชายกล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์