สวทช. อว. เผยความก้าวหน้าผลงานแอปพลิเคชั่น DDC-Care และ Traffy Fondue สู้ภัยไวรัสโควิด-19

(1 เมษายน 2563) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาแพลตฟอร์ม DDC-Care: ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ COVID-19 และ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) แอปพลิเคชั่นแจ้งและติดตามปัญหาเมือง โดยมี ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมด้วยทีมนักวิจัยจาก สวทช. ได้แก่ ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. และ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ร่วมสาธิตและเผยแพร่ผลงาน

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญกับภาวะการระบาดที่อาจจะยืดเยื้อยาว และร่วมวางแผนรับมือในระยะยาว เพื่อลดความตื่นตระหนกของคนในสังคม สร้างความเชื่อมั่น และเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านการแพทย์ทั้งในส่วนของการติดตามและตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วน ในขณะนี้ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดังนี้ คือ

– แอปพลิเคชั่น DDC-Care: ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ COVID-19 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 สวทช. ร่วมกับกรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น DDC-Care โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะต้องกักตัวเองอยู่ภายในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งกรมควบคุมโรคจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพที่ได้จากระบบ เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการ ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มาตรวจที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลพิจารณาว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง จะได้รับคำแนะนำให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่น DDC-Care ขณะที่กลุ่มที่ 2 คือผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามาตรวจและผลตรวจออกเป็น Positive กลุ่มผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องได้รับการติดตั้งแอปพลิเคชั่น DDC-Care ด้วย ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่นนี้ กรมควบคุมโรคได้ทดสอบกับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วที่สถาบันบำราศนราดูร โดยเจ้าหน้าที่ของกรมจะทำการส่งลิงก์ผ่านทาง SMS ซึ่งจะต้องมีการสมัครและ Log in เข้าไปใช้งาน กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะต้องรายงานสุขภาพให้กับกรมได้ทราบในทุกวัน ปัจจุบันได้ทดลองกับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงฯ จำนวน 173 ราย และมีผู้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นแล้ว 20 คน สำหรับการที่มีผู้ติดตั้งน้อยนี้ เนื่องจากเพิ่งเริ่มใช้งานจริงวันที่ 31 มีนาคม 2563

ในส่วนของการแสดงผลข้อมูลประกอบด้วย 2 มิติ คือ มิติแรกในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค จะสามารถติดตามการรายงานสุขภาพของผู้ที่มีความเสี่ยงฯ สถานภาพการกักตัวในที่พักอาศัย หากออกไปนอกพื้นที่จะสามารถติดตามการเดินทางและติดต่อผู้ที่มีความเสี่ยงได้ การนำเสนอข้อมูลผู้ที่มีความเสี่ยงฯ มี 4 ระดับ ได้แก่ ประเทศ เขต จังหวัด และโรงพยาบาล โดยขึ้นกับสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลของเจ้าหน้าที่ และอีกมิติหนึ่งคือ สำหรับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงฯ จะเป็นผู้ให้ข้อมูล มีแบบประเมินสุขภาพ เมื่อทำแบบประเมินทุกวัน จะมีผลการประเมินตอบกลับว่ามีอัตราความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากเพิ่มขึ้นจะมีคำแนะนำให้โทร. มาที่กรมควบคุมโรค นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลแสดงสถานะสุขภาพเพิ่มเติมหลังจากกรอกข้อมูลสุขภาพแล้ว กรมจะมีคำแนะนำซึ่งผู้ใช้ระบบจะได้ประโยชน์ในการปฏิบัติตัวในแต่ละวัน ในส่วนของกรมแล้ว ระบบ DDC-Care จะเป็นเครื่องมือในการควบคุม ตรวจสอบผู้ที่มีความเสี่ยงฯ ให้อยู่ในพื้นที่กักตัวเอง และดูผลของข้อมูลสุขภาพ ทั้งนี้ หากมีสุขภาพแย่ลงจะได้ให้ความช่วยเหลือได้ทันที รวมถึงหากมีการแพร่ระบาดรุนแรงจะทำให้สามารถคัดแยกผู้ป่วยได้ ตลอดจนเป็นส่วนที่จะช่วยให้โรงพยาบาลได้จัดสรรเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งข้อมูลที่ได้กรอกเข้าระบบนี้จะเป็นข้อมูลความลับเท่านั้น


– Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) แอปพลิเคชั่นแจ้งและติดตามปัญหาเมือง เป็นแอปพลิเคชั่นที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสารเรื่องปัญหาของเมือง ระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบ เช่น ปัญหาความสะอาด ปัญหาทางเท้า และติดตามสถานะการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ โดยหน่วยงานจะได้รับแจ้งรายงานปัญหาที่มีข้อมูลเพียงพอต่อการดำเนินการ เช่น ภาพถ่าย ตำแหน่งบนแผนที่ และสามารถให้ข้อมูลสถานะการแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนได้ ซึ่งจากการเกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาดในเกือบทุกพื้นที่ ทีมวิจัยเนคเทค สวทช. จึงประยุกต์ใช้แอปพลิเคชั่น Traffy fondue ในแพลตฟอร์มไลน์แชทบอท ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อรายงานข้อมูลบุคคลเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดไวรัวโควิด-19 และพื้นที่กรุงเทพฯ เดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหน่วยงานผู้ใช้ข้อมูลดังกล่าวต้องการทราบว่าคนที่มีความเสี่ยงกับโรคโควิด-19 เดินทางกลับมายังภูมิลำเนามีอยู่ที่ใดของประเทศบ้าง เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ให้มีส่วนรับผิดชอบสังคมและปฏิบัติตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการระบาดด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านไลน์แชทบอทเพียงเพิ่มเพื่อน @traffyfondue หากพบคนจากพื้นที่เสี่ยงกลับภูมิลำเนา เริ่มแจ้งข้อมูลพิมพ์ (แฮทแท็ค) #โควิด ตามด้วยชื่อเล่น เพศ ส่งข้อมูลภาพลักษณะที่อยู่หมู่บ้าน ชุมชน (ไม่ต้องส่งภาพคน) และส่งคุยกับไลน์แชทบอท @traffyfondue เพื่อที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่ ตรวจสอบ สอบสวน และคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีการแจ้งเบาะแสของผู้เข้าข่ายเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงที่กลับมายังภูมิลำเนาเข้ามาในระบบแล้วจำนวนมาก เช่น จังหวัดมหาสารคาม ราชบุรี นครพนม ยโสธร หนองคาย และมีอีกหลายภูมิภาคทั่วประเทศ เป็นต้น นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค สุดท้ายนี้หากหน่วยงานใดที่ต้องการเพิ่มช่องในการรับแจ้งข้อมูล หรือเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ผ่านแชทบอทที่มาพร้อมระบบ AI ในการคัดแยกปัญหา ระบบบริหารจัดการสถานะ สามารถติดต่อทีมวิจัยได้ที่เบอร์โทรศัพท์ (086) 901-6124 (วสันต์) หรือ ID Line: joopbu และสามารถดาวน์โหลดได้ที่ QR Code