มอสส์ พืชเล็กๆ ทำรายได้ดี ที่สวนมอสฮ่อมดอย

มอสส์ นับเป็นพืชชนิดเดียวกับต้นหญ้าที่มีขนาดเล็ก ชอบขึ้นในที่ชื้นอากาศเย็น มีหลากหลายสายพันธุ์ สังเกตได้จากการที่เราพบอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง เช่น พบขึ้นอยู่กับต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่สูงบนดอยอินทนนท์ หรือภูเขาสูงทั่วไป หรือพบมอสส์ขึ้นบริเวณห้องน้ำที่ชื้นๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นมอสส์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาจจะมีบ้างที่เพาะขยายพันธุ์เพื่อนำไปจัดแสดงในงาน หรือการจัดสวนถาด อย่างไรก็ตาม การเพาะขยายมอสส์เป็นการค้านั้น ยังมีอยู่น้อยและไม่กว้างขวางในเชิงธุรกิจ

คุณศุภสิษฐ์ และ คุณสุนีย์ เศรษฐนานุรักษ์ สองสามีภรรยาที่เคยรับราชการอยู่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข แต่มีความชื่นชอบการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพส่วนตัว เริ่มจากการผลิตผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติและการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายที่มีชื่อเสียงของอำเภอจอมทอง ต่อมาเกิดอาการแพ้เศษและขนของปุยฝ้าย จึงคิดริเริ่มอาชีพใหม่ ขณะนั้นมีพรรคพวกเป็นชาวญี่ปุ่นได้นำต้นมอสส์ที่เป็นพันธุ์ของประเทศญี่ปุ่นมาให้ทดลองปลูก ราคาต้นมอสส์ในขณะนั้น ประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อส่งกลับไปขายประเทศญี่ปุ่น จากการที่ไม่เคยเรียนหรือมีความรู้ด้านการเกษตรเลย จำเป็นจำใจต้องศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง จนเพาะขยายมอสส์เป็นผลสำเร็จ ส่งมอสส์และผลิตภัณฑ์จากมอสส์ไปขายญี่ปุ่นหลายรูปแบบ ในขณะเดียวกัน ได้เก็บรวบรวมสายพันธุ์มอสส์จากแหล่งต่างๆ ในประเทศไทยมาทดลองปลูกพร้อมกันด้วย และพบว่ามอสส์ที่หาได้จากป่าไม้ของไทยจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า ทนทานต่อสภาพอากาศในบ้านเรา ดีกว่ามอสส์ของญี่ปุ่น แต่ด้วยสาเหตุที่ไม่เคยศึกษาหรือมีความรู้เรื่องมอสส์มาก่อน จึงเรียกมอสส์ที่เพาะขยายควบคู่กับมอสส์ญี่ปุ่นนี้ว่า มอสส์ไทย ประกอบกับในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา หุ้นส่วนชาวญี่ปุ่นที่ร่วมประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายมอสส์ยกเลิกกิจการ จึงได้หันมาเพาะเลี้ยงมอสส์ด้วยตนเองภายในครอบครัว

คุณสุนีย์ เล่าว่า การขยายพันธุ์มอสส์จะใช้วิธีขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ วิธีนี้ขยายพันธุ์ได้ช้า ต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี แต่จะได้ต้นมอสส์ที่สวยงามและขึ้นทีละน้อยตามธรรมชาติ การเก็บสปอร์จะเก็บในช่วงที่มอสส์เริ่มมีดอกและจะเก็บสปอร์ในช่วงฤดูหนาว แต่หากทำเพื่อการค้าจึงใช้วิธีขยายด้วยการแยกต้น จะใช้เวลาเพียง 6 เดือน โดยเริ่มจากต้นมอสส์ที่ใช้ประดับกระถางหรือเศษที่เหลือจากการทำผลิตภัณฑ์จากมอสส์ นำไปปลูกเป็นแปลงโดยใช้แผ่นผ้ารองพื้นไม่ให้ถูกดิน ใช้น้ำอัดฉีดเพื่อให้เซลล์ของมอสส์แตกตัว กระจายเส้นใยออกไปด้านข้าง จากนั้นจะรดน้ำในระบบพ่นฝอยหมอกทุกเช้าเย็น ใช้เวลา 6 เดือน จึงลอกออกเป็นแผ่น นำไปทำเป็นลูกบอลลูนที่หุ้มด้วยมอสส์ ใช้ตะกั่วถ่วงให้บอลลูนจมน้ำและลอยบนผิวน้ำเล็กน้อย นำไปใช้กับตู้ปลา ราคาขายส่ง ลูกละ 90 บาท ผลิตภัณฑ์บ้านปลาที่ใช้กะลามะพร้าวตัดเป็นรูปทรง ใช้มอสส์หุ้มด้านบ้านกะลา นำไปวางในตู้ปลา ดูแล้วสวยงาม ราคาขายส่ง ชิ้นละ 200 บาท ผู้ซื้อบางรายซื้อเป็นแผ่นเพื่อนำไปจัดสวนถาด ขายตารางเมตรละ 1,200-1,500 บาท แบบนี้นิยมใช้มอสส์ไทยมากกว่ามอสส์ญี่ปุ่น

วิธีการปฏิบัติดูแลรักษามอสส์

มอสส์ เป็นพืชที่ปลูกง่ายแต่ดูแลรักษายาก พื้นที่ปลูกจะต้องไม่มีกระแสลมพัด โดยรอบโรงเรือนควรปลูกต้นไม้หรือไม้พุ่มทรงเตี้ยป้องกันลม โรงเรือนจะต้องควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม การใส่ปุ๋ยควรใช้ปุ๋ยกล้วยไม้แบบเจือจางเท่านั้น ไม่มีศัตรูพืชรบกวน จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ หอย ควรใช้ยากำจัดหอยวางไว้รอบๆ เรือนเพาะชำเท่านั้น หากพบมอสส์เกิดเชื้อราแห้งตาย จะต้องรีบแยกออกจากกลุ่ม แล้วทำลายก่อนที่เชื้อราจะขยายไปถึงแปลงอื่น ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความชื้นตลอดเวลา ช่วงที่ร้อนจัดต้องเพิ่มการพ่นหมอกให้มากขึ้น นอกเหนือจากการพ่นด้วยระบบสปริงเกลอร์ มีการตรวจสอบน้ำด้วย คือน้ำจะต้องไม่มีหินปูนหรือสนิมเหล็ก มอสส์ที่ทำเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องตรวจสอบให้ละเอียด คือ ไม่มีวัชพืช เศษดิน แมลงศัตรูพืช เนื่องจากการส่งต่างประเทศจะต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

การจัดการและการตลาด

คุณสุนีย์ เล่าต่อว่า การปลูกมอสส์จะช่วยลดภาวะโลกร้อนลงได้ ประมาณ 2-3 องศาเซลเซียส ช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ มีตลาดต้องการมากและต้องการใช้ตลอดทั้งปี เกษตรกรผู้ปลูกมอสส์ยังมีน้อยราย แต่ตนเองชอบทำงานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตามแต่กำลังที่ทำได้ จึงไม่คิดที่จะขยายให้เป็นฟาร์มใหญ่ ทำอย่างไร จึงจะมีผลผลิตมอสส์ออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี จึงใช้วิธีวางแผนการผลิตเป็นรุ่นๆ หมุนเวียนกันไปตามที่ตลาดสั่งซื้อ

ปัจจุบันนี้ ผู้ที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์มอสส์ ส่งไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกา แต่เป็นการส่งไปพร้อมกับพืชอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชน้ำที่ใช้ในตู้ปลา ผลิตภัณฑ์จะต้องบรรจุเรียบร้อย มีฟองน้ำเพื่อให้มอสส์มีความชื้นตลอดเวลาการขนส่ง ส่งถึงสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น หลังจากนั้น ผู้ที่สั่งซื้อจะดำเนินการส่งต่างประเทศเอง

 …………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อ