ตื่นตัวปลูกพืชอายุสั้น สู้วิกฤตน้ำน้อย เพื่อเงินแสน

พืชทุกชนิดที่ปลูกจำเป็นต้องได้รับน้ำใช้อย่างพอเพียงจึงจะทำให้งอกงามเจริญเติบโตสมบูรณ์ แต่เมื่อปี 2562 ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยฝนตกน้อยมาก ทำให้เขื่อน อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำหรือลำคลอง มีปริมาณน้ำน้อยตามไปด้วย กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้วางมาตรการ/โครงการช่วยเหลือเกษตรกรฤดูแล้ง ปี 2562/63 โดยให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยที่ได้ผลตอบแทนดีกว่า หรือแปรรูปผลผลิตเกษตร ทำงานหัตถกรรม หรือทำงานวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นการยกระดับรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง

คุณทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2562 ประเทศไทยเกือบทุกพื้นที่มีฝนตกน้อยมาก ทำให้แหล่งกักเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำลดลงไปกว่าปีที่ผ่านมา แม่น้ำหรือลำคลองบางแห่งปริมาณน้ำก็แห้งขอด ส่งผลกระทบต่อการผลิตการเกษตรในหลายด้าน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้วางมาตรการ/โครงการช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ฤดูแล้ง ปี 2562/63 ไว้ 8 มาตรการ ดังนี้

  1. การเฝ้าระวังน้ำเค็มรุก 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ราชบุรี กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และฉะเชิงเทรา ดำเนินการช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 ลักษณะโครงการเป็นการสำรวจพื้นที่เสี่ยง แจ้งเตือนข่าวสารสถานการณ์แล้งขาดแคลนน้ำ เยี่ยมเยียน ติดตามให้คำแนะนำทางวิชาการในการดูแลรักษาสวน การให้น้ำ ลดการใช้ปุ๋ย เพื่อป้องกันความเค็มที่จะสร้างความเสียหายแก่พืช แนะนำเกษตรกรให้รักษาความชื้นในแปลง เช่น ลอกดินเลนในร่องสวนมาปิดบนแปลงหรือโคนต้น การใช้วัสดุคลุมดินรักษาความชื้นเพื่อช่วยประหยัดน้ำ หรือทำการตัดแต่งกิ่ง
  2. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้เกษตรกรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ดำเนินการเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 พื้นที่ 77 จังหวัด เป็นการสร้างการรับรู้ทุกด้านเพื่อรับมือกับภัยแล้ง ด้วยการจัดทำสื่อบอกสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง สร้างการรับรู้ในการช่วยเหลือต่างๆ ของโครงการรัฐ วิธีปรับตัวการดูแลรักษาพืชช่วงฤดูแล้ง การสำรองน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัด ระวังป้องกันสถานการณ์น้ำเค็มหรือปฏิบัติตามแผน การนำเสนอกรณีเกษตรกรตัวอย่างในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับภัยแล้ง หรือเผยแพร่ข้อมูลวิชาการผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐ รวมทั้งการปฏิบัติตามสถานการณ์แล้ง
  3. โครงการบูรณาการกิจกรรมและความร่วมมือในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานเพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้แก่เกษตรกร ดำเนินการช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 พื้นที่ 77 จังหวัด ลักษณะโครงการเป็นการบูรณาการโครงการ/กิจกรรม ปี 2563 ในรูปแบบการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่จากงบประมาณปกติ หรืองบประมาณในพื้นที่ที่มาสนับสนุนให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้ช่วงฤดูแล้ง เช่น การหัตถกรรม แปรรูปผลผลิตเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน ให้ความรู้การปรับตัวในภาวะแล้งและพิจารณาต่อยอดโครงการตามความต้องการของชุมชนเดิม โดยดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ดังนี้

    หอมแดงพืชเศรษฐกิจปลูกใช้น้ำน้อยหลังเก็บเกี่ยวข้าวเป็นรายได้หมุนเวียน

– พื้นที่พืชฤดูแล้งที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทาน 20 จังหวัด 54 อำเภอ 109 ตำบล

– พื้นที่ไม้ผลนอกเขตชลประทานที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 30 จังหวัด 207 อำเภอ 1,068 ตำบล

– และพื้นที่อื่นๆ

ได้แจ้งเตือนเกษตรกรให้ทราบสถานการณ์ ติดตามเยี่ยมเยียน สร้างการรับรู้ และแนะนำข้อควรปฏิบัติ

– พื้นที่พืชฤดูแล้งที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 20 จังหวัดและพื้นที่อื่นๆ ไม่ปลูกพืชฤดูแล้งเกินแผน ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า

– พื้นที่ไม้ผลเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 30 จังหวัด ให้คำแนะนำการดูแลรักษาสวนไม้ผล เช่น การใช้วิธีเขตกรรม ประสานการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่จะให้การสนับสนุนแหล่งน้ำ

  1. 4. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี ..ดำเนินการเดือนพฤศจิกายน 2562-พฤษภาคม 2563 พื้นที่ 24 จังหวัด ได้ส่งเสริมและขยายผลพื้นที่การปลูกพืชหลากหลายและใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งทดแทนการทำนาปรัง และเชื่อมโยงกับระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ สนับสนุนการเชื่อมโยงตลาด จัดทำแปลงเรียนรู้ พัฒนาความรู้จากเจ้าหน้าที่และเกษตรกร
  2. 5. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (แผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562) พื้นที่ 39 จังหวัด ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัย และดำเนินการในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ได้สนับสนุนเป็นเงินเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ ซึ่ง ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรสำหรับการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ดังนี้

    ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พืชอายุสั้นเพื่อตัดเป็นต้นสดไปเลี้ยงวัวควาย

– ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เกษตรกร 100,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 245 บาท

– ถั่วเขียว ให้เกษตรกร 50,000 ครัวเรือน พื้นที่ 0.4 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 200 บาท

  1. 6. โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูทำนา ปี 2562/63 ดำเนินการเดือนธันวาคม 2562-พฤษภาคม 2563 พื้นที่ 27 จังหวัด ลักษณะโครงการเป็นการส่งเสริมความรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนาอย่างถูกต้องให้กับเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 เชื่อมโยงการตลาดเครือข่ายผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาให้เกิดการกระจายการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูแล้งเพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
  2. 7. การถ่ายทอดความรู้และการจัดวันสาธิตในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ดำเนินการเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 พื้นที่ 77 จังหวัด จัดเป็นวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) ให้กับเกษตรกรในพื้นที่แล้งทั่วประเทศ 882 ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้วยการปรับหลักสูตร เพิ่มเนื้อหาองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า การดูแลรักษาพืชด้วยวิธีเขตกรรม การทำอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ในช่วงฤดูแล้ง เช่น การแปรรูป ถนอมอาหารหรือหัตถกรรม การปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมวันสาธิตเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้ง
  3. 8. โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ดำเนินการเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 พื้นที่ 77 จังหวัด เป็นการนำวิชาการจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปบริการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยหน่วยงานจัดเจ้าหน้าที่ องค์ความรู้ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์เข้าไปบริการในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์นัดหมายเกษตรกรให้มารับบริการ โดยเน้นหนักการรับมือกับสถานการณ์แล้ง แจ้งสถานการณ์และวิธีการปรับตัว รวมทั้งความช่วยเหลือ เช่น เทคนิคการใช้น้ำอย่างประหยัด ช่องทางรับการช่วยเหลือเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การรักษาความชื้นในแปลงโดยการผลิตและใช้วัสดุคลุมดิน การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงฤดูแล้ง
  4. ปฏิบัติดูแลรักษาดีก็ได้ผลผลิตถั่วเหลืองคุณภาพ

คุณทวี เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และจัดทีมฝ่าวิกฤตแล้งเพื่อเป็นหน่วยเคลื่อนเร็วลงพื้นที่ ตรวจติดตาม เยี่ยมเยียน สร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำทางวิชาการในการดูแลรักษาพืชช่วงฤดูแล้ง การแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร

การที่เกษตรกรตื่นตัวปลูกพืชอายุสั้นที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อสู้วิกฤตน้ำน้อย หรือการปรับเปลี่ยนมาแปรรูปผลผลิตการเกษตร การหัตถกรรมหรือทำกิจกรรมวิสาหกิจชุมชน ก็เป็นไปตามมาตรการ/โครงการช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ฤดูแล้ง ปี 2562/63 ที่กรมส่งเสริมการเกษตร ใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เงินแสนบาทในช่วงฤดูแล้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ ในพื้นที่ก็ได้นะครับ

ปลูกพืชผักอินทรีย์เพื่อการยังชีพแบบวิถีพอเพียง
ปลูกพริกจัดการตากแห้งได้คุณภาพและบรรจุถุงส่งขายตลาด
คุณทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการถักทอตัดเย็บเสื้อผ้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น