สับปะรดทองระยอง ผ่านการรับรอง จีไอ เพิ่มมูลค่า ของคนสายสับปะรด

ในโลกของการแข่งขันทางการค้า ผู้ผลิตทุกสาขาจำเป็นที่จะต้องใช้กลยุทธ์การตลาดที่เหนือกว่าคู่แข่งเพื่อบริหารกิจการ และการผลิตสินค้า ทั้งด้านคุณภาพ ราคา รูปลักษณ์ บริการส่งมอบ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ แต่ในสนามการแข่งขันที่รุนแรงอาจมีวิธีการที่แยบยล เชิงกลเม็ดเคล็ดลับในแบบที่เรียกกันว่า เล่ห์กล มนต์คาถา แบบว่าต้องให้เหนือกว่าคู่แข่ง หรือไม่ก็ให้หมอบกันไปข้างหนึ่ง

วงการสับปะรดอาจไม่รุนแรงมากนัก แต่จากกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การยอมรับความแปลกใหม่ กระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ การปกป้องสิ่งแวดล้อม ผลผลิตแนวเกษตรอินทรีย์ สตอรี่แหล่งที่มาของผลผลิตเฉพาะท้องถิ่น ฯลฯ เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิตต้องคำนึงถึง แหล่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ (GI : geographical indications) เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่ออ้างอิง และการรับรองคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร เพื่อประชาสัมพันธ์ด้านการตลาด

ตราสัญลักษณ์ จีไอ

สับปะรดทองระยอง เป็นผลไม้ ที่ได้ผ่านการรับรอง จีไอ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นสินค้า จีไอ มีแหล่งผลิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดระยอง มีคุณลักษณะที่โดดเด่นแตกต่างจากสับปะรดพันธุ์อื่น ที่ทำให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ให้ชาวไร่สับปะรดได้อีกช่องทางหนึ่ง

 ความเป็นมา และลักษณะเด่น

สันนิษฐานว่า มีการนำสับปะรดจากภาคใต้ เข้ามาปลูกในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง นานกว่า 40-50 ปีแล้ว โดยปลูกเป็นพืชแซมสวนยางพารา เพื่อใช้บริโภคในครอบครัว ชาวบ้านเรียกสับปะรดพันธุ์นี้ว่า “สับปะรดตาหนาม” และต่อมามีการพัฒนาจนได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพและรสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จึงตั้งชื่อเพื่อเป็นเอกลักษณ์พืชประจำถิ่นปลูกว่า สับปะรด “ทองระยอง” ปัจจุบัน มีการปลูกสับปะรดพันธุ์นี้อย่างกว้างขวางในพื้นที่อำเภอเขาชะเมา วังจันทร์ บ้านค่าย และปลวกแดง รวมพื้นที่ กว่า 6,000 ไร่

ลักษณะเด่นของสับปะรดทองระยอง คือ มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย ผลละ 0.7-1.5 กิโลกรัม ตาสับปะรดนูนไม่แบน เมื่อผลสุกได้ที่แล้ว เนื้อและเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง มีกลิ่นหอม เนื้อหวานฉ่ำ เนื้อแน่น ไม่เป็นโพรง รับประทานแล้วไม่กัดลิ้น รสชาติหวานนำเปรี้ยว เนื้อกรอบ แกนกรอบ ขอบใบที่ต้นและจุกมีหนามสั้นแหลมคม รูปผลเป็นทรงกระบอก เนื่องจากสับปะรดทองระยองเป็นสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ชุมชน จังหวัดระยองจึงได้ยื่นขอจดทะเบียน “สับปะรดทองระยอง” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ความเป็นมา
คุณจณิกาญจน์ รัชภูมิพิพัฒน์

สับปะรดทองระยอง เป็นอีกทางเลือกของชาวไร่สับปะรดจังหวัดระยอง ที่มีการปลูกคู่ขนานไปกับสับปะรดปัตตาเวียที่ปลูกส่งโรงงานแปรรูป แต่สถานการณ์ด้านราคารับซื้อของโรงงานมักจะผันผวนมาก ทำให้ชาวไร่ประสบปัญหาด้านรายได้ ขณะที่ต้นทุนการผลิตนั้นสูงขึ้นมาตลอด สับปะรดทองระยองจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในสายสับปะรดผลสด ที่ตลาดมีการตอบรับเป็นอย่างดี ประกอบกับเป็นสับปะรดที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เพราะให้จำนวนหน่อมาก การดูแลรักษาง่าย ชาวไร่จึงสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าสับปะรดพันธุ์อื่น ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้เปรียบในการแข่งขันเชิงการค้า 

การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศรับรองให้สับปะรดทองระยอง เป็นผลผลิตที่ผ่านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI : Geographical Indication) มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันยื่นคำขอขึ้นทะเบียน คือ วันที่ 8 มิถุนายน 2558 ตามรายละเอียด ดังนี้

ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา

เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

สับปะรดทองระยอง

ทะเบียนเลขที่ สช 62100124

เพื่อให้การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 อาศัยอำนาจตามความ ในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สับปะรดทองระยอง คำขอเลขที่ 58100122 ทะเบียนเลขที่ สช 62100124 ซึ่งมีรายการทางทะเบียนตามบัญชีแนบท้ายประกาศฉบับนี้

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันยื่นคำขอขึ้นทะเบียน 8 มิถุนายน 2558

ประกาศ ณ วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

นายทศพล ทังสุบุตร

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

คุณเสถียร เสือขวัญ 
จัดประกวดเพื่อประชาสัมพันธ์

สับปะรดทองระยอง

(1) เลขที่คำขอ   58100122   ทะเบียนเลขที่   สช 62100124

 (2) วันที่ยื่นคำขอ   8 มิถุนายน 2558  วันที่ขึ้นทะเบียน   8 มิถุนายน 2558

 (3) ผู้ขอขึ้นทะเบียน

  1. จังหวัดระยอง
  2. สภาเกษตรกรจังหวัดระยอง

ที่อยู่

  1. ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง ถนนสุขุมวิท ตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง 21150
  2. สภาเกษตรกรจังหวัดระยอง อาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (หลังเก่า) ตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง 21000

 (4) รายการสินค้า สับปะรด 

(5) คุณภาพ ชื่อเสียง คุณสมบัติหรือคุณลักษณะเฉพาะของสินค้า

คำนิยาม

สับปะรดทองระยอง (Rayong Golden Pineapple) หมายถึง สับปะรดสายพันธุ์ควีน (Queen) ซึ่งขอบใบที่ต้นและจุกมีหนามสั้นแหลมคม สีชมพูอมแดง รูปผลทรงกระบอก ตาผลใหญ่ ร่องตาตื้น เปลือกบาง เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีทองทั้งผล เนื้อสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอตลอดผล เนื้อแน่น แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติเปรี้ยวหวาน มีกลิ่นหอม รับประทานแล้วไม่กัดลิ้น ปลูกในเขตพื้นที่ของจังหวัดระยอง

เนื้อสีเหลืองทองสวยงาม
บรรจุกล่องซื้อเป็นของฝาก

ลักษณะของสินค้า

(1) พันธุ์สับปะรด : พันธุ์ควีน (Queen)

(2) ลักษณะทางกายภาพ

– รูปทรง ทรงกระบอก จุกมีหนามสั้นแหลมคม สีชมพูอมแดง

– เปลือกผล ตาผลใหญ่ ร่องตาตื้น เปลือกบาง เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีทองทั้งผล

– เนื้อ เนื้อสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอตลอดผล แน่น แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ เส้นใยอ่อนนุ่ม แกนผลกรอบ

– รสชาติ รสชาติเปรี้ยวหวาน มีกลิ่นหอม ไม่กัดลิ้น

(3) ลักษณะทางเคมี ค่าความหวานอยู่ในช่วง 16-21 องศาบริกซ์

กระบวนการผลิต

ต้นพันธุ์

ต้องเป็นหน่อพันธุ์ของสับปะรดทองระยองที่มาจากต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพในพื้นที่จากแหล่งปลูกเดิมของ 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองระยอง อำเภอแกลง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านฉาง อำเภอวังจันทร์ อำเภอเขาชะเมา และอำเภอนิคมพัฒนา ของจังหวัดระยอง

การเตรียมพื้นที่ปลูก

การเตรียมดินสำหรับการปลูกสับปะรด ต้องมีการปรับระดับให้เรียบเพราะจะทำให้น้ำไม่ท่วมขัง ไถดินให้ลึกและระเบิดดินดานทำให้เกิดการพลิกหน้าดินก่อนปลูก

การเตรียมพันธุ์

(1) การเตรียมพันธุ์ ใช้หน่อสับปะรดพันธุ์ควีน จะต้องมีการคัดขนาดให้เสมอกันในแปลงที่จะปลูกแปลงเดียวกัน จะทำให้สับปะรดเจริญเติบโตสม่ำเสมอกันทั้งแปลง และง่ายต่อการบำรุงรักษา

(2) การชุบหน่อพันธุ์ เป็นการกำจัดเพลี้ยแป้ง และป้องกันโรคยอดเน่า โดยต้องชุบหน่อพันธุ์ที่จะนำมาปลูกทุกครั้ง และหลังจากการชุบหน่อพันธุ์แล้วควรปลูกให้เสร็จภายใน 3 วัน

ระยะการปลูก

แบบแถวคู่ ระยะห่างระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวคู่ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่อง 80 เซนติเมตร ควรปลูกตั้งตรงและต้องมีความลึก 10-15 เซนติเมตร

การใส่ปุ๋ย

สัดส่วนของการใส่ปุ๋ยที่สับปะรดต้องการตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยว สูตรปุ๋ยที่แนะนำ 15-7-15, 15-5-20 และ 15-0-15 หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยหยอดปุ๋ยบริเวณกาบใบล่าง ใส่ใบที่สูงที่สุดลงมาหาโคนต้น

การเก็บเกี่ยว

(1) สับปะรดทองระยอง สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี

(2) การเก็บเกี่ยวใช้มีดตัดที่ก้านผลให้เหลือขั้วติดผลไว้ 6-10 เซนติเมตร และไม่ต้องตัดจุกออก

(3) การคัดขนาด น้ำหนัดผลพร้อมจุก

– ขนาดเล็ก น้ำหนัก 500-1,000 กรัม

– ขนาดกลาง น้ำหนัก 1,001-1,500 กรัม

– ขนาดใหญ่ น้ำหนัก 1,501-2,000 กรัม

การดูแลรักษาหลังเก็บเกี่ยว

เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกหมดแล้ต้องดำเนินการเก็บหน่อทั้งหน่อดินและหน่อข้างนอก ที่เรียกกันว่า หน่ออ้อมลูก ออกให้หมด จากนั้นใช้มีดฟันใบและต้นที่ไม่ออกผลโดยฟันด้านข้างให้เหลือโคนใบ 15-25 นิ้ว ไปตามแนวร่องปลูก ฟันเฉพาะร่องกว้างเท่านั้น ซึ่งจะทำทันทีหลังการเก็บเกี่ยว

การบรรจุหีบห่อ

(1) รายละเอียดบนฉลากหรือหีบห่อ ให้ประกอบด้วยคำว่า “สับปะรดทองระยอง” และ/หรือ “Sub-Pa-Rod-Tong-Ra-Yong” / “Rayong Golden Pineapple”

(2) ให้ระบุชื่อ และที่อยู่ผู้ผลิต/จำหน่าย วันที่ผลิต วันหมดอายุ และวิธีเก็บรักษา

โบรชัวร์
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดทองระยอง

(6) ความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดระยอง เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทย ประมาณละติจูดที่ 12 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 101 องศาตะวันออก มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบชายฝั่งที่เกิดจากการทับถมของตะกอนบริเวณแอ่งลุ่มน้ำระยอง และที่ลาดสลับเนินเขา ภูเขามีลักษณะเป็นลอนลูกคลื่นสูงต่ำสลับกันไปรวมกับพื้นที่ทิวเขา มีแม่น้ำสำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำระยอง และแม่น้ำประแสร์ เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย และดินร่วนเหนียวปนทราย ซึ่งดินเป็นกรดอ่อนๆ และระบายน้ำได้ดี มีธาตุอาหารไนโตรเจนและโพแทสเซียมสูง ตอบสนองต่อการเจริญเติบโตของสับปะรดเป็นอย่างดี

แผนที่แหล่งภูมิศาสตร์

ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดระยอง มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ลมทะเลพัดผ่านตลอดปี ซึ่งมี 3 ช่วงฤดู คือ

-ฤดูฝน มีฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคมของทุกปี มีฝนตกเฉลี่ยตลอดปี 118 วัน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 37 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 22.9 องศาเซลเซียส

– ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิของจังหวัดไม่ลดต่ำมากเหมือนภาคอื่นๆ เพราะเขตนี้อยู่ปลายมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ความหนาวเย็นจึงไม่ลดลงมาก นอกจากนี้ยังได้รับไออุ่นจากทะเล จึงทำให้จังหวัดระยองไม่หนาวเย็นมาก อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส

– ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์-ปลายเดือนเมษายน จะมีลมตะวันออกเฉียงใต้และลมเฉื่อยจากทะเลในตอนบ่ายพัดมาร่วมกับลมตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้ลมมีกำลังแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 32.6 องศาเซลเซียส

ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้สับปะรดทองระยองที่ปลูกในพื้นที่ดังกล่าวมีความแตกต่างจากสับปะรดพันธุ์ควีน (Queen) ที่ปลูกในแหล่งอื่นทั้งในด้านลักษณะรูปร่างที่เป็นทรงกระบอก ตาผลใหญ่ ร่องตาตื้น คุณภาพของเนื้อที่มีลักษณะสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอตลอดผล แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ และด้านรสชาติที่เปรี้ยวหวานลงตัว ไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอม

สับปะรดทองระยองคุณภาพดี

ประวัติความเป็นมา

สับปะรดได้มีการปลูกที่จังหวัดระยองมานานกว่า 40 ปี จากคำบอกเล่าของอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกะเฉด นายไพเราะ ฟุ้งมาก เล่าว่า ในปี พ.ศ. 2519 นายพู่ จิตพัฒนากูล ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ได้อพยพครอบครัวมาจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มาตั้งถิ่นฐานปลูกยางพาราที่บ้านหาดใหญ่-จันดี ตำบลกะเฉด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และได้นำพันธุ์สับปะรดพันธุ์ควีนมาจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อมาปลูกแซมในสวนยางพารา และเรียกว่า “สับปะรดตาหนาม” เนื่องจากขอบใบมีหนามแหลมสั้นๆ สีชมพูอมแดง โดยนำมาปลูกกันเล็กน้อยและกระจายในหมู่เครือญาติ เพื่อใช้เป็นผลไม้มงคลในเทศกาลต่างๆ งานพิธีต่างๆ และใช้ประกอบอาหารพื้นบ้านของจังหวัดระยอง จากการที่เริ่มปลูกกันในหมู่เครือญาติประกอบกับสภาพดิน และภูมิอากาศเหมาะสมทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี โดดเด่น มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย ทำให้มีการกระจายไปทุกพื้นที่ของจังหวัดระยอง สับปะรดทองระยอง จึงเป็นผลไม้รสล้ำประจำจังหวัดระยอง ที่มีความอร่อยคู่กับทุเรียนและมังคุด ดังคำขวัญประจำจังหวัดระยองนั่นเอง

(7) ขอบเขตที่ตั้งแหล่งภูมิศาสตร์

ขอบเขตพื้นที่การปลูกสับปะรดทองระยอง ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองระยอง อำเภอแกลง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านฉาง อำเภอวังจันทร์ อำเภอเขาชะเมา และอำเภอนิคมพัฒนา ของจังหวัดระยอง รายละเอียดตามแผนที่

(8) การพิสูจน์แหล่งกำเนิด

(1) สับปะรดทองระยอง จะต้องปลูกในเขตพื้นที่ที่กำหนด ตามกระบวนการผลิตข้างต้น

(2) กระบวนการผลิตจะต้องผ่านการควบคุมตรวจสอบ คือ มีการขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ปลูกสับปะรดทองระยอง รวมทั้งต้องมีเอกสารกำกับเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้

(9) เงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 15

(1) จัดให้มีการขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ผลิต/ผู้ประกอบการค้าที่ประสงค์จะขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดทองระยอง

(2) ผู้ขอขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้า จะต้องปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สับปะรดทองระยอง และดำเนินการตามแผนการควบคุมตรวจสอบทั้งกระบวนการผลิตในระดับผู้ผลิตและระดับจังหวัด

ความรู้เบื้องต้น เรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คืออะไร

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นี้ อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง (Direct Geographical Indication) กล่าวคือ เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นๆ โดยตรง เช่น ไชยา เพชรบูรณ์ เป็นต้น
  2. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม (Indirect Geographical Indication) กล่าวคือ เป็นสัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ชื่อทางภูมิศาสตร์ ซึ่งใช้เพื่อบ่งบอกแหล่งภูมิศาสตร์อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งผลิตของสินค้า เช่น สัญลักษณ์ประจำอำเภอ หรือจังหวัด รูปย่าโม รูปหอไอเฟล เป็นต้น
สับปะรดทองระยอง ที่ชนะการประกวด

 ประโยชน์ของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีดังนี้

  1. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค: เนื่องจากหากผู้บริโภคหลงผิดในสินค้า จะไม่ได้รับสินค้าตามมาตรฐานที่ต้องการจาก ฉลากหรือชื่อที่ใช้ อาจส่งผลต่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนด้วย

2.เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตและป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม: คือป้องกันผู้ประกอบธุรกิจนำชื่อเสียงของคู่แข่งขันไปแอบอ้างโดยทุจริตและอ้างแหล่งผลิตโดยมิชอบ เพื่อหาประโยชน์จากชื่อเสียงของชุมชนอื่นๆ ที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน

  1. เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้ผู้ผลิตและเป็นเครื่องมือทางการตลาด: สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สามารถเป็นสื่อให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ผลิตขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง การระบุชื่อประเทศหรือท้องถิ่นจะต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้านั้นมีลักษณะพิเศษต่างไปจากสินค้าจำพวกเดียวกันที่ผลิตขึ้นจากแหล่งอื่น ซึ่งจะส่งผลให้สินค้านั้นมีราคาสูงขึ้นหรือจำหน่ายได้มากขึ้น เช่น ไข่เค็มไชยา มีดอรัญญิก ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้ผลิตแต่ละรายอีกด้วย
  2. เพื่อให้มีการดูแลรักษามาตรฐานของสินค้า: สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเหมือนเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และแหล่งที่มาของสินค้า เนื่องจากเงื่อนไขหนึ่งของการขอรับความคุ้มครองในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผู้ขอจะต้องแสดงให้เห็นถึง ความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่และตัวสินค้า ทั้งในแง่คุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะใดๆ เช่น วิธีการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ เป็นต้น ซึ่ง ส่งผลถึงคุณภาพเฉพาะของสินค้าจากแหล่งนั้น กลุ่มผู้ผลิตจึงต้องมีส่วนอย่างมากในการช่วยกันรักษาคุณภาพหรือชื่อเสียงนั้นๆ ไว้
  3. เพื่อช่วยกระจายรายได้สู่ชนบทและส่งเสริมอุตสาหกรรม: สินค้าที่ขอขึ้นทะเบียนโดยมากเป็นสินค้าเกษตร เพื่อปัจจัยด้านสภาพดินฟ้าอากาศหรือสภาพพื้นที่จะส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพของสินค้า การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จึงเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นโดยตรง และเป็นการนำเอาชื่อเสียงที่มีมานานมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า
  4. เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและรักภูมิปัญญาท้องถิ่น: ประโยชน์ทางอ้อมของการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ คือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มชนในท้องถิ่นที่ต้องร่วมกันพัฒนาคุณภาพสินค้าของตน สร้างความผูกพันและความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด อันเป็นการสร้างคุณค่าให้กับท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาแรงงานชนบทอพยพเข้าสู่เมืองอีกด้วย

 

ที่มา:

– กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

– สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร

…………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ.2563