การบูร ไม้หอมที่น่าจับตามอง

ชื่อสามัญ การบูร Camphor, Gum camphor

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora

วงศ์
LAURACEAE                                                                                                                        

ปีนี้อากาศบ้านเราแปรปรวนมากเป็นประวัติการณ์ ไม้น้อยใหญ่พากันแตกยอดอ่อนทั่วทั้งป่า ต้นการบูรที่บ้านผู้เขียนก็แตกยอดอ่อนสะพรั่งตาเหมือนไม้อื่นๆ เพราะฝุ่นละอองด้วยหรือไม่ ก็ไม่อาจจะคาดเดา

การบูร อยู่ในสกุลอบเชย เนื้อไม้มีสีน้ำตาลปนแดง เมื่อนำมากลั่นแล้ว จะได้ “การบูร” ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่ราก และโคนต้น ที่ผู้เขียนสนับสนุนการปลูกการบูรก็เพราะเล็งเห็นประโยชน์การสกัดน้ำมันหอมระเหย การสกัดสารการบูรมาใช้ในธุรกิจเสริมความงาม หรือสปา นอกจากการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้

หากพูดถึงของหอม น้อยคนที่จะไม่รู้จัก การบูร การบูรมักเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับสมุนไพรที่ใช้ในการนวดประคบ นอกจากขมิ้นชัน ผิวมะกรูด ใบมะกรูด ตะไคร้บ้าน ใบมะขาม ใบส้มป่อย เกลือ และพิมเสน

เรานำเข้าสารการบูร ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากต่างประเทศ หากสามารถส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างจริงจังก็จะสามารถสกัดหรือสังเคราะห์สารการบูรได้ในประเทศ นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนแล้ว ยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นอีกด้วย

ที่สำคัญไปกว่านั้น ผู้เขียนมีต้นพันธุ์การบูรที่เป็นลูกหลานของต้นจากเมืองจีน ซึ่งเอามาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไว้จำนวนหนึ่ง ตอนนี้กำลังขยายเพิ่มจำนวนเพื่อผลิตต้นกล้าสำหรับปลูกเป็นสวนป่าการบูร และที่สวนของ ท่านอาจารย์บุญฤทธิ์ ภูริยากร ร้านแก่นจันทร์พรรณไม้ ซึ่งอาจารย์ได้เมล็ดพันธุ์มาจากนักวิจัยไต้หวัน เรามารู้จักต้นการบูรกันอีกสักหน่อย เผื่อผู้อ่านสนใจอยากปลูกต้นการบูรกันบ้าง

ลูกการบูร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

การบูร เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 10-15 เมตร ลําต้นและกิ่งเรียบ ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่รากและโคนต้น ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมหุ้มอยู่ เกล็ดชั้นนอกเล็กกว่าเกล็ดชั้นใน ตามลําดับ

การบูร เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน กระจายพันธุ์ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินโดนีเซีย อินเดีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ จาเมกา บราซิล สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย การบูรเป็นต้นไม้ประจำกระทรวงสาธารณสุขด้วย

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันรูปไข่ รูปไข่กว้าง หรือรูปรี ปลายเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างเหนียว ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างเป็นนวล ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้าง ประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5.5-15 เซนติเมตร

ใบ (หน้า)

ดอก ออกรวมเป็นช่อแบบแยกแขนง ออกตามซอกใบ ใบประดับเรียวยาว ร่วงง่าย มีขนอ่อนนุ่ม ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน ก้านดอกสั้นมาก กลีบรวมมี 6 กลีบ รูปรี ปลายมน โคนติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ด้านในมีขนอ่อนนุ่ม

ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ติดผลในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

ผล แบบมีเนื้อ สีเขียวเข้ม ขนาดเล็ก รูปค่อนข้างกลม มีขนาดประมาณ 6-10 มิลลิเมตร เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ

เปลือกต้น เป็นสีน้ำตาล ผิวหยาบ เป็นร่องเล็กๆ เปลือกกิ่งมีสีเขียว หรือสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีขน

ลำต้น

ขยายพันธุ์ ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอน และวิธีการปักชำ

ผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ มีอยู่ทั่วไปทั้งต้น มักจะอยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้ และมีมากที่สุดในแก่นของราก รองลงมาคือ ส่วนแก่นของต้น ส่วนในใบและยอดอ่อนมีการบูรอยู่น้อย ผงการบูรนั้นจะมีลักษณะเป็นเกล็ดกลมๆ ขนาดเล็ก เป็นสีขาวและแห้ง อาจจับกันเป็นก้อนร่วนๆ และแตกง่าย เมื่อทิ้งไว้ในอากาศจะระเหิดไปหมด โดยจะมีรสปร่าเมา

การบูร” มาจากภาษาสันสกฤตว่า Karapur” หรือ “กรปูร” ซึ่งแปลว่า “หินปูน” เพราะโบราณเข้าใจว่าผนึกนี้เป็นพวกหินปูนที่มีกลิ่นหอม ต่อมาชื่อนี้เพี้ยนเป็น “กรบูร” และเป็น “การบูร” ในปัจจุบัน

การบูร ใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ น้ำมันการบูรจะช่วยกระตุ้นความรู้สึก และทำให้จิตใจโล่ง และปลอดโปร่ง ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ และทำให้ตื่นตัว ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ เมารถ เมาเรือ นอกจากนั้น การบูร เมื่อนำมาวางในห้องหรือตู้เสื้อผ้าจะสามารถช่วยไล่ยุงและแมลง และยังนำมาผสมเป็นตัวดับกลิ่นอับในรองเท้าได้อีกด้วย

ต้นการบูรอายุ3 4ปี

ประโยชน์ทางสมุนไพร

เนื้อไม้ ช่วยบำรุงธาตุร่างกาย ช่วยแก้ธาตุพิการ

เมล็ดใน เปลือกต้น ช่วยคุมธาตุ

รากและกิ่ง เป็นยาช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนดี ช่วยแก้โรคตาได้อีกด้วย

สารการบูร มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาระงับประสาท ช่วยแก้เลือดลม

บางตำรา ใช้การบูรขับปัสสาวะ รักษาโรคผิวหนัง บรรเทาอาการปวดฟัน ช่วยขับลม แก้พิษจากแมลง ลดไข้บรรเทาอาการหวัด อาการไอ ใช้เป็นยาสมานแผล ฆ่าเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย แก้อาการลำไส้อักเสบ อาการท้องเสีย กำจัดพยาธิในท้อง แก้อาการชักบางประเภท ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดคอเลสเตอรอล

นอกจากภาวะอากาศแปรปรวน เรายังประสบกับปัญหาเชื้อโรคที่นับวันจะก่อตัวเพิ่มความรุนแรงขึ้น มีทางเดียวที่พวกเราจะช่วยได้ก็คือ ช่วยกันปลูกต้นไม้ เพื่อให้เป็นปอดฟอกอากาศที่บริสุทธิ์ให้แก่พวกเรา หากปลูกไม้หอมสารพัดประโยชน์ไว้ประดับบ้านก็คงจะดีไม่น้อย การบูรนี่แหละเป็นพืชที่น่าสนใจ น่าจับตามอง

ผลอ่อนการบูร

หากใครสนใจ กล้าไม้การบูร ติดต่อผู้เขียนได้เลย…ที่อีเมล: [email protected] นางไม้ แห่งลานสะแบง เรามีกล้าไม้มาให้ลองปลูกแบบขอต้นทุนคืน สำหรับคนหัวใจสีเขียว ที่ไม่ได้แจกเพราะต้นทุนในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสูงพอตัว และต้นการบูรแท้มีไม่กี่แห่งในไทย…พบกันใหม่ฉบับหน้า…สวัสดี

เอกสารอ้างอิงhttps://www.disthai.com/16895122/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A3

ภาวิณี เปรืองปราชญ์. 2556. องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นนวดแผนไทยในพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี. วิทยานิพนธ์ บธ.ม. (การบริหารธุรกิจ). จันทบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏรําไพพรรณี. 118 น.

การบูร. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. แหล่งที่มา : http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=19, วันที่ 1 มีนาคม 2563.

ปทุมทิพย์ ปราบพาล และ นันทวัน กลิ่นจําปา. 2555. การผลิตลูกหอมสมุนไพรไล่แมลงและขจัดกลิ่นอับ. รายงานการวิจัยโครงการวิจัยทุนสนับสนุน งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ. 100 น.

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563