บัณฑิตแม่โจ้ ปลูกอะโวกาโดแบบประณีต เพื่อแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง ส่งออกในหลายประเทศ

อะโวกาโด ผลไม้มากประโยชน์ นอกจากจะช่วยสร้างสุขภาพที่ดีแล้ว ในปัจจุบันยังมีการพัฒนานำนวัตกรรมต่างๆ มาสกัดทำเครื่องสำอางจากอะโวกาโด และได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก เนื่องด้วยคุณสมบัติที่ซึมซาบสู่ผิวได้ดี เหมาะแก่การนำมาทำเครื่องประทินผิวเกือบทุกชนิด นับเป็นข่าวดีของเกษตรกรทั่วโลก และเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรชาวไทย และผู้ประกอบการนักคิดนักพัฒนาทั้งหลาย ที่จะมีโอกาสสร้างช่องทางเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

คุณยุทธนาศักดิ์ แก้วคำ (โจ้) เจ้าของไร่ยังคอยวัลเล่ย์ อยู่บ้านเลขที่ 32 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าว่า เรียนจบจากคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หลังจากเรียนจบออกมาไม่มีโอกาสได้ไปทำงานตามที่ใจรักเพราะคุณแม่ป่วยจึงต้องกลับบ้านมาดูแลท่าน ซึ่งในระหว่างที่ดูแลคุณแม่ก็ไม่รู้จะทำอะไรดี จึงเกิดความคิดที่จะพยายามสร้างรายได้ และบังเอิญที่บ้านมีต้นอะโวกาโดที่ปลูกไว้สมัยคุณตาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งอะโวกาโดที่คุณตาปลูกไว้มีความเป็นมามากมาย

คุณยุทธนาศักดิ์ แก้วคำ (โจ้)

“ในปี 2552 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จมาที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา คุณตาเป็นชาวเขา และเป็นสมาชิกโครงการหลวงรุ่นแรกแถบบริเวณนั้น ครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาท่านได้พระราชทานอะโวกาโดให้กับคุณตาของผมมาทดลองปลูก มีการปลูกมาเรื่อยๆ แต่ด้วยสมัยนั้นอะโวกาโดยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย พิสูจน์ได้จากสมัยตอนที่ผมยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ผมเคยเก็บอะโวกาโดไปแบ่งให้เพื่อน เพื่อนไม่รู้จัก กินไม่เป็น และนอกจากการนำมาแจกจ่ายให้เพื่อนแล้วยังมีการทดลองนำมาขายหลายครั้งก็ขายไม่ได้ แต่ก็แปลกใจอย่างมากว่าทำไมตอนไปเดินห้างเห็นอะโวกาโดที่นำเข้าจากต่างประเทศวางขาย ในราคาแพงลูกละ 60-70 บาท ซึ่งก็แปลว่าขายได้และต้องมีคนรู้จัก แล้วคนกลุ่มนั้นเป็นใครนั้นคือคำถามที่เกิดขึ้น หลังจากนั้น จึงกลับมาคิด กลับมาดูของที่บ้านตัวเองว่าทำดีแล้วหรือยัง แล้วบกพร่องข้อไหน ก็สรุปได้ว่าสู้ไม่ได้เรื่องคุณภาพของผลผลิตด้วยสภาพของสายพันธุ์ จึงปรับวิธีคิดใหม่ ในเมื่อขายผลสดไม่ได้ก็นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าน่าจะดีกว่า” คุณโจ้ บอก

ผลผลิตอะโวกาโดปลูกแบบประณีต ลูกใหญ่ ผิวสวย

คิดจะแปรรูป เริ่มตั้งคำถาม
จะทำอะไร? ให้ตรงต่อความต้องการของตลาด

คุณโจ้ บอกว่า หลังจากที่มีความคิดจะแปรรูปผลิตภัณฑ์จากอะโวกาโดแล้ว ก็เริ่มมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผู้คนส่วนใหญ่ใช้อะไรในชีวิตประจำวันใช้ทุกวัน และทำอย่างไรจะส่งไปถึงมือลูกค้าได้ จึงมองไปเรื่องของสบู่เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำง่ายและจำเป็นต้องใช้ทุกวัน และยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บรักษาให้อยู่ได้นานอีกด้วย เพราะอะโวกาโด 1 ปี เก็บผลผลิตได้แค่ 1 ครั้ง แต่ถ้านำมาแปรรูปทำสบู่ไว้จะสามารถเก็บขายได้ทั้งปี ซึ่งครอบครัวโชคดีที่มีน้องสาวเรียนเกี่ยวกับด้านเคมีอยู่ด้วย น้องสาวก็ช่วยปรึกษาอาจารย์ในการคิดค้นสูตร ส่วนเรื่องวิธีการทำตัวเองเป็นคนสมัครเรียนคอร์สทำสบู่ แล้วนำทั้งส่วนของน้องสาวและส่วนของตัวเองมารวมกันจึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปสบู่จากผลอะโวกาโดขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์แรก

“ช่วงแรกเริ่มต้นใช้กระดาษห่อขาย แต่ยังขายได้ไม่มาก หลายคนซื้อเพราะความสงสาร เพราะไปช่วยรักษาวัวควายให้เขาฟรี แต่เมื่อเขาซื้อไปลองใช้ได้ 1 ก้อน หลังจากนั้น เขาก็กลับมาซื้ออีกเพราะใช้ดี ไม่มีใครเข้ามาซื้อเพราะความสงสารอีกเลย” คุณโจ้ เล่า

สบู่ทั้ง 3 สูตร ผลิตภัณฑ์แปรรูปชิ้นแรก

คุณโจ้ บอกต่อว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการคิดค้นพัฒนาสูตรมาเรื่อยๆ จนได้ 3 สูตรที่ลงตัวเหมาะสมกับสภาพผิวของทุกคน สูตรที่ 1 อะโวกาโดเฟสแอนด์บอดี้เนเจอรัลโซป Vitamin E Plus ใช้บำรุงผิวให้เนียนนุ่มและวิตามินอีที่ช่วยกระชับผิวให้ดูอ่อนกว่าวัย ผิวสุขภาพดี ฟองครีมนุ่มละเอียด สูตรที่ 2 อะโวกาโดเฟสแอนด์บอดี้เนเจอรัลโซป With Honey ด้วยอะโวกาโดที่ช่วยบำรุงผิวและน้ำผึ้งที่ช่วยลดการอุดตัน การอักเสบ และการเกิดสิวใหม่ สูตรที่ 3 อะโวกาโดเฟสแอนด์บอดี้เนเจอรัลโซป With Camu Camu ด้วยคุณสมบัติของคามูคามู ที่นำเข้าจากประเทศบราซิล วิตามินสูงกว่าส้มถึง 50 เท่า และเม็ดสครับจากแอพริคอตที่ช่วยผลิตผิวให้ขาวกระจ่างใส เรียบเนียน ลดความมัน และเริ่มขยายเป็นสินค้าหลายผลิตภัณฑ์ ด้วยความที่ใส่ใจในขั้นตอนการผลิตมากๆ ใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การแปรรูป และมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ เมื่อน้องสาวเรียนจบมาก็มาช่วยกันสร้างโรงงานเล็กๆ จนตอนนี้สามารถทำผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากอะโวกาโดส่งออกไปหลายประเทศ ทั้งจีน กัมพูชา ไต้หวัน และมีตลาดส่งออกหลักที่ประเทศญี่ปุ่น

ผลิตภัณฑ์ต่อยอดเพิ่มเติมและกำลังได้รับความนิยมมีดังนี้ 1. อะโวกาโด ทรีตเมนต์แอนด์มาส์ก ที่เป็นทรีตเมนต์หนึ่งเดียวที่ดูแลคุณได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า หมักผม พอกหน้า บำรุงผิวกายได้ 2. อะโวกาโด เนเจอร์รัล สครับ ใช้พอกผิว ขัดเซลล์ผิว ทำให้ผิวกระจ่างใส 3. น้ำมันสกัดจากอะโวกาโด เป็นผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุด ตัวช่วยให้ผิวชุ่มชื้น

 

ปลูกอะโวกาโดแบบประณีต
เพื่อกระบวนการแปรรูปโดยเฉพาะ

สำหรับขั้นตอนการปลูกอะโวกาโดเพื่อที่จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวต่างๆ คุณโจ้ บอกว่า ต้องใช้เทคนิคและใส่ใจทุกขั้นตอนในการปลูก

“ที่ไร่ปลูกอะโวกาโดเพียง 12 ไร่ ถ้าปลูกมากกว่านี้ดูแลไม่ไหว เพราะต้องใส่ใจทุกขั้นตอนจริงๆ ตอนนี้สายพันธุ์ที่ปลูกมี 1. พันธุ์พื้นเมือง 2. พันธุ์บัคคาเนีย 3. พันธุ์ปีเตอร์สัน ทั้ง 3 สายพันธุ์นี้มีความแตกต่างกันตรงที่พันธุ์พื้นเมืองจะให้ผลผลิตดก ไม่ต้องดูแลมาก แต่ข้อเสียในเรื่องของเปอร์เซ็นต์น้ำมันน้อย และคุณภาพของผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ส่วนสายพันธุ์แท้อย่างบัคคาเนีย และปีเตอร์สัน ก็แตกต่างกันตรงเนื้อสัมผัส ปริมาณให้น้ำมัน และอยู่ค้างต้นได้นาน”

ขั้นตอนการปลูกเพื่อแปรรูปอันดับแรกต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยก่อน เพราะตลาดหลักส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นประเทศที่เข้มงวดเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย มาตรการตรวจจับสารเคมีปนเปื้อนละเอียดมาก จึงจำเป็นต้องใส่ใจการปลูกทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสร้างระบบนิเวศล้อมรอบสวน

“เลี้ยงกวาง 7 ตัว เป็นตัวกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช เมื่อเวลาผลไม้สุกแล้วร่วงลงมากวางจะกินผลไม้ถือเป็นการตัดวงจรแมลงวันทองไปในตัว แล้วก็ได้ปุ๋ยจากมูลกวางที่กินวัชพืชและผลไม้มาเป็นปุ๋ยทันทีไม่ต้องใช้เวลาหมักวัชพืชเป็นเดือน กวางใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมง ก็จะถ่ายออกมาเป็นปุ๋ยกระจายไปทั่วแปลงทั้ง 12 ไร่ แนวคิดนี้ได้มาจากที่เป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์และเรียนมาทางด้านนี้ด้วยจึงนำมาประกอบกับความรู้ด้านพืช จึงเกิดทฤษฎีนี้ขึ้นมา ถือเป็นการทดลองที่ดีมากๆ แล้วกวางที่เลี้ยงมีลูกออกมาก็ขายได้ นำมาเป็นค่าแรงคนงานดูแลสวน ที่เหลือเป็นกำไรทั้งหมด” 

เลี้ยงกวางในสวนสร้างระบบนิเวศ

ขั้นตอนการปลูก

การเตรียมดิน…อะโวกาโดเหมาะกับสภาพพื้นดินเกือบทุกที่ ถ้าดินเค็มก็ปลูกได้เพียงต้องเลือกสายพันธุ์ให้ถูกต้อง ถ้าเปรียบอะโวกาโดกับพืชของไทย ก็เปรียบให้เป็นมะม่วง เพราะเป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย โรคก็คล้ายๆ กัน

ขุดหลุมเตรียมปลูก…แนะนำว่าช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ให้ขุดหลุมไว้รอ ขนาดกว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร แล้วนำวัสดุรองพื้นเป็นขี้วัว วัชพืชต่างๆ ลงไปไว้ในหลุมให้เต็มแล้วปล่อยไว้เปรียบเหมือนการหมักปุ๋ย รอจนฝนมา ช่วงเดือนพฤษภาคมให้ลงปลูกต้นกล้าลงไป ที่แนะนำคือให้ใช้ต้นตอพันธุ์พื้นเมืองลงก่อนจะทำให้มีอัตราการรอดสูงและประหยัด เพราะถ้าซื้อต้นพันธุ์ดีที่เสียบยอดมาแล้วต้นทุนจะสูงอย่างน้อยต้นละ 150 บาท อัตราการรอดเพียง 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่พันธุ์พื้นเมืองมีอัตราการรอดจะสูงและสามารถปล่อยให้ต้นโตได้ 1-2 ปี ค่อยมาเสียบยอดทีหลังก็ได้ จะช่วยประหยัดต้นทุน และดูแลจัดการง่ายกว่า

ระยะห่างระหว่างต้น…แล้วแต่สายพันธุ์แฮส (Hass) พุ่มไม่ใหญ่มาก ปลูกระยะ 6×6 เมตร หรือ 8×8 เมตร แต่ถ้าเป็นบูท หรือปีเตอร์สัน ทรงพุ่มจะใหญ่ให้ปลูกระยะ 10×10 เมตร ให้ทรงพุ่มห่างไม่ชนกัน เพราะอะโวกาโดจะมีโรคประจำ คือโรคเชื้อรา

ผลิตภัณฑ์ทรีตเมนต์จากอะโวกาโด

การปลูก…ในปีแรกเทคนิคของคุณโจ้คือ จะปลูกพืชอาหารสัตว์ข้าวโพดแซมไว้เพื่อสร้างรายได้ระหว่างรอ และในปีแรกต้องใช้ปุ๋ยเคมีเข้ามาช่วย ถือว่าไม่ผิดหลักมาตรฐานออร์แกนิก ในช่วงของปีแรกปุ๋ยเคมีจะเข้ามาช่วยทำให้ต้นแข็งแรง โตไว และคุ้มค่า

ปีที่ 2…หยุดปลูกพืชแซม หยุดให้ปุ๋ยเคมี แล้วมาใส่ปุ๋ยคอกแทน เพราะระยะการใส่ปุ๋ยเคมีที่ปลอดภัยของมาตรฐานสินค้าออร์แกนิกอยู่ในระยะ 2 ปี

ปีที่ 3…ดูแลเรื่องเชื้อรา และตกแต่งกิ่งให้ได้รูปทรง ใส่ปุ๋ยคอกตามปกติ ในระยะ 3 ปี บางต้นเริ่มให้ผลผลิตแล้ว

การให้ปุ๋ย…ปุ๋ยคอกใส่ปีละ 2 ครั้ง และเมื่อถึงเวลาต้นโตจะใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นปุ๋ยคอกหมักกับเศษวัชพืช 1 ต้น ใส่ประมาณครึ่งกระสอบ

 

วิธีการดูแลรักษา

ช่วงแรกยังไม่มีระบบน้ำจะใช้เศษวัชพืชมาคลุมที่โคนต้นห่มดินเพื่อรักษาความชื้นไว้ วิธีนี้จะช่วยได้เยอะในช่วงฤดูแล้งและค่อยๆ ย่อยสลายเป็นอาหารพืชได้ด้วย

ระบบน้ำ…พื้นที่ปลูกที่นี่เป็นดอย การให้น้ำแทบจะไม่จำเป็น ในช่วงแรก จะมีพายุฤดูร้อนมาเติมให้ตลอด แต่ถ้าแล้งจริงๆ ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน จะให้น้ำเดือนละ 2 ครั้ง ใช้เป็นระบบน้ำหยด เพราะถ้าใช้ระบบสปริงเกลอร์จะกระจายน้ำมากเกินไป จะถือเป็นการเลี้ยงวัชพืช ระบบน้ำหยดจะประหยัดกว่า ให้ได้เจาะจง และได้ผลผลิตที่มากกว่า

ผลผลิตต่อต้น…เริ่มนับที่ต้นอายุ 5 ปี อยู่ที่ประมาณ 40-80 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี อะโวกาโดยิ่งแก่ยิ่งให้ลูกดก ให้ผลผลิตนานมากอย่างน้อย 50 ปี ถ้าต้นแก่ก็มีการตัดทำสาวบ้าง

ราคา…ดีขึ้นทุกปี ตอนนี้ถ้าเป็นพันธุ์แท้บูท ปีเตอร์สัน บัคคาเนีย หน้าสวนกิโลกรัมละ 60-80 บาท พันธุ์พื้นเมืองกิโลกรัมละ 40-50 บาท มีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าสวน แต่จะไม่เน้นขายผลสด จะเน้นเก็บมาแปรรูปมากกว่า 

เนื้อข้างในเรียบเนียน สีสวย ไม่เน่า

ก่อนถึงขั้นตอนการแปรรูป
ต้องเข้าใจวิธีเก็บรักษาผลผลิตให้ได้คุณภาพ

คุณโจ้ บอกว่า ก่อนถึงกระบวนการแปรรูป ขั้นแรกต้องใส่ใจขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูปก่อน 1. ควรเก็บผลผลิตที่สุกจัด 2. ในเรื่องการเก็บรักษาสำคัญมากๆ และยังเป็นปัญหาถกเถียงกันในวงการอะโวกาโด คือเกษตรกรส่วนใหญ่จะเก็บอะโวกาโดแล้วบรรจุใส่ถุงเลย ถือเป็นวิธีที่ผิด เพราะโรคประจำตัวของอะโวกาโดคือแอนแทรกโนส และเชื้อราต่างๆ อะโวกาโดจะคายน้ำออกมาเยอะในช่วง 12-24 ชั่วโมงแรกหลังจากเก็บเกี่ยว ยิ่งจะทำให้ภายในถุงร้อนและอับมากขึ้น จึงเป็นปัญหาที่ถกเกียงกันว่าคนขายบอกกับลูกค้าว่าเก็บมาจากต้นสดๆ แพ็กอย่างดี แต่เมื่อลูกค้าซื้อไปแล้วเปิดถุง กลับพบว่าผลของอะโวกาโดเละและมีเชื้อรา ซึ่งจริงๆ แล้วเกิดจากการไม่เข้าใจกระบวนการของอะโวกาโด จะมีกระบวนการคายน้ำออกมาก ในกระบวนการนั้นจะมีการคายความร้อนออกมาด้วย ความร้อนถือเป็นการเพาะเชื้อได้อย่างดีเหมือนการเพาะเห็ด 3. การเก็บผลผลิตจะให้ดีต้องมีขั้วติดมาด้วย ขั้วของอะโวกาโดสำคัญมาก เพราะถ้าขั้วหลุดออกไปจะกลายเป็นช่องทางทำให้เกิดเชื้อรา สังเกตได้จากอะโวกาโดเมื่อผ่าดูส่วนใหญ่จะเน่าตรงขั้วก่อนเพราะเชื้อราจะอาศัยช่วงขั้วที่หลุดเข้าไป ก็โยงไปถึงการเพาะปลูกในแปลงควรจะมีการตกแต่งกิ่งให้ดี ไม่ให้สูงเกินไป เวลาเก็บเกี่ยวขั้วจะหลุด และอาจจะตกลงมาช้ำ

“การเก็บรักษาผลผลิตที่ดีวันแรกให้ผึ่งก่อน เก็บผึ่งในตะกร้า ขนส่งในตะกร้า ไม่เรียงซ้อนทับหนาเกินไป และการแพ็กควรห่อด้วยวัสดุที่ดูดซับความชื้นได้ เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ และหากบรรจุใส่กล่องควรเจาะรูระบายอากาศด้วย”

เนื้อข้างในเรียบเนียน สีสวย ไม่เน่า

 ขั้นตอนการแปรรูป
ผลิตภัณฑ์จากอะโวกาโด สร้างมูลค่า

คุณโจ้ อธิบายต่อว่า การแปรรูปเครื่องสำอางเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากเพราะต้องทำความเข้าใจเยอะ และต้องใช้ความรับผิดชอบสูง ครั้งนี้จึงจะมาแนะนำวิธีการทำสบู่จากอะโวกาโดก่อน เพราะเป็นอะไรที่ทำง่ายและสามารถสร้างรายได้จริงๆ แต่จะขออธิบายถึงสาเหตุก่อนว่าทำไมถึงไม่สามารถบอกขั้นตอนแปรรูปผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ได้นอกจากสบู่ เพราะค่อนข้างมีกรรมวิธีที่ต้องใช้เทคนิคและอุปกรณ์ที่ทันสมัย

การทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเภทคือ 1. ประเภทที่ล้างออก เช่น ทรีตเมนต์ สบู่ สครับ 2. ประเภทที่ไม่ต้องล้างออก เป็นประเภทที่ซึมเข้าผิว เนื่องจากเนื้ออะโวกาโดไม่ได้มีคุณสมบัติซึมเข้าผิว 100 เปอร์เซ็นต์ จะมีกากอยู่ก็ต้องนำอะโวกาโดมาดรายแล้วสกัดเอาน้ำมัน ซึ่งขั้นตอนการสกัดต้องใช้เทคนิคสูง พอหลังจากสกัดเอาน้ำมันแล้ว ถึงจะเอาน้ำมันมาผลิตเป็นครีมได้ เมื่อน้ำมันกับเนื้อครีมผสมเข้ากันแล้วจะสามารถซึมเข้าผิวได้ทั้งหมด และน้ำมันอะโวกาโดขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำมันที่ซึมเข้าผิวมนุษย์ได้ดีที่สุดจากสารสกัดจากพืชอยู่แล้ว

 ขั้นตอนการทำสบู่จากอะโวกาโด

  1. เก็บผลสุกมาล้างทำความสะอาด
  2. ผ่าลูกคว้านเนื้อให้นำเฉพาะส่วนดีๆ มา ห้ามนำเนื้อส่วนที่เสียมาปะปนเด็ดขาด
  3. ปั่นเนื้ออะโวกาโดให้ละเอียดมากที่สุด เพื่อไม่ให้จับตัวเป็นก้อน เพราะในกระบวนการผลิตถ้าเนื้อจับตัวเป็นก้อน คุณภาพของสินค้าจะเสียไปด้วย
  4. นำมาผสมกับส่วนผสมของการทำสบู่ ละลายกลีเซอรีน เติมกลิ่น เติมวิตามินลงไปตามสูตร และใส่เนื้ออะโวกาโดที่ปั่นลงไปเป็นขั้นตอนสุดท้าย

อัตราส่วนผสม อะโวกาโดไม่ควรใส่เกิน 45 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกินนี้สบู่จะไม่จับตัวเป็นก้อน เก็บไว้ไม่ได้นาน

 

น้ำมันอะโวกาโดที่สกัดได้

ตลาดเครื่องสำอางจากอะโวกาโด
ส่งออกได้ดีมานานกว่า 6 ปีแล้ว

ตั้งแต่เริ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากอะโวกาโดขายส่งออกมานานกว่า 6 ปี แนวโน้มการเจริญเติบโตดีมาโดยตลอด ขายดีทุกผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปออกมา เช่น สบู่ เป็นอะไรที่ขายดีมาก ส่งแค่เฉพาะในประเทศไทยเดือนละ 500-1,000 ก้อน แต่ถ้าเป็นตลาดส่งออกประเทศจีนกับญี่ปุ่น ส่งออกครั้งละเป็นตัน ราคาจำหน่ายก้อนละ 150 บาท ขนาด 100 กรัม ในส่วนของผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งครีมกันแดดและมอยเจอร์ไรเซอร์ต่างๆ จำนวนการส่งสินค้าแล้วแต่ประเทศ 3-5 เดือนครั้ง สร้างรายได้หลักล้านบาทต่อปี

ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้จะไม่มีทางสำเร็จได้เลยหากขาดการสนับสนุนงานวิจัยจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้สนับสนุนงบประมาณการงานวิจัยครั้งนี้ และต้องขอขอบคุณคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สนับสนุนให้เข้าไปศึกษางานภายในห้องแล็บ ช่วยให้ความรู้ในการผสมสูตรต่างๆ ให้ปลอดภัย ได้รับการสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ต้องขอขอบคุณจากใจจริงๆ ครับ 

น้ำมันอะโวกาโดที่สกัดได้

ฝากถึงผู้ที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ของประเทศทั้ง 2 ฝ่าย

คุณโจ้ บอกว่า อยากฝากถึงทั้ง 2 ฝ่ายที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฝ่ายที่ 1 ฝากถึงฝ่ายบริหารบ้านเมือง อยากให้ช่วยปกป้องคุ้มครองเกษตรกรในประเทศ เนื่องจากประสบการณ์ที่ติดต่อสื่อสารการค้ากับต่างประเทศ เมืองไทยค่อนข้างเป็นเมืองที่ประเทศเพื่อนบ้านจับตามอง สังเกตได้ง่ายๆ ถ้าประเทศไทยสินค้าทางการเกษตรชนิดไหนดี ประเทศเพื่อนบ้านจะทำตาม และส่งเข้ามาตีตลาดสินค้าในประเทศทำให้ราคาตก เพราะประเทศเขาได้เปรียบตรงที่เขามีกำลังปลูกมากกว่า น้ำดี ค่าแรงถูก ผลิตได้มากกว่าและสม่ำเสมอกว่า

ฝ่ายที่ 2 คนไทยด้วยกัน ผมคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอยู่ที่ความตั้งใจของตัวเราเอง พยายามเข้าหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ลองเข้าไปศึกษาถามข้อมูล คือทุกหน่วยงานจะมีโครงการมีองค์กรที่พร้อมจะสนับสนุนให้ความรู้กับเราในการพัฒนา ถ้ายังไม่มีฐานความรู้หรือมีแล้วแต่อยากต่อยอดให้เข้าไปหา แล้วตั้งใจทำให้ดีที่สุด คุณโจ้ กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (089) 560-4258 หรือท่านใดมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่ปาย คุณโจ้มีหน้าร้านขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอะโวกาโด ชื่อร้าน มาเรียม เฮิร์บ ถนนคนเดินปาย สามารถเข้าไปอุดหนุนกันได้