ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
พื้นที่ที่เกือบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร และเป็นเกาะแก่งกลางน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ถูกทิ้งไว้มาหลายปี เพราะเจ้าของต้องไปทำไร่อ้อยและไร่ข้าวโพดอีกที่หนึ่ง ไม่มีเวลาดูแล กระทั่งเมื่อ 6 ปีก่อน พื้นที่นี้ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง
คุณวิทยา โพธิลำเนา เกษตรกรชาวตำบลบ้านโคก อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ 6 ไร่ แต่เพราะพื้นที่นี้ถูกน้ำท่วมหลากเป็นประจำทุกปี ทำให้คุณวิทยาไม่คิดปลูกพืชอะไรไว้ เพราะเกรงว่าจะไม่รอด
แต่มีตัวอย่างเกษตรกรในพื้นที่ปลูกไม้ผลจนประสบความสำเร็จ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คุณวิทยาคิดทำตามแบบอย่าง
เกษตรกรตัวอย่าง ปลูกเงาะ ให้ผลผลิตดี มีคุณภาพ คุณวิทยาจึงเอาแบบอย่าง ซื้อกิ่งพันธุ์เงาะมาบ้าง ลงปลูกเต็มพื้นที่ 6 ไร่ จำนวน 160 ต้น แต่เห็นพื้นที่ระหว่างต้นเงาะยังว่าง จึงนำกิ่งพันธุ์ฝรั่งกิมจูมาลงปลูกระหว่างเงาะแต่ละต้น ทำให้ได้จำนวนฝรั่งอีก 400 ต้น หลังปลูกก็ปล่อยไว้อย่างนั้น แล้วออกไปทำไร่ตามปกติ แต่หลังจากนั้น 6 เดือน เข้ามาดูเห็นฝรั่งเริ่มติดดอก หลังจากนั้นอีก 2 เดือน เข้ามาดู ก็พบว่า ฝรั่งให้ผลผลิตแล้ว
“พอเข้ามาดูก็เห็นฝรั่งดกเต็มต้น แต่ห่อไม่ทัน ผลฝรั่งเน่าคาต้นเยอะมาก เห็นผลผลิตดีขนาดนี้ ทำให้ตั้งใจว่า จะดูแลให้ดี เพราะทุกผลที่ห่อ คือ เงิน ส่วนเงาะปีแรกให้ผลผลิตพอได้กิน ปีที่ 2 ผลผลิตที่ได้กินอิ่ม ผลผลิตปีที่ 3 เก็บผลผลิตขายได้พร้อมๆ กับฝรั่งกิมจู”
เพราะคลุกคลีกับพืชไร่ที่ต้องใช้สารเคมีมาโดยตลอด ทำให้การปลูกไม้ผลบนพื้นที่ 6 ไร่นี้ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุด
คุณวิทยา เล่าว่า ปีแรก เราไม่รู้อะไรก็ใส่ปุ๋ยเคมีลงไป แต่สังเกตเห็นต้นไม้โทรม จึงลองสั่งขี้ไก่มาใส่แทนเคมี ปรากฏว่าต้นไม้งาม เจริญเติบโตดี แตกยอดไม่หยุด ทำให้รู้ว่าเคมีไม่ได้ช่วยอะไรมาก
พื้นที่เหลือจากลงปลูกเงาะและฝรั่งอีกไม่มาก เมื่อเห็นต้นไม้เจริญเติบโตและงอกงามดี จึงตัดสินใจซื้อไม้ผลชนิดอื่น เช่น ลองกอง ทุเรียน มาลงปลูกเพิ่ม แม้ยังไม่ได้ผลผลิต แต่การเจริญเติบโตของกิ่งพันธุ์ที่ลงไว้งอกงามดี
นอกเหนือจากไม้ผลที่กล่าวมาแล้ว พื้นที่อีกนิดหน่อย คุณวิทยาไม่ต้องการให้สูญเปล่า จึงนำมะเขือหลากหลายชนิดมาปลูก โดยเน้นไปที่มะเขือพื้นบ้าน ซึ่งหาซื้อได้ยากไปลงปลูกไว้ เมล็ดพันธุ์ คุณวิทยาบอกว่า ไม่ซื้อ เก็บและเพาะเมล็ดเอง เพราะพืชพื้นบ้านเหล่านี้เจริญเติบโตและมีความเหมาะสมกับสภาพอากาศบ้านเราอยู่แล้ว การเพาะเมล็ดเองก็ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน
ปัญหาของพื้นที่ตำบลบ้านโคก อำเภอสุวรรณคูหา ส่วนใหญ่คือ ความแห้งแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และดินไม่ดี พืชส่วนใหญ่จึงเป็นพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย
คุณชัยรัตน์ ยอดทัพ เกษตรอำเภอสุวรรณคูหา อธิบายว่า แม้พื้นที่อำเภอสุวรรณคูหาส่วนใหญ่จะห่างไกลแหล่งน้ำทำการเกษตรและดินไม่สมบูรณ์ แต่พื้นที่ 6 ไร่ ของคุณวิทยา ตั้งอยู่ในพื้นที่ลึก แต่มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ถึง 2 แหล่ง และน้ำไม่เคยแห้ง แม้จะอยู่ในฤดูแล้ง แต่หลายคนมองว่าข้อเสียของพื้นที่นี้คือ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วม ปลูกพืชอาจไม่ได้ผล แท้ที่จริงแล้วฤดูน้ำหลากที่ว่า จะพัดพาเอาตะกอนและแร่ธาตุที่ดีมาทับถมที่พื้นที่แห่งนี้ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และน้ำหลากที่ท่วมระยะหนึ่งไม่ได้นานจนทำให้พืชเกิดปัญหา อีกทั้งอยู่ไม่ห่างจากแหล่งน้ำถึง 2 แหล่ง จึงทำให้ไม่ขาดแคลนน้ำเหมือนพื้นที่อื่น
เมื่อถามคุณวิทยาว่า ทราบหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดพื้นที่แห่งนี้จึงปลูกพืชอุดมสมบูรณ์ดี คุณวิทยา บอกว่า ไม่ทราบว่ามีแร่ธาตุมาทับถมตามน้ำที่หลากมาในฤดูน้ำหลาก แต่พื้นที่ด้านท้ายของไร่ ประมาณ 2 งาน เห็นว่า ดินดีกว่าบริเวณอื่น จึงสังเกตรอบข้าง พบว่า มีต้นยางนาอยู่ 2 ต้น ใบยางนาร่วงปกคลุมดินบริเวณดังกล่าว ทับถม เมื่อขุดดินที่ใบยางนาทับถม ก็พบว่า ดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงคิดว่าเป็นเพราะใบยางนาที่ช่วยสร้างแร่ธาตุในดินให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และพืชที่นำไปปลูกบริเวณนั้น เช่น มะเขือพื้นบ้านหลายชนิด เจริญงอกงามและให้ผลผลิตดีมาก
ส่วนการดูแลไม้ผลในแปลง 6 ไร่ ที่ลงปลูกไว้ คุณวิทยา อธิบาย ดังนี้
การให้น้ำ เพราะต้นไม้โตจนเริ่มให้ผลผลิตแล้ว จึงสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงขึ้นไปให้ท่วมพื้นที่ เช่นเดียวกับการทำนา ความสูงของน้ำระดับหัวเข่า จากนั้นหยุดสูบ
ปุ๋ยเคมี ยอมรับว่ามีบ้าง บางช่วงใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ประมาณ 5-6 ถุง ต่อปี
ปุ๋ยขี้ไก่ กระสอบละ 25 บาท ต้นทุนเฉพาะปุ๋ยขี้ไก่ ประมาณ 10,000 บาท ต่อปี
ทั้งปุ๋ยขี้ไก่และปุ๋ยเคมี หากเป็นฤดูแล้งให้หว่านเมื่อสูบน้ำเข้าสวน หากเป็นฤดูฝน ให้หว่านเมื่อฝนตก รวมต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าน้ำ (น้ำมันใช้สำหรับสูบน้ำ) รวมค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนต่อปี ไม่เกิน 15,000 บาท
การตัดแต่งกิ่ง ก็ทำเมื่อมีเวลาว่าง แต่ไม่ปล่อยให้ต้นโทรม และไม่ได้ทำทุกครั้งหลังเก็บผลผลิตเหมือนรายอื่น คุณวิทยา ให้เหตุผลว่า ไม่ได้ตั้งใจไม่ดูแลต้นไม้ แต่เพราะต้องใช้เวลาไปกับการห่อ การเก็บผลผลิต และการนำไปขาย แต่จะตัดแต่งกิ่งไปพร้อมๆ กับการเก็บในแต่ละครั้ง เท่าที่ทำไหว
ปัญหาโรคและแมลง เจอบ้าง ทำให้ต้องใช้สารเคมีช่วย คุณวิทยา เล่าว่า ปัญหาโรคและแมลงพบไม่บ่อย แต่เมื่อพบก็จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงบ้าง ซึ่งน้อยมาก เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีอยู่แล้ว
ฝรั่งกิมจู จำเป็นต้องห่อผล เริ่มห่อผลเมื่อฝรั่งติดผลขนาดเท่าลูกมะนาว จากนั้นนับไปอีกประมาณ 45 วัน ในฤดูฝนเก็บผลผลิตได้ หรือนับไปอีก 60 วัน ในฤดูร้อน จึงเก็บผลผลิต แต่สำหรับคุณวิทยาเธอใช้ความชำนาญจากการเทียบน้ำหนักผลกับมือ
ในแต่ละวันคุณวิทยาจะใช้เวลาตอนเช้าไปกับการเก็บผลฝรั่ง เงาะ และมะเขือพื้นบ้าน เมื่อเก็บและเตรียมเรียบร้อย จะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง สำหรับห่อผลและดูแลความเรียบร้อยในสวน จากนั้นจึงไปตลาด
ตลาดนัด เปิดทุกวัน ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์ คุณวิทยา จึงนำผลไม้และมะเขือพื้นบ้านออกไปขายเอง ทั้งขายส่งและขายปลีก กรณีขายส่งจะนำไปส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดนัดด้วยตนเอง และการขายปลีกจะขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด เช่น ฝรั่ง กิโลกรัมละ 35 บาท คุณวิทยาขายเพียง กิโลกรัมละ 25 บาท เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ผลผลิตไม่เหลือทิ้งกลับบ้านก็ถือว่าโชคดีแล้ว
คุณวิทยา เป็นทั้งคนปลูก คนดูแล คนเก็บ และคนขาย เธอนำผลผลิตที่ได้จากสวนไปจำหน่ายยังตลาดนัดทุกวัน ทำให้มีรายได้เข้ากระเป๋าทุกวัน ส่วนเงาะและฝรั่ง มีช่วงเวลาให้ผลผลิต ก็ถือเป็นรายได้รายเดือน ส่วนอ้อยและข้าวโพด ซึ่งคุณวิทยาไม่ทิ้งการทำไร่นั้น ก็ถือเป็นรายได้รายปี
หากคิดต้นทุนของการปลูกพืช 6 ไร่ อยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท ต่อปี แต่รายได้มีมาก 300,000-400,000 บาท ต่อปี ไม่นับรวมไร่อ้อยและไร่ข้าวโพด ที่ทำเงินประมาณปีละกว่า 200,000 บาท ทำให้มีรายได้เพิ่มจุนเจือครอบครัวและมีเงินเก็บเหลือมากพอ
คุณวิทยา เป็นเกษตรกรหญิงใจดี พร้อมแบ่งปันความรู้เท่าที่ประสบการณ์การปลูกพืชแบบผสมผสาน บนพื้นที่ 6 ไร่ ให้กับทุกคน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณวิทยา โพธิลำเนา ตำบลบ้านโคก อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู โทรศัพท์ 093-453-7211
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564