“สวนตันเจริญ” จังหวัดสระแก้ว เติมเต็มความสุขหลังเกษียณ

มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ เมื่ออายุครบ 60 ปี จะกลายเป็นพนักงานวัยเกษียณทันที หลายคนตัดสินใจหยุดพักผ่อน หลังจากทำงานหนักมาตลอดชีวิต แต่ผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่ง ตัดสินใจใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ในเส้นทางอาชีพเป็น “เกษตรกร” วิธีนี้นอกจากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว การทำงานท่ามกลางธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ ช่วยให้พวกเขามีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น สุขใจที่ได้บริโภคผักผลไม้ที่ปลูกด้วยมือตัวเอง ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคก็ขายสร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้อีกทางหนึ่ง

อาจารย์ธงเทพ ตันเจริญ เจ้าของสวน “ตันเจริญ” บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 5 ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว 27000 โทร. 089-233-7586 เป็นหนึ่งในกลุ่มพนักงานวัยเกษียณที่มีความสุขในเส้นทางอาชีพเป็นเกษตรกรมานานกว่า 10 ปี เขาไม่ได้ทำเกษตรแบบเล่นๆ

อาจารย์ธงเทพ มีความขยัน และตั้งใจจริงในการทำงานภาคเกษตร แม้เจอปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากมายในช่วงที่ผ่านมา อาจารย์ก็สู้ไม่ถอย ใส่ใจเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง จนได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม จากการประกวดเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2557 ของกรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัดสระแก้ว

ผู้สนใจเยี่ยมชมสวนตันเจริญ

แนะลงทุนทำเกษตรก่อนเกษียณ

อาจารย์ธงเทพ ตันเจริญ หรือ “ลุงจิว” เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ เคยทำงานเป็นอาจารย์ประจำ วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ปี 2554 ก็หันมาทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างเต็มตัวจนถึงปัจจุบัน ลุงจิววางแผนทำเกษตรก่อนเกษียณมาตั้งแต่ ปี 2535 ที่ดินในแถบนี้มีสภาพแห้งแล้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวทำนา ปลูกมันสำปะหลัง และอ้อยเป็นหลัก แต่ลุงจิวลงทุนปรับที่นาให้กลายเป็นไร่นาสวนผสมแทน โดยขุดสระประจำไร่นา ดินที่ขุดขึ้นมาก็นำมาถมที่ดินสร้างบ้านบนเนินสูงขึ้นกว่าถนนประมาณ 5 เมตร

นับว่า ลุงจิว วางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า ลดความเสี่ยงจากปัญหาอุทกภัยได้อย่างดี เนื่องจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ในปี 2554 สวนตันเจริญ เจอน้ำท่วมหนัก พื้นที่ปลูกพืชบางแปลงเจอน้ำท่วมสูงมิดหัวทีเดียว สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกพืชหลายชนิด เช่น ลองกอง ซึ่งเป็นพืชที่ไม่ทนกับน้ำท่วมขัง ทำให้ต้นลองกองยืนต้นตายไปหมด ต่อมา ปี 2556 สวนตันเจริญ เจอน้ำท่วมถึง 4 รอบ ในปีเดียว ทำให้ต้นมังคุดอายุ 10 กว่าปี ยืนต้นตายไป 20 ต้น ก็ต้องลงทุนซื้อมังคุดต้นใหม่มาปลูกซ่อมใหม่

ลุงจิว และ ป้าบุญนำ โชว์ผลผลิตอินทรีย์
ป้าบุญนำ โชว์ผลมะนาวเว่อร์หรือมะนาวยักษ์

เทคโนโลยีการให้น้ำแบบตั้งเวลา

สวนเกษตรโดยทั่วไป มักใช้ มอเตอร์ 1 ตัว ต่อท่อส่งน้ำและมีวาล์วควบคุมการให้น้ำแต่ละล็อต พอใช้เสร็จ ก็สลับวาล์ววิ่งไปให้น้ำในล็อตถัดไป โดยมีแรงงานคอยดูแลควบคุมการให้น้ำในระยะเวลาที่ต้องการ ซึ่งการทำงานลักษณะนี้ มีจุดอ่อนสำคัญคือ มอเตอร์เครื่องสูบน้ำต้องทำงานหนักนานหลายชั่วโมง จนเกิดความร้อนสูง จนสายพานไหม้ได้ง่าย

ลุงจิว บอกว่า ช่วงที่ทำงานสอนหนังสือ ไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาดูแลสวนสักเท่าไร แค่ 1-2 ครั้ง ต่อเดือน เท่านั้น ทำให้พืชที่ปลูกไม่ได้รับน้ำอย่างเต็มที่ เติบโตล่าช้ากว่าปกติ ลุงจิวพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยอาศัยความรู้ด้านช่างอิเล็กทรอนิกส์มาออกแบบเทคโนโลยีการให้น้ำแบบตั้งเวลา ลุงจิวลงทุนซื้อมอเตอร์สูบน้ำ 4 ตัว สำหรับให้น้ำในแปลงเพาะปลูกพืช โดยตั้งเวลาการทำงานของมอเตอร์เครื่องสูบน้ำทั้ง 4 ตัว สลับกันทำงานให้ต้นไม้ แปลงละ 50 ต้น ครั้งละไม่เกิน 30 นาที ในช่วงเวลาเช้าและเย็นของทุกวัน เมื่ออุปกรณ์การให้น้ำทำงานเสร็จตามเวลาที่กำหนด ระบบไฟจะถูกตัดโดยอัตโนมัติ

เทคโนโลยีการให้น้ำแบบตั้งเวลา

ลุงจิว บอกว่า เทคโนโลยีการจัดน้ำลักษณะนี้ มีข้อดีคือ ช่วยยืดอายุการใช้งานของมอเตอร์แต่ละตัว ได้ยาวนานขึ้น สังเกตหลังจากทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ต่อเนื่องกว่า 10 ปี มอเตอร์เครื่องสูบน้ำไม่เคยเกิดอาการสายพานไหม้เลย ลูกปืนก็ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและใช้งานอุปกรณ์เครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญช่วยประหยัดไฟฟ้า ประหยัดเวลา ไม่ต้องใช้แรงงานคนวิ่งสลับวาล์วน้ำ ด้านการบำรุงรักษา แค่ดูแลตรวจสอบหัวเหวี่ยงและสปริงเกลอร์แต่ละตัว ไม่ให้เกิดปัญหาอุดตันในระหว่างการใช้งานก็เพียงพอแล้ว

ลุงจิว บอกอีกว่า ระบบเทคโนโลยีนี้ ช่วยให้การทำงานให้น้ำในสวนกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น แม้ออกไปขายสินค้าที่ตลาด ระบบเทคโนโลยีการให้น้ำแบบตั้งเวลา ก็ยังทำงานให้น้ำตามปกติ ทั้งเช้าและเย็นทุกวัน ทำให้สะดวกสบาย ประหยัดเวลาและแรงงานได้อย่างดี แถมมีเวลาเหลือเฟือไปดูแลด้านต่างๆ ในสวนได้อีก

แปลงปลูกมังคุดอินทรีย์

บุกเบิกปลูกมังคุดในสระแก้ว

สวนตันเจริญ ปลูกไม้ผลนานาชนิด เช่น มะพร้าว มะม่วง กระท้อน มะนาว ฯลฯ หลังจากปลูกมะพร้าวไปได้ระยะหนึ่ง เกิดปัญหามะพร้าวยืนต้นตาย เพราะที่ดินแถบนี้ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของมะพร้าว ลุงจิว จึงโค่นต้นมะพร้าวออก และลงทุนซื้อมังคุดมาปลูกแทน ซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะที่นี่สภาพที่ดินและแหล่งน้ำไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นมังคุดเหมือนกับจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมังคุดที่สำคัญของภาคตะวันออก

ลุงจิว ตระหนักดีว่า มังคุด เป็นไม้ผลที่กินน้ำมาก จึงลงทุนขุดสระน้ำ ขนาด 1 ไร่ จำนวน 1 บ่อ เพื่อให้มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับดูแลแปลงปลูกมังคุด จำนวน 200 กว่าต้น รวมทั้งลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ให้น้ำระบบท่อ เพื่อให้สะดวกต่อการให้น้ำแปลงมังคุด นอกจากนี้ ยังมีแผนสำรอง หากน้ำในสระหมด ก็จะสูบน้ำจากคลองพระปรงขึ้นมารดน้ำในแปลงปลูกมังคุดได้อีก

ลุงจิว ซื้อมังคุดต้นใหญ่สูง 1.50-1.80 เมตร มาปลูกในสวนตันเจริญ ตอนแรกปลูกมังคุดเป็นพืชเชิงเดี่ยว ปรากฏว่า เติบโตไม่ค่อยดี ตอนหลังลุงจิวได้ความรู้ว่า ชาวสวนมังคุดนิยมปลูกต้นไม้โตเร็วระหว่างแถวมังคุด โดยให้มีระยะห่างระหว่างต้นของไม้โตเร็วที่สามารถแผ่ทรงพุ่มพรางแสงให้ต้นมังคุดได้ ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ เช่น กล้วย และทองหลาง เป็นต้น

มังคุดอินทรีย์ ผิวไม่สวยแต่อร่อยเลิศ

ดังนั้น ลุงจิว จึงหันมาปลูกกล้วยและไผ่เป็นพืชร่วมแปลงมังคุด เมื่อจัดระบบนิเวศให้มีร่มเงาอย่างเหมาะสมกับการเติบโตของพืช ปรากฏว่า ต้นมังคุดเติบโตดีขึ้น ให้ผลผลิตคุณภาพดี เมื่อต้นมังคุดมีอายุเพิ่มขึ้นยิ่งให้ผลผลิตมากขึ้นทุกปี

มังคุด ที่ปลูกในสวนตันเจริญให้ผลผลิตที่มีขนาดปานกลาง เพราะจังหวัดสระแก้วมีปริมาณฝนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับจังหวัดจันทบุรี-ระยอง ที่มีปริมาณฝนตกชุกมากกว่า ทำให้ต้นมังคุดในโซนดังกล่าวได้รับปริมาณน้ำฝนเต็มที่และมีขนาดผลใหญ่กว่า

มังคุด สวนตันเจริญ ปลูกดูแลในระบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ทำให้ผิวมังคุดไม่สวยงามเหมือนกับมังคุดภาคตะวันออก แต่เปรียบเทียบด้านรสชาติแล้ว มังคุดอินทรีย์ของสวนตันเจริญชนะขาดลอย เพราะมีรสหวานหอม เนื้อกรอบ อร่อย เนื่องจากลุงจิวดูแลจัดการสวนอย่างใส่ใจ เมื่อสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว และหมดฝน ลุงจิวจะงดน้ำในแปลงปลูกมังคุด จนใบเริ่มเหี่ยว จึงเริ่มให้น้ำและปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำจากเศษใบไม้ และใส่แกลบคลุมโคนต้น เพื่อให้รากต้นมังคุดมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา

ประมาณเดือนธันวาคม ต้นมังคุดจะเริ่มผลิดอกออกผล ก็บำรุงด้วยปุ๋ยน้ำ หมักฮอร์โมนพืช ที่ผ่านมา มังคุด สวนตันเจริญ จะให้ผลผลิตเร็วกว่ามังคุดภาคตะวันออก ประมาณ 1 เดือน ทำให้ ลุงจิว ขายผลผลิตได้ราคาดี ประมาณ กิโลกรัมละ 150 บาท

ลุงจิว เคยเอามังคุดอินทรีย์ที่ปลูกไปวางขายในตลาด ขณะที่แผงข้างๆ มีมังคุดจันทบุรี วางขายในราคาถูกกว่ามังคุดอินทรีย์ แต่ลูกค้ายังยอมควักกระเป๋าซื้อมังคุดอินทรีย์ของสวนตันเจริญ ในราคาที่แพงกว่า เพราะมังคุดอินทรีย์มีรสชาติหวานหอมอร่อยกว่าและไม่มีปัญหามังคุดเนื้อแก้ว เรียกว่า มังคุดอินทรีย์ สวนตันเจริญ กินอร่อยได้ทุกลูกนั่นเอง แถมลุงจิวยังกล้าการันตีคุณภาพสินค้า หากเจอมังคุดเนื้อแก้ว 1 ผล ยินดีเปลี่ยนลูกใหม่คืนให้ 2 ลูก ทันที เรียกว่าได้ใจลูกค้าแบบเต็มๆ

อีกหนึ่งเคล็บลับความอร่อยของมังคุดอินทรีย์ของสวนตันเจริญว่า เกิดจาก ต้นชะมวง จำนวน 3 ต้น ที่ปลูกแซมอยู่ในสวนแห่งนี้นั่นเอง ต้นชะมวง จัดอยู่ในวงศ์มังคุด ลูกชะมวงผลสุก สามารถใช้รับประทานได้ มีรสเปรี้ยวหวาน เมล็ดสุกก็คล้ายกับมังคุด เกษตรกรในประเทศฟิลิปปินส์นิยมใช้ชะมวง เป็นต้นตอสำหรับมังคุดอีกด้วย

ต้นชะมวงและต้นมังคุดมักติดดอกในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อผึ้งและชันโรงไปหาน้ำหวานออกหาอาหาร ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเกสรระหว่างต้นมะม่วงและต้นชะม่วงตามธรรมชาติ ส่งผลให้มังคุดอินทรีย์ของสวนตันเจริญมีรสชาติอร่อยกลมกล่อมกว่าสวนมังคุดทั่วไปนั่นเอง

ลุงจิว กับ ป้าบุญ นำผลผลิตหรือสินค้าไปขายที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ (ควายคะนอง)

ด้านการตลาด

ปัจจุบัน สวนตันเจริญมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี เช่น หมาก มะพร้าว เงาะ ลองกอง ทุเรียน มะยงชิด กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยเล็บมือนาง ส้มโอทองดี กล้วยตาก ข้าวกล้องอินทรีย์วิตามินสูง ทั้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล และข้าวหอมมะลิ หน่อไม้ดองน้ำเกลือ กรอบอร่อย มะนาวแป้นพิจิตรน้ำดี และเครื่องหวาย เกรด A ฝีมือดี งานประณีต จากกลุ่มเกษตรกร แวะชมและเลือกซื้อสินค้าได้ที่ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ (ควายคะนอง) ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันอังคาร เปิดร้านขายผลผลิตที่หน้า ธ.ก.ส. สระแก้ว วันศุกร์ เปิดขายสินค้าที่ ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว

ลุงจิว โชว์ทุเรียนอินทรีย์ของสวนตันเจริญ

นอกจากนี้ ลุงจิว ยังใช้เฟซบุ๊ก “สวนตันเจริญ” เป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าอีกทางหนึ่ง ผู้สนใจเยี่ยมชมสวน หรือสั่งซื้อสินค้าสวนตันเจริญ ติดต่อกับลุงจิวได้ที่เบอร์โทร. 089-233-7586

……………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2563