ราช กรุ๊ป ได้รับเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร ปี 2562 พร้อมก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

นนทบุรี – บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เดินหน้าบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งเตรียมพร้อมรับแนวทางการพัฒนาประเทศสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ”

ทั้งนี้ บริษัท ได้นำกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ ได้แก่ การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) เข้ามาใช้บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกภายในอาคารสำนักงาน และโรงไฟฟ้าหลักของบริษัท ส่งผลให้เมื่อเร็วๆ นี้ อาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท ที่จังหวัดนนทบุรี ได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าราชบุรีและโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้โลกก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่างๆ ในระดับที่ธรรมชาติสามารถดูดซับ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการบริโภคทรัพยากรที่เกินความจำเป็นและใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ตลอดจนดูแลรักษาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำเพื่อทดแทนเทคโนโลยีดั้งเดิม บริษัท ตระหนักและเตรียมพร้อมด้วยการลงทุนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้วางมาตรการการลดใช้ทรัพยากรและอนุรักษ์พลังงาน โดยเฉพาะในโรงไฟฟ้าหลักของเรา เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตและการดำเนินธุรกิจของบริษัท

“บริษัทได้นำกลไกการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรของ อบก. มาใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร เพื่อกำหนดแนวทางและวางแผนการบริหารจัดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการลดใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญทั้งในโรงไฟฟ้าและอาคารสำนักงาน อีกทั้งยังเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย และได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 3 โครงการ รวมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ 2,602 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีด้วย บริษัทมีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะเป็นพลังร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างเต็มความสามารถ” นายกิจจา กล่าว

ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท ที่ได้รับการรับรอง ในปี 2562 เท่ากับ 1,153 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดลง 2.5% จากปี 2561 อันเป็นผลจากมาตรการอนุรักษ์พลังงานและลดการใช้ไฟฟ้าที่ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สำหรับโรงไฟฟ้าราชบุรีซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 3,645 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ กำลังการผลิตติดตั้ง 720 เมกะวัตต์ นั้น มีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่ากับ 5,225,436 และ 98,606 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตามลำดับ

โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าราชบุรียังมีโครงการ T-VER ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อบก. 3 โครงการ ประกอบด้วย

  • โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างเป็นหลอด LED ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 771 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการ 7 ปี (1 กรกฎาคม 2560 ถึง 30 มิถุนายน 2567)
  • โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ (Solar Floating) ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้1,774 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการ 7 ปี นับตั้งแต่เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในปีนี้
  • โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืนโรงไฟฟ้าราชบุรี ลด/ดูดกลับปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 57 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการ 20 ปี (1 กันยายน 2562 ถึง 31 สิงหาคม 2582)