มะรุม มะค้อนก้อม ผักมีคุณค่า เป็นยาดี

ตามประสาชาวบ้านอย่างเราๆ ไม่ได้เห่อตามกระแสสังคม ในการเสาะหาของกินเพื่อสุขภาพ แต่เป็นอุปนิสัยพื้นเพเดิมของเราเองที่หาอะไรกินแบบบ้านๆ กระแสสังคมตามมาวิจัย ค้นคว้า และจัดให้อาหารพื้นบ้านว่า เป็นกลุ่มอาหารสุขภาพ เผยแพร่แนะนำให้คนทั่วไปรู้ถึงประโยชน์ และคุณค่าของอาหารพื้นบ้านของเรา จนเกิดเป็นกระแสนิยมขึ้นมา โดยเฉพาะอาหารที่มาจากพืช ที่นิยมเรียกกันว่าผัก ที่มีมากกว่า 200 ชนิด ที่เป็นผักพื้นบ้าน นิยมนำมาทำเป็นอาหาร โดยเคียงคู่กับอาหารหลัก คือ ข้าว บ้างเรียกว่า “กับข้าว” ถ้าจัดการปรุงแต่ง มีกับข้าวหลายๆ อย่าง ตั้งวงเพื่อร่วมกินกัน เรียก “สำรับกับข้าว” เช่นบรรยากาศเวลานี้ “แกงส้มมะรุม” เป็นหนึ่งในสำรับกับข้าวที่นิยมกันทั่วทุกภาคเลยเชียว

“มะรุม” เป็นพืชผักพื้นบ้านที่ปลูกกันแพร่หลายทั่วไป การปลูกมะรุมไว้ที่บ้าน เมื่อก่อนโบราณเขาถือ เชื่อว่าถ้าปลูกจะเกิดปัญหาวุ่นวาย ความยุ่งยากมารุมมาตุ้ม จึงนำไปปลูกไว้นอกรั้ว สมัยนี้เห็นมีปลูกกันในบ้านเยอะแยะ เป็นไม้ที่มีเสน่ห์มาก เพราะคนทั่วไปรู้คุณค่า คุณประโยชน์ที่มีมากมายในมะรุม บ้านเราตอนนี้ มีผักพื้นบ้านหลายชนิดที่ชาวบ้านได้เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของพืชผักต่างๆ มาอย่างแท้จริง มีการใช้ประโยชน์จากผักมากมายหลายมิติ ทั้งทางนิเวศและวัฒนธรรม  ด้านอาหาร ด้านยารักษาโรค ด้านประโยชน์ใช้สอย ด้านประเพณีพิธีกรรมความเชื่อ และด้านเศรษฐกิจ สิ่งแรกที่มนุษย์ให้ความสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องอาหารการกิน เรื่องกินเรื่องใหญ่ มนุษย์อยู่รอดทุกวันนี้เจริญเติบใหญ่ ก็เพราะกินอาหาร พืชผักถูกใช้ปรุงเป็นอาหาร หรือกินสดๆ เมื่อกินเข้าไปในร่างกายก็จะเกิดประโยชน์ทางโภชนาการเป็นยาสมุนไพร ให้ใยอาหาร เป็นต้น

“มะรุม” เป็นพืชผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย มีมากที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา แถบอาเซียน มีไปจนถึงแถบเอเชียไมเนอร์ และแอฟริกา เป็นไม้ที่ปลูกง่ายในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และปักชำกิ่ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดกลมและโปร่ง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดที่แตกใบย่อย 3 ชั้น ยาว 20-40 เซนติเมตร ออกเรียงสลับใบย่อย ยาว 1-3 เซนติเมตร รูปไข่ ปลายใบและฐานใบมน ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่า ใบอ่อนมีขนเล็กน้อย ดอก ออกเป็นช่อสีขาว ออกซอกกิ่ง และยอด กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบแยกกัน ผล เป็นฝักยาว เปลือกสีเขียว มีส่วนคอดและส่วนมนเป็นระยะๆ ตามความยาวของฝัก คล้ายข้อปล้อง ยาว 20-50 เซนติเมตร  เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยม มีปีกบางหุ้ม 3 ปีก เส้นผ่าศูนย์กลางเมล็ดประมาณครึ่งถึง 1 เซนติเมตร เมล็ดเปลือกบาง กรอบ

มะรุม เป็นไม้ในวงศ์ MORINAGACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Moringa oleifera lamk มีชื่อท้องถิ่นต่างๆ ภาคเหนือ เรียก ผักอีฮึม ผักอีฮุม มะค้อนก้อม ภาคอีสาน เรียก ผักอีฮุม บักอีฮุม มักรุม ภาคใต้ ภาคกลาง เรียก มะรุม กะเหรี่ยงเมืองกาญจน์ เรียก กาแน้งดิน และเขมร เรียก มะรุม ส่วนใหญ่ที่นำมาปลูกกัน ก็เสาะหาต้นกล้า หรือเมล็ดจากต้นที่มีฝักใหญ่ๆ ยาวๆ  มาปลูก แบบทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ติดโตเป็นต้นให้ยอดให้ดอกผล เป็นไม้โตเร็ว ใช้เป็นไม้พรางแสงสำหรับต้นพืชอื่น เช่น ปลูกผักหวานป่าได้ดีมาก ใบ เป็นประโยชน์บำรุงดินให้ดีด้วย และเดี๋ยวนี้ยังมีมะรุมพันธุ์เตี้ยมาให้ปลูกกันด้วย พันธุ์เกษตร 1 ต้นเตี้ยๆ เด็ดยอดมาต้ม แกง ฝักอ่อนนำมาจิ้มน้ำพริกได้ง่าย เขาว่าเมล็ดแก่มะรุมกินวันละ 1-2  เม็ดก่อนนอน ช่วยให้ตอนเช้าขับถ่ายได้ดีสม่ำเสมอ ฝักมะรุม 100 กรัม ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี เส้นใย 1.2 กรัม แคลเซียม 9 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม เหล็ก 1.5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 532  iu. วิตามินบีหนึ่ง 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.05 มิลลิกรัม ไนอะซีน 0.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 262 มิลลิกรัม

ประโยชน์ทางอาหาร ยอดอ่อน ดอกอ่อน ฝักแก่ และฝักอ่อน ใช้เป็นผักได้ ออกในช่วงต้นหนาวถึงกลางหนาว คนไทยทุกภาคนิยมรับประทานมะรุมเป็นผัก ภาคกลางนิยมเอาฝักอ่อนไปแกงส้ม ดอกมะรุม ลวกให้สุกหรือดองกินกับน้ำพริก ชาวอีสาน เรียก บักอีฮุม เอายอดอ่อน ใบอ่อน ช่ออ่อน นำไปลวกให้สุกหรือต้มเป็นผักกินร่วมกับป่น แจ่ว ลาบ ก้อย หรือปรุงเป็นแกงอ่อม ฝักอ่อนและฝักที่ไม่แก่เต็มที่ นำมาปอกเปลือกหั่นเป็นท่อนปรุงแกงส้มหรือแกงลาว ชาวเหนือ เรียก ผักอีฮุม, มะค้อนก้อม นำฝักอ่อน ดอกอ่อน ฝักแก่นำมาปอกเปลือกและเส้นทั่วฝักออก เหลือเนื้ออ่อนกับเมล็ดอ่อน แกงใส่ปลา บางที่เอาฝักอ่อนไปเป็นผักแกล้มส้มตำแทนถั่วฝักยาว

มะรุมเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นยาดี ดอกมะรุมมีรสขม หวานมันเล็กน้อย เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ ฝักรสหวาน แก้ไข้ ใช้รักษาโรคขาดสารอาหาร เด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบ ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยควบคุมความดันโลหิตสูงให้อยู่ในภาวะปกติ ช่วยเพิ่มเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายคนปกติ ช่วยบรรเทาอาการปวดบวมของโรคเก๊าต์ โรคไขข้อ  กระดูกอักเสบ โรครูมาติซัม รักษาโรคภูมิแพ้โรคทางเดินหายใจอักเสบ หอบหืด บำรุงกระดูกสำหรับคนที่กระดูกเสื่อม และกระดูกหักให้หายเร็ว โรคคอหอยพอก และโรคตับ

ราก มีรสเผ็ด หวาน ขม สรรพคุณแก้อาการบวม บำรุงไฟธาตุ เปลือกต้น รสร้อน ขับลมลำไส้ ทำให้ผายลม หรือเรอ คุมธาตุอ่อนๆ แก้ลมอัมพาต ใบมะรุม แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อักเสบ แก้แผลอักเสบ ฝักมะรุม รสหวาน แก้ไข้ ดอกเป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ ขับน้ำตา เมล็ดสดคั้นจะให้น้ำมัน นำไปปรุงอาหาร หรือทำเครื่องสำอาง ปรุงเป็นยาแก้ไข้ แก้บวม แก้ปวดตามข้อ เป็นยาหม่องนวดหัวเข่า ปวดเข่า ปวดข้อ

มะรุม มะค้อนก้อม ผักอีฮุม ชื่อนี้มีมนต์ให้หลงใหล ชวนให้อยากใกล้ชิดสัมผัส คุณประโยชน์มากมายเหลือคณานับ เป็นพืชผักสมุนไพรที่มีหลายคนนำมาปรับปรุง สกัดเอาสารที่ดีออกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ แนะนำให้ใช้ประโยชน์ สำหรับเราชาวบ้านใช้เป็นอาหาร เป็นยากันแบบเพรียวๆ ดูดีมากแล้ว และเชื่อว่า ณ เวลานี้ คงจะมีหลายคนให้ความสนใจ เสาะหากล้าพันธุ์มะรุมมาปลูก เรามาช่วยกัน มารุมมาตุ้ม ปลูกกันคนละต้น เป็นประโยชน์กับเรานับสิบนับร้อยเท่า

…………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2563


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354