นักวิจัย เจ๋ง คิดค้นเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพ ราคาถูกสำหรับชุมชน

“ตัวเครื่องมีขนาดเล็กกะทัดรัด เคลื่อนย้ายสะดวก เหมาะกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนชุมชน ใช้งานได้ง่าย โดยแผ่นอัดที่ได้จากเครื่องนี้มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. เหมือนกับแผ่นไม้อัดทั่วไป ที่สำคัญราคาถูกกว่าท้องตลาด”

ดร.ประชุม คำพุฒ นักวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษา เครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำ เล่าถึงข้อดีของเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำ โดยเป็นผลงานร่วมระหว่างอาจารย์และนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ประกอบด้วย คุณธนะชัย เดชสิมา คุณอมรฤทธิ์ บุญเรือง คุณพงศธร ยิ้มเจริญ คุณปฏิภาณ พิทักษ์พงศ์ คุณธีรภัทร์ การกลจักร และ คุณณัฐพงศ์ เหล้าผอม

คณะทำงาน

โดย ดร.ประชุม เล่าว่า เครื่องอัดแผ่นวัสดุ หรือที่รู้จักกันคือ เครื่องอัดไม้พาร์ติเคิลบอร์ด ซึ่งที่วางขายในท้องตลาดมีราคาสูงมาก โดยราคาตั้งแต่ 500,000 บาท ขึ้นไปจนถึงหลายล้านบาท เนื่องจากเป็นการอัดร้อนแบบไฮดรอลิกอัตโนมัติ “ทำให้ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถสั่งซื้อไปใช้งานเพื่อเป็นเครื่องจักรในการผลิตไม้อัดจากเศษชิ้นไม้หรือวัสดุต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้” จึงได้คิดค้นและพัฒนาเครื่องอัดไม้พาร์ติเคิลบอร์ด ให้มีราคาที่ถูกลง โดยมีราคาเครื่องละไม่เกิน 100,000 บาท

แต่คุณสมบัติของชิ้นงานที่ดีเทียบเท่ากับเครื่องราคาแพง อีกทั้งสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม เรื่องแผ่นชิ้นไม้อัด ซึ่งหลักการทำงานของเครื่องคือ การใช้ความร้อนจากฮีตเตอร์ที่ติดกับฝาบนและฝาล่างของแท่นเครื่องอัด เพื่อให้ความร้อนกับชิ้นงานที่ทำการอัดแผ่นชีวภาพ ตั้งค่าแรงดัน และอุณหภูมิในการอัดขึ้นรูป ได้ตามความต้องการใช้งาน ในการอัดแผ่นทำได้โดยใช้ไฮดรอลิกแบบมือโยก ทำการอัดขึ้นรูปชิ้นงานแผ่นอัดชีวภาพจากเศษวัสดุบดย่อยผสมกับกาวตามอัตราส่วนและอุณหภูมิที่กำหนดไว้ แผ่นอัดชีวภาพเมื่อนำออกจากเครื่องแล้วนำไปผึ่งชิ้นงานไว้ในสภาพปกติให้อากาศถ่ายเทเป็นเวลา 1 วัน สามารถนำแผ่นอัดชีวภาพไปใช้งานได้

เครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำ

“จุดเด่นที่แตกต่างจากเครื่องที่มีอยู่แล้วคือ มีขนาดเล็ก กะทัดรัด น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้สะดวก เหมาะสำหรับชุมชน การบำรุงรักษามีราคาถูก ซ่อมง่ายโดยช่างทั่วไปในชุมชน ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้แรงอัดที่สูงกว่าเครื่องอัดปกติถึง 3 เท่า เนื่องจากใช้ไฮดรอลิกแบบเฉพาะ โดยให้แรงคงที่ควบคุมความเร็วได้ตลอดอย่างสม่ำเสมอด้วยแรงงานคน ลดภาระการใช้ไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 20”

ย้ายสะดวก

ชิ้นงานที่ได้จากเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพนี้ มีผิวเรียบและแน่น เนื่องจากอัดด้วยแรงสูงถึง 60 ตัน สามารถเพิ่มความหนาแน่นให้สูงขึ้นได้ สามารถออกแบบให้ชิ้นงานมีความหนาได้มากกว่า 7 เซนติเมตร ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้อัดเส้นใยธรรมชาติเป็นวัสดุฉนวนป้องกันความร้อนได้ โดยในการวิจัยครั้งนี้ได้ทดลองกับวัสดุชีวภาพ ได้แก่ การพัฒนาแผ่นพาร์ติเคิลบอร์ดจากแกนกัญชง และแผ่นพาร์ติเคิลบอร์ดจากก้านยาสูบ โดยผ่านการทดสอบมาตรฐานของไม้อัด มอก.876-2547 นำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง ตกแต่ง หรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์ที่สูงสุด

ทำได้ปริมาณที่แน่นอน

จากการคิดค้นและวิจัยเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำนี้ ทำให้ชุมชนสามารถมีงบประมาณในการซื้อเครื่องจักรไปผลิตเป็นแผ่นไม้พาร์ติเคิลเพื่อใช้สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศษวัสดุเหลือทิ้งภายในชุมชน เช่น วัสดุตกแต่งอาคาร เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ หรือวัสดุอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร เป็นต้น ชุมชนจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตชุมชนดีขึ้น ตลอดจน ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ภาครัฐ ชุมชน วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นำเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำไปใช้ประโยชน์ผลิตแผ่นอัดวัสดุชีวภาพ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างรายได้ ลดการใช้พลังงาน มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ ผู้สนใจเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำต้นแบบ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและชมเครื่องจักรได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยอาจารย์ยินดีให้บริการวิชาการแก่อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปได้นำไปใช้ประโยชน์

ผลงาน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.ประชุม คำพุฒ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา โทร. (02) 549-3410 หรือ Facebook “หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”