ก้าวสู่ปีที่ 15 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์พลิกโฉม ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์พัฒนาสินค้าเกษตร-อาหารพื้นบ้าน

ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 15 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ พลิกโฉม ใช้งานวิจัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ช่วยยกระดับสินค้าเกษตร-ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หนุนฉายรังสีอาหารพื้นบ้าน ยกระดับสินค้าสู่มาตรฐานและความปลอดภัย พุ่งเป้านำสินค้าขึ้นห้าง-ส่งออก เร่งสร้างฐานข้อมูลอัตลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทย ป้องกันการปลอมปน เตรียมขยายฐานสู่ภูมิภาคหวังให้บริการเข้าถึงชุมชน ตั้งเป้า 4 ปีข้างหน้า สร้างมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการ 25,000 ล้านบาท

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า การก้าวสู่ปีที่ 15 จะเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ท้าทายมากสำหรับสถาบัน เราต้องการที่จะเป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของวิชาการ เรื่องของความสามารถในการให้บริการที่ตอบโจทย์กับประเทศและสังคม สทน. ตั้งเป้าหมายใน 3 ส่วน เรื่องแรกคือ การวิจัยและพัฒนา ตั้งเป้าไว้ว่าในช่วง 5 ปี ข้างหน้า สทน. จะต้องเป็นหน่วยงานชั้นนำด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพราะในช่วง 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนิวเคลียร์ของประเทศเกิดขึ้น 2 โครงการ ที่จะช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาและการให้บริการในด้านต่างๆ เช่น เครื่องไซโคลตรอน ขนาด 30 MeV ที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ การตรวจวินิจฉัยโรค การผลิตสารเภสัชรังสีชนิดใหม่ๆ ที่ในอดีตเราไม่สามารถผลิตได้ การวิจัยและพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยลดมูลค่าการพึ่งพาจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก ส่วนที่สองคือ เครื่องโทคาแมค เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ประเทศไทยเตรียมไว้สำหรับอนาคต นี่คือโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมให้กับประเทศเพื่อที่จะให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

สำหรับงานวิจัยและพัฒนา จะเร่งรัดให้มีงานวิจัยที่นำเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น และตอบโจทย์ของปัญหาสังคมในปัจจุบันให้ชัดเจนมากขึ้น ตัวอย่างของภารกิจที่จะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คือ เรื่องของอาหารและการเกษตร เป็นเรื่องสำคัญที่ สทน. จะต้องยกระดับให้เป็นรูปธรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของเกษตรและอาหารสู่ชุมชนให้ได้ ไม่ใช่ตอบโจทย์เฉพาะภาคอุสาหกรรม แต่ต้องตอบโจทย์ในกลุ่มของ เอสเอ็มอี ชุมชน และรายย่อยให้ได้ ตัวอย่างเช่น อาหารพื้นบ้านซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายอยู่เป็นจำนวนมาก แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค เช่น ไส้อั่ว น้ำบูดู ฯลฯ เพื่อยกระดับมาตรฐานของอาหาร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค ถูกสุขลักษณะมากยิ่งขึ้น มีอายุการเก็บรักษายาวนานขึ้น โดยจะทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ราชภัฏ ราชมงคล และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ให้ช่วยเก็บข้อมูลปัญหา เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปขายในห้างสรรพสินค้า หรือส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารพื้นบ้าน สทน. จะดันให้ขึ้นมาเป็นตัวชูโรง ขณะนี้ได้มีการติดต่อพูดคุยกับผู้ประกอบการบ้างแล้ว เช่น คุยกับผู้ผลิตเพื่อนำปูดองมาฉายรังสี นอกจากนี้ จะคุยกับกลุ่มเอสเอ็มอีเพื่อนำอาหารให้เข้ามาทดลองมากขึ้น

ในส่วนของพืชผลทางการเกษตร สทน. พยายามจะนำเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ในด้านนี้ให้มากขึ้น เช่น เรื่องของการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ตั้งแต่เรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะพยายามตอบโจทย์ให้สมบูรณ์แบบและครบวงจร ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ดเกี่ยวกับการสร้างฐานข้อมูลเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ผ่านมามักจะมีการปลอมปนและนำข้าวจากแหล่งอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะทำให้ขายข้าวได้ในราคาสูงขึ้น ถึงแม้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จะถูกขึ้นทะเบียนว่าเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ (Geographical Indication) แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีวิธีพิสูจน์ที่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สทน. จึงร่วมกับสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ดรวบรวมตัวอย่างข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ แล้วนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุในข้าวตัวอย่างด้วยวิธีการของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สร้างเป็นฐานข้อมูลข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะข้าวในแต่ละพื้นที่จะมีองค์ประกอบของธาตุแตกต่างกันไปตามสภาพของดิน ดังนั้น หากมีการนำข้าวอื่นมาปลอมปน หรือแอบอ้าง เราจะสามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้หรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่ทำไว้

ขณะนี้ได้เก็บรวบรวมตัวอย่างข้าว และวิเคราะห์ข้อมูลมาในระดับหนึ่งแล้ว จนสามารถยืนยันความแตกต่างของข้าวจากภาคเหนือและภาคอีสานได้ แต่สำหรับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปี ในการรวบรวมตัวอย่าง สร้างเป็นฐานข้อมูลที่จะนำไปสู่ความมั่นใจในการตัดสินใจ ถึงตอนนั้น สทน. ก็จะสามารถเปิดให้บริการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ของข้าวได้ หากดำเนินการเป็นผลสำเร็จ วิธีการนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์จะใช้ยืนยันว่าเป็นข้าวหอมมะลิจริงหรือไม่ หรือใช้เป็นเครื่องมือฟ้องร้องในกรณีที่มีคนมาแอบอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย และที่สำคัญ จะเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการของไทยที่จะไปต่อสู้บนเวทีโลก เมื่อเรานำสินค้าของเราไปแข่งขันในต่างประเทศ อีกทั้งเป็นสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับให้แก่เกษตรกรไทย

หลังจากที่ สทน. สร้างฐานข้อมูลข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นผลสำเร็จ ก็จะขยายขอบข่ายการดำเนินงานไปสู่ข้าวหอมมะลิตัวอื่นที่มีบทบาทสำคัญในการส่งออก และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้เก็บฐานข้อมูลของกาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง และที่กำลังให้ความสนใจสร้างฐานข้อมูลอีกชนิดหนึ่งคือ ข้าวสังข์หยด

​สำหรับการให้บริการของ สทน. รศ.ดร.ธวัชชัย ให้ความเห็นว่า จากการสำรวจในปีที่ผ่านมา บริการด้านต่างๆ ที่ สทน. เปิดให้บริการ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้ถึง 16,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นมูลค่าที่เกิดจากการบริการที่ สทน. ให้ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการนำสิ่งเหล่านี้ส่งออกไปต่างประเทศ ใช้งานจริง ไปสร้างเป็นเม็ดเงินให้กับประเทศ ในอีก 4 ปีข้างหน้า

สทน. ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการให้บริการอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี และเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคได้มีโอกาสเข้าถึงบริการ สทน. จึงมีแนวคิดขยายการดำเนินงานและการให้บริการของ สทน. ออกไปสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะไปตั้งในเขตอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ 3 แห่ง ใน 3 ภูมิภาค คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และพังงา หากมีความเหมาะสมในเชิงเศรษฐกิจ ก็จะขยายโดยนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การฉายรังสี และเทคโนโลยีอื่นๆ ออกไปให้บริการแก่ผู้ประกอบการในภูมิภาค คาดว่าแต่ละศูนย์น่าจะใช้งบดำเนินการประมาณ 300-400 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

​รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า “การก้าวสู่ปีที่ 15 ก็จะเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ท้าทายมากสำหรับสถาบัน เราต้องการที่จะเป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของวิชาการ เรื่องของความสามารถในการให้บริการที่ตอบโจทย์กับประเทศและสังคม และที่สำคัญ ต้องการที่จะเป็นองค์กรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพราะฉะนั้น ปีที่ 15 ของเรา เราจะก้าวไปข้างหน้า มีความเข้มแข็งมากขึ้นทั้งทางด้านวิชาการ ด้านการบริการและการบริการจัดการภายในองค์กรของเรา”