กรมอนามัย แนะเทคนิคช่วยนอนหลับ

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม นพ. วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วันที่ 17 มีนาคม สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก กำหนดให้เป็นวันนอนหลับโลก เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับ เนื่องจากการนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้พักผ่อน เป็นช่วงเวลาที่เกิดการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ปรับสมดุลของสารเคมีต่างๆ ในร่างกาย หากนอนหลับไม่เพียงพอก็จะก่อให้เกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท การคิด ความจำ และอาจสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

นพ. วชิระ กล่าวต่อว่า เทคนิคที่ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นนั้น ได้แก่ 1. ออกกำลังกายช่วงเย็นอย่างน้อย 30 นาที หรือ 4-6 ชั่วโมง ก่อนนอน 2. กินกล้วยหอม เพราะผิวของกล้วยหอมมีฤทธิ์เหมือนยานอนหลับ กินแล้วจะช่วยคลายเครียด คลายกังวล 3. หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน 4 ชั่วโมง เพราะร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในการย่อยอาหาร 4. หลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นประสาททุกชนิด 4-6 ชั่วโมง ก่อนเวลาเข้านอน 5. อาบน้ำอุ่น เดินช้าๆ ไปมา หรือนั่งสมาธิ และไม่ควรทำกิจกรรมที่กระตุ้นร่างกายและสมองไปจนถึงเวลาเข้านอน

  1. 6. กำจัดสิ่งรบกวนด้วยการปิดไฟ โทรทัศน์ โทรศัพท์ แต่อาจเปิดเพลงเบาๆ ได้ เลี่ยงการสูบบุหรี่ 8. เข้านอนให้เป็นเวลา ไม่ควรนอนดึกมาก ควรเข้านอนเวลาประมาณ 21.00-23.00 น. และปฏิบัติให้เป็นประจำ 9. เข้านอนเมื่อร่างกายพร้อมที่จะนอน คือเมื่อรู้สึกง่วงและไม่ได้อยู่ในภาวะตึงเครียด อย่าพยายามฝืนนอนหากไม่ง่วง ทั้งนี้ วัยแรกเกิด ควรนอน 14-17 ชั่วโมง วัยทารก ควรนอน 12-15 ชั่วโมง วัยเตาะแตะ ควรนอน 11-14 ชั่วโมง วัยก่อนเข้าเรียน ควรนอน 10-13 ชั่วโมง วัยเข้าโรงเรียน ควรนอน 9-11 ชั่วโมง วัยรุ่น ควรนอน 8-10 ชั่วโมง วัยผู้ใหญ่ ควรนอน 7-9 ชั่วโมง และวัยผู้สูงอายุ ควรนอน 7-8 ชั่วโมง

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน