วว. ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน Shared service วทน. เสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศ หนุนศักยภาพ OTOP SMEs  เพิ่มรายได้ ยกระดับชุมชน

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Shared service มุ่งเสริมศักยภาพ เพิ่มรายได้ OTOP SMEs สู่การยกระดับชุมชน ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานกระบวนการผลิตด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องสำอาง ในพื้นที่ 7 จังหวัดของไทย

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. เป็นองค์กรที่สามารถประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยมีบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ และการบริหารจัดการที่ทันสมัย มีธรรมาภิบาล ภายใต้การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมุ่งใช้ วทน. เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

วว. นำองค์ความรู้ วทน. ไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ และพัฒนาในระดับชุมชนหรือท้องถิ่น และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับกระบวนการยกระดับมาตรฐานผลผลิตการเกษตรเพื่อการส่งออก และการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดหรือของภูมิภาคนั้นๆ เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และช่วยลดความเสี่ยงให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในระยะแรกของการทำตลาด และยังไม่มีความพร้อมในการลงทุนด้านสถานที่ผลิตหรือโครงสร้างพื้นฐานด้วยตนเอง

ICPIM จุลินทรีย์ ปทุมธานี

“…วทน. แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ STI for Total Solution เป็นยุทธศาสตร์ของ วว.ที่มุ่งดำเนินงานผ่านการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Shared  service ครอบคลุม 7 จังหวัดในประเทศ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี แพร่ ลำพูน น่าน ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา โดย วว. ได้พัฒนาเทคโนโลยี พร้อมให้บริการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยงานวิจัยและยกระดับการผลิตหรือทดลองผลิตเพื่อทดลองตลาด ก่อนยกระดับสู่เชิงพาณิชย์แก่ประชาชนหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้ง OTOP และ SMEs ตลอดจนเกษตรกร

ในการดำเนินงานภายใต้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว วว. มุ่งให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนา เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องการเพิ่มมูลค่า หรือมีความต้องการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ การรับฟัง แนวความคิดของผู้ประกอบการ (idea) การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและแก้ไขปัญหา (prototype & solution) การบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ การขยายขนาดการผลิตจากห้องทดลองสู่ระดับการผลิตจริง (scale up) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้า (product & management system) ตลอดจนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ (commercialization) ทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน เป็นต้น …” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช น่าน

โครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Shared service ที่ วว. ดำเนินการ และเปิดให้บริการ มีดังนี้

ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุสับปะรดเพื่อการส่งออก เป็นโรงงานต้นแบบในการผลิตสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก และโรงคัดบรรจุผลสดทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตมาตรฐานครบวงจร ตั้งอยู่ที่ ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก เป็นโรงงานต้นแบบเพื่อยืดอายุลำไยโดยวิธีการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อการส่งออก ตั้งอยู่ที่ ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารแปรรูป ดำเนินงานรองรับผู้ประกอบการในการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มจากสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation & Service Plant : FISP) ดำเนินงานสายการผลิต การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มเชิงอุตสาหกรรม ให้บริการลูกค้า SMEs และ OTOP ตั้งอยู่ที่ วว. เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง  จังหวัดปทุมธานี

ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (Innovative Center for Production of Industrially used microorganisms : ICPIM) ดำเนินงานด้านสายการผลิตเชื้อจุลินทรีย์เชิงอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ที่ วว. เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

โรงงานสกัดระดับชุมชนและระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นโรงงานต้นแบบการสกัด และโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน และศูนย์อนุรักษ์พรรณพืช ตั้งอยู่ที่ ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอ      ภูเพียง จังหวัดน่าน

โรงงานบริการนวัตกรรมอาหารระยอง ดำเนินงานรองรับผู้ประกอบการในการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มจากสินค้าเกษตรในพื้นที่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

โรงงานบริการนวัตกรรมอาหารสงขลา ดำเนินงานรองรับผู้ประกอบการในการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มจากสินค้าเกษตรในพื้นที่  ตั้งอยู่ที่ ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน Share service  วว. หรือขอรับคำแนะปรึกษา การเข้ารับบริการ วทน. จาก วว. ได้ที่ โทร. (02) 577-9000 Call center (02) 577-9300 โทรสาร (02) 577-9009 อี-เมล :  [email protected]