ข้าว GAP บนแผ่นดินพระราชทานที่อยุธยา ก้าวที่กล้าของ นพดล สว่างญาติ

นพดล สว่างญาติ

เพราะกล้าที่จะเปลี่ยน จึงทำให้ก้าวชีวิตของ นพดล สว่างญาติ อดีตวิศวกร ได้ก้าวมาสู่ความสำเร็จในการเป็นเกษตรกรชาวนาต้นแบบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม หรือ ส.ป.ก. พลิกฟื้นผืนนาบนแผ่นดินพระราชทาน จำนวน  19-1-49 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 13 หมู่ที่ 2 บ้านข้าวใหญ่ ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร. 08-7519-0999 ให้เป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพและปลอดภัย ภายใต้มาตรฐานรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี  หรือ Good Agricultural Practices : GAP ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 5 จังหวัด อันเป็นที่ตั้งของที่ดินพระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและการพัฒนาการเกษตร จึงทรงพระราชทานที่ดินให้กับเกษตรกร โดยมี ส.ป.ก. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการพร้อมทั้งขับเคลื่อนกิจกรรมสู่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินพระราชทาน ดำเนินการสืบสานพระปณิธานแผ่นดินของพ่อ เพื่อการพัฒนาศักยภาพผืนดินทำกิน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ ให้ความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ และเข้าถึงโอกาสทางเลือกในการเปลี่ยนอาชีพควบคู่กับการสนับสนุนการตลาด และปัจจัยพื้นฐาน ช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะพึ่งตนเองสร้างความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน

“  แต่ก่อนจริงๆแล้วครอบครัวผมนั้นไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่พอมาในรุ่นตาของผมนั้นถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมากที่ได้รับพระราชทานที่ดินผืนนี้มา หากไม่มีพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น ทุกวันนี้ครอบครัวผมคงไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเช่นทุกวันนี้

ความสุขของชีวิตบนที่ดินพระราชทาน

“สำหรับผมนั้นเรียนจบมาทางด้านวิศวะ และทำอาชีพเป็นวิศวกรอยู่หลายปีครับ จนวันหนึ่งผมมีความรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนชีวิต อยากกลับมาอยู่บ้าน เพื่อเริ่มต้นในสิ่งที่เป็นของเราเอง อีกทั้งจะได้นำแนวคิดความรู้ที่เรามีอยู่มาพัฒนาที่บ้านมาพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง จนทุกอย่างตกผลึกจึงตัดสินใจลาออกมา”

เมื่อกลับมายังบ้านเกิด นพดลได้มองเห็นว่า  อาชีพทำนาของที่บ้านที่ทำกันมาอย่างยาวนานบนผืนดินพระราชทานที่ครอบครัวได้รับมานั้นสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดได้มากกว่าที่เป็นอยู่

แปลงนาGAP

การเป็นเกษตรกรของนพดลจึงเริ่มต้นขึ้น เริ่มแรกเขาพลิกฟื้นผืนนาของครอบครัวก่อนตามเป้าหมายที่วางไว้ ที่เน้นการทำนาในรูปแบบของนาข้าวอินทรีย์ที่ปลอดภัยจากสารพิษ พร้อมควบคุมดูแลป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูข้าวด้วยสารชีวภัณฑ์เน้นการใช้นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาช่วย ภายใต้การสนับสนุนของส.ป.ก. ทั้งด้านแนวคิด องค์ความรู้ และแนวทางการบริหารจัดการต่าง ๆ  จนได้ผลผลิตข้าวมากกว่า 60 ถังต่อไร่

“ สิ่งที่ผมคิดในตอนนั้น คือ ทำอย่างไรให้เราอยู่ได้ และอยู่อย่างมีความสุข ไม่คิดถึงเรื่องที่จะต้องรวยหรือมีรายได้มากๆ เหมือนกับการทำงานในบริษัทเอกชนแบบที่ผ่านมา”

ที่ดินพระราชทาน สร้างชีวิต

“ ในการทำการเกษตร ผมเน้นเดินตามศาสตร์พระราชา ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหลักนำ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าเราควรเริ่มต้นอย่างไร และควรทำอย่างไรต่อไป และที่สำคัญคือ การสร้างภูมิคุ้มกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผมถือว่าเป็นหัวใจสำคัญเลยในการวางแผนเราต้องมีภูมิคุ้มมีการวางแผนรับมือ หากต้องเจอภาวะวิกฤตต้องทำอย่างไร แก้ไขอย่างไร ผมจะมองและวางแผนเตรียมไว้ล่วงหน้าครับ”

นพดล เล่าให้ฟังว่า ในการเริ่มต้นเป็นเกษตรกร เขาได้เริ่มจากการทำนาก่อนเพราะถือว่า เป็นกิจกรรมหลัก  พอสำเร็จตามเป้าหมายก็เริ่มขยายกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่เพิ่มขึ้น เป็นแนวทางเกษตรผสมผสานปลูกพืชทำกิจกรรมสารพัดอย่าง ที่สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว

“เพราะผมต้องการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งองค์ความรู้แนวคิดต่างๆนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ให้อย่างมากมาย เหลือเพียงแต่เรานำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเราเท่านั้น ตรงนี้ละครับที่จะเป็นจุดสำคัญในการทำให้เราสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย”

นพดล กล่าวต่อไปว่า อย่างในพื้นที่แห่งนี้ ผมได้นำหลักการตามพระราชดำริเข้ามาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ จากเดิมที่พื้นที่แห่งนี้มีการทำนาอย่างเดียว พอนำหลักการตามเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ามาปรับใช้ ผมจึงได้จัดแบ่งที่ดินใหม่ตามหลักการ โดยเฉพาะการเพิ่มในส่วนของแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร  และปรับพื้นที่บางส่วนปลูกไม้ผล พืชผักหลากชนิด

แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

“ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นเห็นได้ชัดเจนทีเดียวครับ อย่างตอนนี้พื้นที่รอบๆต้องประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ในพื้นที่ของผม ซึ่งได้มีการจัดทำแหล่งน้ำไว้แบบเพียงพอ ทำให้ไม่มีปัญหา มีน้ำใช้ทำการเกษตรอย่างเพียงพอ ผมคิดว่าถ้าทำตามหลักของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วเราจะผ่านพ้นและก้าวสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก  ” นพดลกล่าว

ด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่ อีกสิ่งที่เขามองว่า เป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรคือ การขาดด้านการตลาดรองรับ ดังนั้นการจะก้าวเดินให้ประสบความสำเร็จได้นั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องใช้หลักของการตลาดนำการผลิต และด้วยการสนับสนุนของส.ป.ก. ที่มุ่งมั่นการพัฒนาเกษตรกรด้วยการสร้างโอกาส  การเข้าถึงองค์ความรู้ การเข้าถึงระบบตลาด และ การเข้าถึงแหล่งทุน จึงนำมาซึ่งการสร้างความร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่และนำมาสู่การจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินช้างใหญ่ จํากัด ขึ้น

“ ตอนนี้เรื่องตลาดรองรับผลผลิตข้าวของเราไม่มีปัญหาแล้ว มีผู้ซื้อที่แน่นอนและต่อเนื่อง และรับซื้อในราคานำตลาดด้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเราใช้หลักตลาดนำการผลิต เน้นการผลิตข้าวที่มีคุณภาพและความปลอดภัยตรงกับความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ”

รวบรวมผลผลิตเพื่อส่งจำหน่าย
ผลผลิตจากนาพร้อมจำหน่าย

“ การที่จะสามารถยืนหยัดในตลาด และสามารถทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ การต้องผลิตข้าวที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ซึ่งการได้รับรองมาตรฐาน GAP นั้นถือเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจได้ว่า เขาได้กินข้าวที่ปลอดภัย ถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่สำคัญ และขณะที่ตัวชาวนาเองก็ทำนาด้วยความปลอดภัย ดังนั้นปลูกข้าว GAP เป็นสิ่งทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ทั่วกันหมด” นพดลกล่าวทิ้งท้าย

ไข่ไก่สดๆพร้อมจำหน่าย

ด้วยแนวทางการประกอบอาชีพที่เดินตามศาสตร์พระราชาของเกษตรกรผู้นี้ จึงนำมาซึ่งความสำเร็จและความมั่นคงในอาชีพ  นพดล สว่างญาติ คือ อีกหนึ่งต้นแบบของความสำเร็จในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมบนแผ่นดินพระราชทานด้วยศาสตร์ของพระราชาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่งนี้….