ราชมงคลสุวรรณภูมิ เพิ่มมูลค่าหลอดพลาสติก

ปัจจุบันขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ยังหาทางกำจัดให้หมดสิ้นไม่ได้ จากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ต้องร่วมมือกันในการกำจัดขยะให้ลดน้อยลง

จากปัญหาดังกล่าว อาจารย์นนทลี บุญทัด การุณยศิริ พร้อมทีมอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้นำนักศึกษา จัดโครงการอบรมส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอยในหมู่บ้านและชุมชน เปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน คือการนำหลอดพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์โดยประดิษฐ์เป็นหมอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ เพื่อลดปริมาณขยะจากหลอดพลาสติกในสถานศึกษา ชุมชน และสถานที่ต่างๆ

อาจารย์นนทลี บุญทัด การุณยศิริ สาขาวิชาการจัดการ-การจัดการทั่วไป คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาขยะนับว่าเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศที่มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากชุมชนและสถานประกอบการต่างๆ มีมากขึ้น สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้นั่นก็คือ ขยะที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะอันตราย และขยะรีไซเคิล ตนเองพร้อมด้วยอาจารย์และนักศึกษา สาขาวิชาการจัดการทั่วไป ได้เล็งเห็นความสาคัญของปัญหาขยะ จึงมีแนวคิดสร้างจิตสำนึกและวินัยในการจัดการขยะให้กับชุมชน ด้วยวิธีจัดการขยะด้วยวิธีง่ายๆ ลงพื้นที่จัดโครงการอบรมส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอย โดยใช้หลัก 3R ได้แก่ 1. Reduce (ใช้น้อยหรือลดการใช้) คือลดการใช้หลอดพลาสติก โดยหันมาใช้หลอดสแตนเลสหรือหลอดไม้ไผ่แทน 2. Reuse (การใช้ซ้ำ) คือการนำหลอดพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก โดยการดัดแปลงประดิษฐ์เป็นของใช้ต่างๆ 3. Recycle (การแปรรูปใช้ใหม่) หลอดพลาสติกเป็นขยะที่สามารถรีไซเคิลได้แต่เป็นปัญหาสำหรับเครื่องรีไซเคิลที่ไม่รองรับพลาสติกชนิดเล็ก ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงและสร้างการเผาผลาญมากกว่า จะไม่เป็นที่นิยมในการนำมารีไซเคิล ทางทีมงานจึงได้นำหลอดพลาสติกที่ใช้แล้วมา Reuse (การใช้ซ้ำ) คือการนำหลอดพลาสติกที่ใช้แล้วมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยดัดแปลงประดิษฐ์ เป็นหมอน แล้วนำไปใช้ประโยชน์มอบให้แก่ผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุในชุมชน  ช่วยลดการเกิดแผลกดทับของผู้ป่วยได้ นอกจากจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยแล้ว ยังส่งผลให้ปริมาณขยะจากหลอดพลาสติกในสถานศึกษา ชุมชน และสถานที่ต่างๆ ลดลงไปได้ในระดับหนึ่ง