ที่มา | คิดใหญ่แบบรายย่อย |
---|---|
ผู้เขียน | อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย |
เผยแพร่ |
สวัสดีครับ ผมเลยขอฝากพื้นที่ที่สามารถออกไปสูดโอโซน สัมผัสธรรมชาติต่างจังหวัด ชมดอกไม้ ชิมอาหารกลุ่มชาติพันธุ์หาความบันเทิงใจกันได้หลากหลายรูปแบบ เชิญร่วมเดินทางไปกับ คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ตามไปดูกันครับ
บ้านพุองกะ กับความหลากหลาย
พาท่านไปที่หมู่บ้านพุองกะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ที่บ้านพุองกะเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทั้งเรื่องของเชื้อชาติ วัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งการเกษตร ผมได้พบกับ ผู้ใหญ่มัทนา ศรอารา ผู้ใหญ่บ้านคนเก่งที่นำพาหมู่บ้านและชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างครับ ผู้ใหญ่มัทนา บอกว่า “บ้านพุองกะ มีลักษณะพิเศษ เนื่องด้วยเรื่องของเชื้อชาติที่บ้านพุองกะมีความหลากหลายชาติพันธุ์ มีทั้งชนชาติมอญ กะเหรี่ยง ไทย พม่า ญวน ส่วย ทวาย พวน อาศัยอยู่ร่วมกัน มีวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนาที่แตกต่างกัน แต่ก็มีประเพณีที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันด้วย คนที่บ้านพุองกะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แม้จะมีความแตกต่างแต่อยู่ร่วมกันได้” ส่วนชื่อของหมู่บ้านพุองกะนั้น ผู้ใหญ่มัทนา เล่าว่า “แรกเริ่มในพื้นที่หมู่บ้านมีชาวกะเหรี่ยงเข้ามาตั้งถิ่นฐาน มีหัวหน้ากลุ่มชื่อว่า นาย ‘องกะ’ และนายองกะได้ค้นพบพุน้ำ ซึ่งเป็นตาน้ำผุดที่มีน้ำตลอดปีของที่นี่เป็นคนแรก ชาวบ้านจึงให้เกียรติโดยการตั้งชื่อว่า ‘พุองกะ’ ซึ่งกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านมาถึงปัจจุบัน”
ชมสวนเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน
บ้านพุงองกะ มีกิจกรรมการท่องเที่ยวมากมาย ผมขออนุญาตเริ่มกันที่กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของชุมชนกันก่อนครับ ผู้ใหญ่มัทนา อาสาเป็นไกด์นำเที่ยว จุดแรกเราตามผู้ใหญ่ไปที่แปลงเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกหลายอย่างตามแบบสวนเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่ 3 ไร่ ที่มี ขนุน มะละกอ ทุเรียน เป็นไม้ประธาน แซมด้วย กล้วยไข่ กล้วยหอม แถมด้วยแปลงกุหลาบตัดดอกสำหรับร้อยมาลัยเป็นแถวตลอดทั้งพื้นที่ และยังแซมด้วยผักชนิดต่างๆ ทั้งมะเขือพวงไร้หนาม แปลงกระเทียม แปลงผักกาดเขียว ซึ่งเรียกได้ว่ามาสวนนี้สวนเดียวมีกับข้าวและผลไม้รับประทานกับครบทุกมื้อ ผู้ใหญ่มัทนา บอกว่า “ในหมู่บ้านพุองกะมีน้ำใช้ทั้งหมู่บ้าน ซึ่งเป็นน้ำที่ผุดขึ้นมาจากเขาหรือที่เรียกว่าพุ เรามีน้ำใช้ตลอดทั้งปี จึงสามารถทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี”
แปลงไม้ตัดดอกหมุนเวียนตลอดทั้งปี
ต่อมาผู้ใหญ่พาไปชมแปลงไม้ตัดดอกตามฤดูกาล ที่อยู่ในช่วงของการปลูกแอสเตอร์ แอสเตอร์จัดเป็นไม้ดอกที่มีลักษณะคล้ายดอกเบญจมาศมาก เพียงแต่มีขนาดดอกเล็กกว่า เรามักเรียกดอกแอสเตอร์หลายชื่อ เช่น ดอกบานไม่รู้โรยฝรั่ง และดอกกระดาษ เป็นต้น ผู้ใหญ่มัทนา บอกว่า “การปลูกแอสเตอร์ที่นี่ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ระยะปลูกระหว่างต้นและแถวประมาณ 25×25 เซนติเมตร ระหว่างที่ต้นแอสเตอร์ยังเล็ก การปลูกจะต้องมีการใส่ใจดูแล เพราะค่อนข้างยุ่งยาก ทั้งการกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย แต่เมื่อแอสเตอร์เติบโตแล้วก็จะง่ายขึ้น การเก็บเกี่ยวแอสเตอร์ไปจำหน่ายเป็นไม้ตัดดอก นิยมใช้วิธีถอนทั้งต้นโดยไม่มีการตัดรากทิ้ง ทำให้ดอกบานทนกว่า
ในแปลงนี้ขายทั้งดอกและต้นพันธุ์ขนาดเล็กเพื่อให้นักท่องเที่ยวเอาไปปลูกเองอีกด้วย” นอกจากแอสเตอร์แล้ว แกลดิโอลัส (Gladiolus) หรือดอกซ่อนกลิ่นฝรั่ง หรือดอกไม้แห่งคำมั่นสัญญาก็เป็นไม้ดอกอีกชนิดที่ปลูกในช่วงที่เก็บเกี่ยวแอสเตอร์หมดไปแล้ว “หลังเก็บเกี่ยวแอสเตอร์จนหมด เราก็จะเริ่มลงปลูกหัวพันธุ์แกลดิโอลัส ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และแกลดิโอลัสจะออกดอกหลังจากปลูกไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน จริงๆ แล้วการปลูกแกลดิโอลัสตามคำแนะนำของหน่วยงานต่างๆ เขาบอกว่า แกลดิโอลัส ปลูกได้ดีในพื้นที่สูง อากาศหนาวโดยเฉพาะในภาคเหนือ แต่ที่พุองกะก็สามารถปลูกแกลดิโอลัสได้ดี เพราะมีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี” ผู้ใหญ่มัทนา เล่าให้ฟัง
สะพานโชคดี เช็กอินกันได้ตลอดทั้งปี
ต่อมาผมตามผู้ใหญ่มัทนาไปที่วัดพุตะเคียน อีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวสำคัญของชุมชน ที่วัดนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านพุองกะทั้งไทย มอญ กะเหรี่ยง และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง เราขึ้นไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระธาตุอินแขวนจำลอง แล้วเดินมาขึ้นสะพานโชคดีที่ชาวบ้านพร้อมใจกันมาร่วมสร้าง ผู้ใหญ่มัทนา บอกว่า “ชาวบ้านพุองกะพร้อมใจกันสร้างให้สะพานแห่งนี้เป็นจุดถ่ายภาพสำคัญที่มีการปลูกไม้ดอกสวยงามเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและถ่ายภาพเช็กอินกันได้ตลอดทั้งปี นอกจากนั้น ในวัดพุตะเคียนยังมีเส้นทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังมีร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้ให้เยี่ยมชมกันด้วย”
สัมผัสประเพณี วัฒนธรรมไทย-มอญ
เนื่องจากมีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์มาอยู่ร่วมกัน บ้านพุองกะจึงมีประเพณีที่หลากหลาย อย่างประเพณีที่มีเฉพาะในท้องถิ่น เช่น ประเพณีทำบุญต้นน้ำ เป็นประเพณีที่ชาวบ้านสืบทอดต่อกันมาหลายสิบปี ตั้งแต่ค้นพบพุน้ำในหมู่บ้าน ซึ่งพุน้ำแห่งนี้เสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนทุกชีวิตในหมู่บ้านพุองกะมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ใหญ่มัทนา แนะนำว่า “ในหมู่บ้านพุองกะมีชาวมอญ ซึ่งต้องเรียกว่าพี่น้องไทยมอญ อาศัยอยู่เยอะ คนที่มาเที่ยว มาเยี่ยมเยียนบ้านพุองกะจึงจะได้ไปสัมผัสวิถีชาวมอญท้องถิ่นซึ่งมีประเพณีต่างๆ ตลอดทั้งปี อย่างเช่น ประเพณีทุคคตะทาน ออกเสียงอย่างมอญว่า “ตุ๊กกะตะต่าน” เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับชาวบ้านที่ต้องการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านตนเอง แสดงความประสงค์ เขียนชื่อตนลงสลากร่วมกับชาวบ้าน แล้วนิมนต์พระสงฆ์จับสลาก เมื่อถึงวันนัดหมายก็จะมารับพระสงฆ์จากวัดไปสวดมนต์ฉันเพลเรียงไปตามลำดับในสลาก เป็นการตัดปัญหาพระสงฆ์อาจรับนิมนต์เฉพาะบ้านผู้มีอันจะกิน อุบายนี้ทำให้ทั้งคนรวยคนจนมีโอกาสทำบุญเสมอกัน
“ประเพณีเทินหม้อ” จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม เพื่อเป็นการทำบุญเสริมบารมีให้ตัวเองทั้งในชาตินี้และชาติหน้า โดยผู้หญิงจะนำหม้อดินบรรจุน้ำขึ้นเทินบนศีรษะและร่ายรำกันอย่างสนุกสนานและสวยงาม
ประเพณีบุญหม้อนิธิ เดือน 9 สิงหาคม เป็นเดือนแห่งการเก็บทรัพย์ มีประเพณีบุญหม้อนิธิ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะทำบุญด้วยการถวายหม้อนิธิ คือ บรรจุวัตถุทาน ตามแต่ต้องการจะถวายพระลงในหม้อ เพื่อเป็นการฝังขุมทรัพย์ คือบุญนี้ไว้เพื่อตนจะได้ใช้ในสัมปรายภพ ผลบุญที่ทำไว้นี้จะส่งผลให้ได้ความสุขกาย สุขใจ
ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาเทวดา ด้วยการต่อเรือจากลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ สำหรับร่วมสะเดาะเคราะห์เพื่อต่ออายุและจุดเทียนอธิษฐานขอให้สิ่งไม่ดีหลุดพ้นไปจากชีวิตของผู้ร่วมทำบุญ พร้อมเครื่องเซ่นไหว้คาวหวานทั้ง 9 อย่าง มาลงเรือ เพื่อนำไปลอยกับเรือ”
อาหารหลากวัฒนธรรม
ผู้ใหญ่มัทนา เล่าว่า อาหารที่นี่เป็นอาหารพื้นถิ่นที่มีความโดดเด่นมาก มีทั้ง หมูร้า ห่อหมกมอญ ขนมจีนหยวกกล้วย ข้าวมันมะพร้าว ผักหวานป่า แกงมัสหร่า น้ำพริกจิ้งหรีด ขนมไข่เน่า แต่ที่ถูกใจเห็นจะเป็น ต้มเปรอะหน่อไม้เห็ดโคน น้ำพริกตะไคร้ น้ำพริกกะท้อน กะบองจ่อ สินค้าชุมชน ซึ่งมีพืชผัก มะม่วงหาวมะนาวโห่แช่อิ่ม มะขามแช่อิ่ม มะขามป้อมแช่อิ่ม กล้วยฉาบ เผือกฉาบ ไข่เค็ม น้ำพริกแกงและดอกไม้จิ๋ว ที่ทำโดยเด็กๆ ในชุมชน ขนมกำไร ขนมทองโย๊ะ หรือมอญเรียกว่า ฮะเปรี้ยงาก ก็มีให้ชิมกัน หากติดต่อไปล่วงหน้าอาจจะได้ชิมและชมการสาธิตการปรุง “แกงมัสร่า” ของชาวมอญด้วยนะครับ
ใครสนใจ อยากไปสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นที่มีความหลากหลายของขนบธรรมเนียมประเพณีและเป็นพื้นที่ชุมชนที่เพิ่งเปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาไม่นานนัก ยังสามารถสัมผัสได้ถึงบรรยากาศเรียบง่ายในท้องถิ่น ผมแนะนำให้ บ้านพุองกะ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการท่องเที่ยววิถีชุมชน ผู้ใหญ่มัทนาฝากบอกว่า ในชุมชนมีบ้านพักแบบโฮมสเตย์เอาไว้บริการด้วย หากใครสนใจจะไปท่องเที่ยวติดต่อโดยตรงได้ที่ ผู้ใหญ่มัทนา ศรอารา โทร. 081-880-3732 ครับ คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้วครับ ขอลากันไปก่อน สวัสดีครับ
………..
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2563.