ตามหาเกลือสินเธาว์ ที่บ้านพระหัวบึง

ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 ผมยังทำงานอยู่กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ตอนนั้นโชคดี ได้ติดตามอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ไปสำรวจแหล่งต้มเกลือสินเธาว์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเก็บข้อมูลและภาพถ่ายมาทำฉบับ “เกลืออีสาน” ครั้งนั้นได้ไปหลายแหล่ง ทั้งที่เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งพบร่องรอยต้มเกลือมาตั้งแต่ร่วมสองพันปีก่อน และแหล่งที่ยังมีชาวบ้านทำสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

แหล่งสำคัญซึ่งอยู่ในเขตลุ่มน้ำมูล ทางตะวันตกของเมืองนครราชสีมา ก็คือ “บ้านพระหัวบึง” ตำบลด่านนอก อำเภอด่านขุนทด ตอนนั้นอาจารย์ศรีศักร บันทึกไว้ในบทความเรื่อง ‘เกลืออีสาน’ ว่า พื้นที่มีสภาพเป็นบึงขนาดใหญ่

“ในฤดูแล้งน้ำมีน้อย พื้นบึงแลดูขาวโพลนไปทั่วเพราะคราบเกลือ..ชายขอบบึงด้านตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของบ้านพระหัวบึงนั้นยังมีชาวบ้านทำเกลือกันอยู่เป็นประจำ มีโคกเนินที่เกิดจากการทำเกลือปัจจุบันสลับกับโคกเนินใหญ่น้อยจำนวนมากที่เป็นโคกเนินโบราณ พบเศษภาชนะดินเผาที่เนื่องในการทำเกลือมากมาย..แสดงให้เห็นว่าเป็นชุมชนโบราณที่สำคัญในการผลิตเกลือ..”

อาจารย์ศรีศักร ยังอธิบายถึงแหล่งต้มเกลือในเขตอำเภอขามสะแกแสง โนนไทย หนองบัวโคก โดยเฉพาะเขตลุ่มน้ำลำเชียงไกร ว่ามีพบหลายแห่ง พบต่อเนื่องขึ้นไปถึงเขตอำเภอบัวใหญ่ ประทาย แต่ละแหล่งยังสัมพันธ์กับร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณที่มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดีลงมาจนถึงสมัยลพบุรี และสืบมาในสมัยหลังด้วย

นับว่าบทความของอาจารย์ศรีศักร ได้ฉายภาพเครือข่ายการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญ คือเกลือสินเธาว์ ซึ่งในสมัยโบราณมีความจำเป็นมากในขั้นตอนการทำโลหกรรม หมักปลาร้า แลกข้าวเปลือก เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของคนอีสานสมัยเมื่อกว่าหนึ่งพันปีก่อน
…………….
เวลาช่างผ่านไปไวเหมือนโกหก กลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ผมพบตัวเองยืนอยู่ชายเนินบ้านพระหัวบึงอีกครั้ง หลังจากกิจธุระบางอย่างที่ต้องมาทำที่อีสานเสร็จสิ้นไป และความปรารถนาจะทบทวนอดีตเมื่อ 28 ปีที่แล้วรบเร้าจนต้องเจียดเวลา เสิร์ชหาเส้นทาง ขับรถย้อนรอยกลับมารำลึกภารกิจเมื่อครั้งอดีต

การเดินทางสมัยนี้ไม่ได้ยากเย็นถึงขนาดต้องลงรถไปถามทางเป็นระยะอย่างแต่ก่อนหรอกครับ ระบบ GPS ทำให้การ “ตามหาฯ” สะดวกขึ้นมาก จนใครก็สามารถจะมาที่นี่ได้ง่ายๆ

“บึงขนาดใหญ่” ที่อาจารย์ศรีศักร เล่าไว้ในครั้งนั้น ตอนนี้น้ำแห้งเหลือเพียงท้องบึงเป็นหย่อมๆ ส่วนซุ้มต้มเกลือของชาวบ้านเรียงรายอยู่ตามขอบบึง ชายเนินของวัดพระหัวบึงนั้นเอง

วิธีต้มเกลือสินเธาว์ของชาวบ้านพระหัวบึงเหมือนแหล่งอื่นๆ คือต้องขูดดินเอียด หรือ “ดินขี้ทา” สีขาวบนผิวหน้าดินนั้นมาเกรอะกรองในรางที่ปูรองไว้ด้วยหญ้าและทรายตามลำดับ แล้วเทราดน้ำเกลือเพื่อให้กรองตัวลงในบ่อพัก จนได้น้ำเกลือเข้มข้น จึงตักไปต้มในกระบะเหล็กรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า บนเตาดินก่อ จนได้เม็ดเกลือเล็กละเอียด สีขาวบริสุทธิ์ รสเค็มนัวอร่อย

แต่ที่ไม่เหมือนที่อื่น ก็คือรางกรองน้ำเกลือนั้นเขาไม่ได้ใช้รางดิน แต่เป็นรางไม้ตาลขุดบ้าง รางไม้กระดานซีกประกอบขึ้นใหม่บ้าง
ผมอาจโชคร้ายไปสักหน่อย ที่ตอนบ่ายของวันที่ไปถึงนั้น มีฝนพายุฤดูร้อนห่าใหญ่ถล่มภาคอีสานตอนล่างมาแล้วตั้งแต่กลางดึก ดังนั้น กิจกรรมต้มเกลือจึงจำต้องหยุดชะงัก สภาพลานดินพื้นบึงที่ปกติขาวโพลนไปด้วยดินขี้ทาก็พลอยหายไป แถมวันนั้นก็เป็นวันแรกของงานบุญผะเหวด ชาวบ้านเกือบทุกคนจึงไปฟังเทศน์อยู่ที่วัด

……………..

โชคเข้าข้างผมอยู่บ้าง เมื่อลองเดินเตร่เข้าในหมู่บ้าน แล้วพบพี่สาวคนหนึ่งกำลังปิ้งไส้กรอกข้าวเตรียมไปขาย ผมซื้อไส้กรอกพลางชวนคุยเรื่องต้มเกลือ บอกว่าเคยมาที่นี่เมื่อเกือบสามสิบปีก่อน

“เมื่อก่อนฉันนี่ก็ต้มเกลือนะ” พี่เขาบอกยิ้มๆ “ตอนนี้ทำไม่ไหวแล้ว เลยเลิกไป สมัยนั้นคนต้มกันเยอะ เป็นหลายสิบรายนะ พอต้นปีก็เริ่มทำกันแล้ว ต้มได้สามสี่เดือนไปจนถึงก่อนฝนมานั่นแหละ ไปทำรางไม้ ตั้งเตาต้มกันที่ขอบบึงตั้งแต่เช้า บางทีตีหนึ่งตีสองโน่นถึงจะได้เข้าบ้าน ปล่อยลูกๆ ให้อยู่บ้านไป” เรียกว่าผมถามถูกคนจริงๆ เลยล่ะครับ

“เวลากรองน้ำเกลือนี่ ถ้าครั้งแรกมันยังขุ่น เราก็ต้องกรองซ้ำนะ เอาจนมันใสแหละ วันๆ หนึ่งต้มได้ราวสามรอบ รวมแล้วได้กว่าห้าสิบกิโลกรัมน่ะ ทำสองวันก็เอาขายได้แล้ว ก็ไปรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างบ้าง เหมารถปิกอัพบ้าง ไปขาย หรือไม่ก็แลกข้าว แถวหมู่บ้านรอบๆ นี่แหละจ้ะ แต่บางทีก็ไปถึงแถวชัยภูมิโน่นเลย ขายเป็นปี๊บ น้ำหนัก 15 กิโลกรัม ราคา 120 บาท”

พี่เขาบอกว่า ถ้ามีคนมาซื้อถึงที่บ้านพระหัวบึง ราคาก็จะอยู่ที่ปี๊บละ 100 บาท ส่วนถ้าเอาไปแลกข้าว ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักที่ทำกันมานานแล้วนั้น เดี๋ยวนี้จะแลกได้ในสัดส่วน 1 : 2 คือ เกลือ 1 ส่วน ข้าวเปลือก 2 ส่วน เป็นอัตราที่เพิ่งมาเปลี่ยนในช่วงหลัง จากเดิมที่เคยแลกได้ 1 : 1 เพราะเกลือสินเธาว์เริ่มทำกันน้อยลง หายากขึ้น
“แต่ก่อนมีทำกัน 20-30 รายน่ะ เดี๋ยวนี้เหลือไม่ถึง 10 รายเอง พวกเด็กเขาก็ไม่ทำต่อกันแล้ว”

ผมถามถึงแหล่งขายเกลือ พี่เขาชี้ไปที่บ้านหลังหนึ่งไม่ไกลนัก บอกให้ไปซื้อที่นั่น ในที่สุด ผมได้เกลือสินเธาว์บ้านพระหัวบึงมาหนึ่งถุงใหญ่ (หนึ่งปี๊บ) ในราคา 100 บาท เม็ดเกลือเล็กละเอียด สีขาว มีความเค็มนัว คือปนปะแล่มด้วยรสฝาดหวานลึกๆ แบบที่เกลือสินเธาว์อีสานดีๆ ทั่วไปพึงมี

“เกลือบ้านเรารสแบบนี้แหละจ้ะ ถ้าเป็นเกลือถุงที่ขายตามตลาด เราก็ไม่รู้ว่ามาจากไหนนะ นั่นจะขมเลย รสมันจะออกเค็มขม ไม่อร่อยเหมือนเกลือที่เราทำเองหรอก”
…………………..
เมื่อดูจากภาพถ่ายในวารสารเมืองโบราณ ฉบับ “เกลืออีสาน” เล่มเดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2535 ผมพบว่า บ้านพระหัวบึงเป็นแหล่งเดียวที่ทำรางไม้ตั้งขาหยั่งเพื่อกรองน้ำเกลือจากดินขี้ทา เกือบสามสิบปีผ่านไป ชาวบ้านที่ต้มเกลือรุ่นแล้วรุ่นเล่าก็ยังคงทำสืบเนื่องวิธีเดิมนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับผม นี่คือพิธีกรรมทางอาหารที่มีอายุยาวนานนับพันปี มันเป็นร่องรอยเอกลักษณ์ความเป็นอีสาน ที่ผู้คนซึ่งปรารถนาความแตกต่าง หลากหลาย และรสชาติเฉพาะอันเลิศล้ำต่างเสาะแสวงหา โดยเฉพาะคนครัวที่หลงใหลในกุสุมรสของผืนน้ำผืนดิน

ในจำนวนนั้น ย่อมมีผมรวมอยู่ด้วยคนหนึ่งแน่นอนครับ..