สวนบางขวด สวนกลางกรุง ทำนา ขายข้าวสุก เลี้ยงปลาดุก ขายปลาย่าง

ตอนเขียนต้นฉบับ คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง ต่างพากันหนีเชื้อไวรัส โควิด-19 กันอย่างจ้าละหวั่น ซึ่งทางรัฐบาลก็ไม่มีมาตรการรองรับ ทำให้น่าเป็นห่วงว่าจะกระจายเชื้อโรคไปทั่วประเทศ ส่วนคนในกรุงเทพฯ ก็ต้องตุนอาหารกับเวชภัณฑ์ที่หายาก คือ แฮลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ส่วนผู้เขียนตุนข้าวและอาหารกระป๋องอาหารแห้งไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว นัยว่าจะยังชีวิตได้หลายเดือนอยู่ ประกอบกับผักที่ปลูกไว้ในสวน ไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ น่าจะรอดปลอดภัย

ทางเข้าฟาร์ม

กรุงเทพฯ ในตอนที่ผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าจะมีสภาพอย่างไร แต่ขอให้ประชาชนชาวไทยจงผ่านพ้นวิฤกติไปได้ด้วยดี เนื่องจากเราเป็นครัวโลก เป็นแหล่งผลิตอาหาร เราจึงไม่น่าจะขาดแคลนเหมือนกับเมืองนอกเมืองนาเขา ซึ่งต้องพึ่งอาหารส่วนใหญ่จากการนำเข้า

เดิมกรุงเทพฯ ก็มีความเจริญเฉพาะใกล้กับพระบรมมหาราชวัง แค่ระยะเสียงปืนที่ได้ยิงจากวังในตอนเที่ยง ถ้าไม่ได้ยินแล้วถือเป็นบ้านนอก คำว่า “ไกลปืนเที่ยง” มาจากเรื่องราวนี้

สโลแกน

เมื่อหลายสิบปีก่อน แถวมีนบุรีถือเป็นบ้านนอกคอกนา แต่ปัจจุบันความเจริญเข้าใกล้มาจนกลายเป็นที่เจริญกันหมด ผืนดินแต่ละตารางวาจับแทบไม่ลง หมู่บ้านจัดสรรขึ้นเป็นดอกเห็ด มีปัญญาซื้อได้แค่ทาวน์เฮ้าส์ไม่กี่ตารางวาเท่านั้น

คลองน้ำในสวน

สี่ห้าปีก่อน ผมเคยนำเสนอเรื่องราวของ ชาวนาแห่งทุ่งบางขวด ผมไม่ใช่เหี้ย (วรนัส) และหมามุ่ยอินเดีย ล้วนมาจากองค์ความรู้ของ ท่านอาจารย์สมโภชน์ ทับเจริญ ซึ่งเป็นนักวิชาการ ซี 8 อดีตผู้อำนวยการศูนย์สุกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ทั้งสิ้น จากประสบการณ์ที่สะสมมา 27 ปี ในชีวิตราชการ ท่านได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เรื่องการเกษตรมาอย่างครบถ้วน หลังจากผมนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอาจารย์สมโภชน์ไป สื่อแขนงต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ได้นำเสนอกันต่อๆ ไปอีกมากมาย รวมถึงสื่อจากต่างประเทศด้วย

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ในมุ้ง

อาจารย์สมโภชน์ ทับเจริญ เล่าว่า ตลอดเวลาที่รับราชการมา 27 ปี ได้ตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานและสังคมให้มากที่สุด ส่วนเวลาที่เหลือก็จะมาทำสิ่งที่ตัวเองคิดฝันไว้ กะว่าจะลาออกตอนอายุ 55 ปี แต่พอดีคุณแม่มาเสีย คุณพ่ออยู่คนเดียว จึงตัดสินใจลาออกล่วงหน้ามา 1 ปี เพื่อมาดูแลคุณพ่อ ซึ่งอายุมากแล้ว ความฝันที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้เป็นประโยชน์ทางด้านการเกษตร และที่เรารักในอาชีพนี้ จึงออกมาด้วยความเต็มใจ เมื่อเราเป็นข้าราชการชั้นผู้บริหาร ต้องสั่งงานต่างๆ ไม่ค่อยได้ลงมือทำแล้ว

จึงคิดว่าน่าจะเพียงพอ น่าจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังได้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งตำแหน่งและความคิดของเขาต่อไป มากกว่าที่จะถูกกำหนดโดยเรา และจะถือโอกาสออกมาก่อนที่แรงจะไม่มีทำการเกษตรที่หวัง เพราะถ้าออกตอน 55 ปี จะใช้เวลาอีก 10 ปี ทำงาน หลังจากนั้น ทุกอย่างก็จะเข้ารูปเข้ารอย เมื่ออายุ 65 ปี แรงคงลดน้อยถอยลงมากแล้ว แต่ก็จะทำไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก ไม่รีบไม่ร้อน

แผ่นดินของทวด

ผักสลัดในแปลง

ที่ดินผืนนี้เป็นผืนดินของทวด ตกมาถึงปู่ ตกมาถึงพ่อ และมาถึงรุ่น อาจารย์สมโภชน์ ในปัจจุบัน ที่ดินที่ตั้งอยู่ในย่านบางขวด หรือซอยนวลจันทร์ 56 แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. นี้ มีจำนวน 50 ไร่ ล้อมรอบด้วยหมู่บ้านจัดสรร ราคาครั้งสุดท้ายที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาเสนอให้ ราคาไร่ละ 30 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,500 ล้านบาท อาจารย์สมโภชน์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ไม่ขาย เพราะได้มาฟรี ไม่ได้เอาเงินตัวเองซื้อ แต่เอาบุญเก่าซื้อ ตราบใดที่ไม่ได้ขาย มูลค่าของมันจะมีค่าขึ้นไปเรื่อย ผมไม่ได้มีเงิน เพราะมีแต่ที่และมูลค่าของมัน ถ้าเกิดขายแล้วได้เงินเยอะแยะมากมาย ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ถ้าเราคิดจะขาย คงไม่มีที่ดินสืบต่อมาให้ลูก และถ้าพ่อแม่คิดขายที่ดิน คงไม่สืบต่อมาถึงผม ผมจึงต้องรักษามันไว้”

พรางฝนอย่างดี

ที่ดินผืนนี้เดิมเป็นนาทั้งหมด และมีถนนซอยนวลจันทร์ 56 ผ่ากลาง ทำให้แบ่งเป็น 2 ผืน ผืนแรก 35 ไร่ ไว้ทำการเกษตรทุกอย่าง และเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 15 ไร่ ทำเป็นร้านอาหาร และมีแพที่ใช้รับประทานอาหารในบึงน้ำ ตั้งโจทย์ว่าจะขายอะไร เราก็จะผลิตสิ่งนั้น นี่เป็นหลักการเราต้องหาตลาดก่อน จึงผลิต… เกษตรกรหลายท่านผลิตก่อน หาที่ขายทีหลัง พอตลาดตัน จึงหาทางออกไม่ได้ อาหารที่ร้านจึงเป็นอาหารบ้านๆ ที่ใช้ผลผลิตในสวน น้ำชากาแฟเราไม่ได้ขาย ขายแต่น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว ที่ปลูกเอง มั่นใจว่าจะเอาอะไรให้คนกินก็จะปลอดภัย

ทำนา ขายข้าวสุก

นาข้าวหลังทาวเฮ้าส์

ร้านอาหารของที่สวนบางขวด เป็นอาหารบ้านๆ ที่หากินกันได้ตามบ้านทุกบ้าน ถามว่า แปลกกว่าคนอื่นไหม คือไม่แปลกกว่า แต่แปลกที่บรรยากาศที่เป็นท้องไร่ท้องนากลางเมืองกรุง ในสวนบางขวด ใช้พื้นที่นา 3 ไร่ ไว้ปลูกข้าว แปลงละ 1 ไร่ ตัดขาดด้วยคันนาขนาดใหญ่ ปลูกข้าวสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ทุกครั้งที่ไปเยือน จะเห็นว่ามีแปลงแรกกำลังทำตมเพื่อปลูกข้าว หรือเป็นข้าวเพิ่งปลูกใหม่ แปลงที่สอง เป็นแปลงที่ต้นข้าวโตแล้ว แต่ยังไม่ออกรวง แปลงสุดท้าย เป็นข้าวที่กางมุ้งไว้เพื่อรอวันเก็บเกี่ยว

ทุกครั้งที่ข้าวเริ่มออกรวง จำเป็นต้องกางมุ้ง ไม่ใช่ไล่แมลง แต่เป็นการกันนกกระติ๊ดขี้หมู หรือนกที่ท่านเห็นตามวัดที่เขาเอาไว้ขายตอนปล่อยนกปล่อยปลา เพราะไม่กันไว้นกจะมารุมกินกันหมด ข้าวในนาที่ปลูกจะเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ เพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ให้ไปผสมกับข้าวพันธุ์อื่น เพราะข้าวชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นยา เรียกได้ว่าเป็นธัญญะโอสถ

แหนแดงไว้บำรุงพืช

ข้าวชนิดนี้มีราคาแพงกว่าชนิดอื่น เพราะมีองค์ประกอบของแร่ธาตุมากมาย และราคาสูงกว่าข้าวหอมมะลิ อายุการปลูกของข้าว ตั้งแต่ปลูกจนเก็บเกี่ยว จะใช้เวลา 120 วัน ข้าวก็ปลูกเอง เก็บเกี่ยวเอง นวดเอง สีเอง แพ็กเป็นถุงเอง จะได้ข้าวสารต่อรุ่น ประมาณ 200 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 90 บาท ได้เป็นเงิน 18,000 บาท ใช้ต้นทุนประมาณ 5,000 บาท ต่อรุ่น จะเหลือเงินอีก 13,000 บาท แล้วเรานำมาหุงข้าวสุกขายในร้าน ก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก ถือว่าเป็นการทำนาขายข้าวสุก ไม่ได้ขายข้าวเปลือกตามแบบชาวนาทั่วไป

เลี้ยงปลาดุก ขายปลาย่าง

เนื่องจากนาที่ทำเป็นนาอินทรีย์ที่ไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ จึงสามารถเป็นที่อยู่ของปลาได้ ทางสวนบางขวดจึงเลี้ยงปลาดุก โดยไปซื้อปลาดุกในตลาดที่มีขนาดเล็กที่สุด ขนาดประมาณ 20 ตัวโล มาปล่อยลงในนา ไม่ได้ให้อาหารอะไรให้กินเลย โดยปล่อยให้ปลาหากินโดยธรรมชาติ จนกระทั่งปลาโตขึ้นเรื่อยๆ ก็จะนำมาทำเป็นปลาย่างขายโดยไม่ได้ขายปลาเป็น จนกระทั่งเกี่ยวข้าว ปลาก็จะหมดพอดี ปลาดุกที่นี่จึงเป็นปลาดุกที่เลี้ยงจากอาหารที่หากินเองในธรรมชาติ ปลาย่างนี้นำมากินกับส้มตำในร้าน ที่มีวัตถุดิบปลูกเอง ทำให้ลูกค้ามั่นใจในอาหาร ลาบปลาดุกก็เป็นอาหารประจำร้านนี้

เมล่อนในถุงคิงดอม

ร้านค้าเกษตรปลอดภัยเปิดมาปีนี้เป็นปีที่ 5 ถาม อาจารย์สมโภชน์ว่า ไม่อยากรวยจริงเหรือ อาจารย์สมโภชน์ตอบว่า ที่จริงเราก็รวยแล้วนะ ถึงจะไม่ขายที่ดิน เรารวยความสุขในสิ่งที่เราทำและให้คนอื่น วันหนึ่งๆ ขายได้ไม่เกินหมื่น แต่ก็มีความสุข ซึ่งเงินซื้อไม่ได้ มีความสุขที่มีคนมาสัมผัสบรรยากาศ เราก็อยู่ตามธรรมชาติ เช้าก็มีนกดุเหว่าร้องปลุก กลางวันก็มีแมลงปอบินล้อลม ตอนหัวค่ำก็มีหิ่งห้อยเปล่งแสงระยิบระยับ

ต้องผสมเกสร

เรามุ่งหวังด้านการเกษตรที่ปลอดภัย เป็นการลงทุนสู่แนวทางเกษตรอีกแบบหนึ่ง ที่ได้คืนด้วยการเอาประสบการณ์ที่ล้มเหลวมาถ่ายทอดให้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาสัมผัสเรา กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ถ้ามีปัญหาด้านการเกษตร ต้องการแก้ไขปัญหาก็มาพูดคุยกัน ถ้าผมรู้ ผมก็จะบอก ถ้าไม่รู้ก็จะบอกไม่รู้ ไม่ได้ให้มาดูความสำเร็จ ให้มาดูว่าที่ทำนี้มีปัญหาอะไร มีแนวทางความคิดในการแก้ปัญหาอย่างไร คือเรื่องสำคัญที่สุด มากกว่าเอาสิ่งที่สำเร็จมาให้ดู ซึ่งไม่รู้ว่าอีกหลายครั้งที่ล้มเหลวคืออะไร พอคนเอาไปทำไปพบการล้มเหลว ก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร

เมล่อนติดผล

สโลแกนของสวนคือ ทำนา ขายข้าวสุก เลี้ยงปลาดุก ขายปลาย่าง สะท้อนให้เห็นถึงภาพของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ว่าจะต้องมองตลาดให้เป็น การทำการเกษตรเชิงปริมาณ ทำให้เราเหนื่อยและท้อ เพราะจำเป็นต้องใช้เงินและคนเป็นจำนวนมาก พอผลผลิตออกมา ราคาตกก็ขาดทุน เชิญสัมผัสบรรยากาศ “พักตูด สูดอากาศ” ได้ที่สวน และปรึกษาปัญหาเกษตรได้ทุกวัน ติดต่อร้านอาหารและซื้อผักปลอดภัยได้ที่ คุณอ้อย ศรีภรรยาของอาจารย์สมโภชน์ โทร. 095-498-2781

ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น
น้ำหมักชีวภาพ
ร้านอาหารในแพ
อ.สมโภชน์
ที่นั่งทานอาหารบนลานดิน

…..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่