การบูร เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อการปลูกสร้างสวนป่า

ชื่อสามัญ การบูร Camphor, Gum camphor

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora

วงศ์   LAURACEAE                                                                                                                              

ฉบับก่อนเราคงรู้จัก ต้นการบูร กันดีแล้ว ที่ว่าเมื่อโตเต็มที่ต้นการบูรจะผลิตสารการบูร สำหรับผู้เขียน เสน่ห์ของการบูรอยู่ตรงใบ เพราะเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นหอม มันคือ กลิ่นการบูร กลิ่นนั้นช่างเย้ายวนจนผู้เขียนอยากจะมีสวนป่าปลูกต้นการบูรสักพันสักหมื่นต้นเพื่อจะได้นำใบมาสกัด สารการบูร

ในอดีต ประเทศไทย ต้องนำเข้าสารการบูร ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากประเทศจีน หากเราสามารถปลูกต้นการบูรเพื่อให้เป็นต้นใหญ่ในภายภาคหน้า เราคงจะได้ใช้สารการบูรจากธรรมชาติ และอาจลดการนำเข้าได้อีกด้วย

ถือเป็นความโชคดีของผู้เขียน ที่มีต้นการบูร (แท้ๆ) อยู่ในมือมากพอสมควรที่จะเป็นแหล่งตัวอย่างสำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในครั้งนี้ แถมปีนี้ ต้นการบูร ที่ผู้เขียนขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ก็แตกยอดอ่อนสะพรั่งตาน่านำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือโคลนนิ่งเสียจริงๆ

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นการบูรชุดนี้ไปแล้ว ประมาณ 700 ต้น ให้กับเจ้าของเมล็ดพันธุ์ และแบ่งแจกจ่ายเพื่อนฝูงที่สนิทกัน ที่ขอไปปลูกตามโรงพยาบาล และสาธารณสุขต่างจังหวัด มารู้ตอนหลังว่า การบูร คือไม้ประจำกระทรวงสาธารณสุข

ต้นกล้าที่นำมาขยายพันธุ์
กล้าการบูรเพาะเมล็ด

ต้นการบูรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเหล่านี้ ได้มาจากต้นแม่ที่ปลูกหน้าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนำเมล็ดพันธุ์จากประเทศจีนมาปลูกอีกทีหนึ่ง และบุคคลที่ผู้เขียนจะต้องขอบคุณในความกรุณา คือ ท่านนพพร นนทภา นักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ซึ่งให้ความอนุเคราะห์เมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ผู้เขียนนำมาเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั่นเอง

เมล็ดที่นำมาเลี้ยงในขวด
การแต่งตัวอย่างใบ

เวลานี้ผู้เขียนต้องเร่งขยายพันธุ์ต้นการบูรอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกษตรกรดีเด่น ปี 2556 สาขาสวนป่าเมืองชุมพร ได้สั่งผลิต จำนวน 3,000 ต้น เพื่อนำไปปลูกในสวนป่า ซึ่งเป็นสวนต้นแบบแห่งอนาคตในการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์สูงสุด และเจ้าของสวนป่าแห่งนี้คือ คุณเกษตร (ไก่) ธรรมาภิวัฒน์ ท่านโด่งดังจนมีรายการทีวีมาสัมภาษณ์ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีเกษตรกรที่มีความประสงค์จะปลูกสร้างสวนป่า ได้ติดต่อเข้ามา และสั่งเพิ่มอีก จำนวน 2,000 ต้น ไม่น่าจะมีวิธีการใดจะเหมาะไปกว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออีกแล้ว เพราะนอกจากจะได้ต้นในเวลาที่รวดเร็ว พันธุกรรมก็คงเดิมเหมือนต้นแม่อีกด้วย

นับว่าเข้าทางผู้เขียนเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะมีความถนัดในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแล้ว ยังเคยเป็นมือสกัดสารสมุนไพรตอนมาทำงานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใหม่ๆ อีกด้วย แต่ตอนนี้คงต้องรื้อฟื้นวิทยายุทธ์ออกมาซ่อมแซมกันเสียก่อน

ต้นการบูร ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อชุดแรก...ผู้เขียนได้ทดลองปลูกแล้วที่ ลานสะแบง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีสภาพแล้งพอสมควร และได้ทดลองปลูกอีกหลายๆ พื้นที่ ทั้งพื้นที่แห้งแล้ง และพื้นที่ที่มีฝนตกชุกอย่างภาคใต้ และเก็บข้อมูลมาร่วม 2 ปี ก็พบว่า การบูร สามารถเจริญโตได้ดีในทุกๆ พื้นที่ โดยเฉพาะที่แห้งแล้ง ใบจะมีกลิ่นหอมมากเมื่อขยี้

จะเห็นว่า การบูร เป็นไม้ที่น่าส่งเสริมให้ปลูกจริงๆ ใบก็สามารถนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในด้านสมุนไพร หรือธุรกิจสปา ระหว่างที่รอรอบตัดฟันเพื่อใช้เนื้อไม้ หรือเพื่อผลิตสารการบูร หากมีการส่งเสริมให้ปลูกในระบบสวนป่าที่มีไม้ใหญ่น้อยร่วมด้วยก็จะยิ่งดี ระบบการให้น้ำแทบจะไม่มีปัญหาเลย ไม่นานก็คงเจริญเติบโตแตกกิ่งก้านสาขาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีทีเดียว

การบูรเพาะเนื้อเยื่อ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อการบูร

เทคนิคนี้จะสามารถผลิตต้นกล้าได้จำนวนมหาศาลด้วยเมล็ดเพียงไม่กี่เมล็ด หรือจากยอดอ่อนจำนวนไม่มากนัก และต้นการบูรชุดแรกที่อยู่ในมือผู้เขียนเหล่านี้ได้มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเมล็ดนั่นเอง ผู้เขียนได้เริ่มจากการเพาะเมล็ดการบูรให้เป็นต้นอ่อนในขวด และอีกส่วนหนึ่งเพาะให้เป็นต้นอ่อนก่อนแล้วจึงตัดยอดอ่อนมาเลี้ยงในขวดสภาพปลอดเชื้ออีกทีหนึ่ง

สำหรับขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มีขั้นตอนหลักๆ คือ ลำดับแรกต้องฟอกฆ่าเชื้อชิ้นส่วนพืชให้สะอาดปราศจากเชื้อจุลินทรีย์เสียก่อน จากนั้นนำยอดอ่อนที่มีตาหรือจุดเจริญ เข้ามาเลี้ยงในขวดอาหารสังเคราะห์ในสภาพปลอดเชื้อ แล้วจึงชักนำให้เนื้อเยื่อโตเป็นต้น และชักนำด้วยสูตรอาหารที่เหมาะสมให้ออกราก เมื่อต้นกล้ามีรากสมบูรณ์ก็นำไปอนุบาล และปลูกในแปลงต่อไป

ดูๆ ไป ก็ไม่น่าจะยาก หรือสลับซับซ้อนอะไรเลย คนส่วนใหญ่ต่างก็สงสัยกันว่า ทำไม ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อถึงนานนัก กว่าจะให้มารับต้นกล้า ทำไม ไม่เสร็จภายใน 2-3 เดือน ได้ต้นแล้วออกรากแล้ว ก็น่าจะได้ปลูกเลย

ก็เพราะว่าเราไม่ได้ต้องการต้นกล้าเพียงแค่ต้นเดียว…จะทำทั้งทีควรทำให้ได้หลายร้อย หลายพัน หรือหลายหมื่นต้น ถึงจะคุ้มค่าในการทำพืชชนิดหนึ่งๆ เพราะเครื่องมือวิทยาศาสตร์แต่ละชิ้น ราคาหลักหมื่น อาหารสังเคราะห์ก็ประกอบด้วยสารเคมีที่ราคาค่อนข้างแพง วิธีการก็ต้องเป็นแบบปลอดเชื้อ ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ ต้องมีทักษะพิเศษจริงๆ ต้นทุนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแต่ละรอบจึงสูง

หลังจากฟอกฆ่าเชื้อตัวอย่างสำเร็จก็จะได้ตายอด ตาข้าง ที่ปลอดเชื้ออยู่ในขวดจำนวนหนึ่ง เราก็ต้องเพิ่มจำนวนให้มีเยอะๆ เสียก่อน เพื่อจะได้นำไปออกรากทีเดียวพร้อมๆ กัน ตรงนี้แหละที่มีประโยชน์ในทางการค้า หรืออุตสาหกรรมมาก เพราะเมื่อปลูกลงแปลงพร้อมกัน รอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็สามารถทำได้ทีเดียวพร้อมกัน ป้อนโรงงานได้คราวละมากๆ

การอบหรืออนุบาล

สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อการบูร ขั้นตอนการขยายหรือเพิ่มจำนวนนั้นผู้เขียนเติมสารควบคุมการเจริญเติบโต BAP ลงในอาหารสูตร MS ความเข้มข้น 1.0 ppm (มิลลิกรัม ต่อลิตร) และขั้นตอนชักนำรากก็เติมสารควบคุมการเจริญเติบโต NAA เพียง 0.5 ppm ก็ออกรากได้ดีทีเดียว

เมื่อต้นการบูรมีรากสมบูรณ์ ก็มาถึงขั้นตอนการย้ายปลูก…นำขวดการบูรมาล้างวุ้นออกจากต้น ให้ทำอย่างเบามือ แล้วปลูกในวัสดุปลูกที่มีขุยมะพร้าวผสมทรายหยาบ อัตราส่วน 1:1 ปลูกเสร็จก็อบไว้ในถุงพลาสติกใส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อปรับสภาพ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนออกไปสู่โลกภายนอกขวดให้กับต้นการบูร ที่เคยได้รับสารอาหารอุดมสมบูรณ์ คราวนี้แหละรากจะได้ทำงานในการหาน้ำหาอาหารเสียที

การปรับสภาพในถุงอบ

การปิดถุง หรืออบนั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยออกไปอย่างรวดเร็ว ด้วยที่ว่าช่วงแรกรากพืชโดนกระทบกระเทือนยังไม่สามารถดูดน้ำดูดอาหารได้ระยะหนึ่ง เมื่อพืชขาดน้ำก็คายน้ำออกทางปากใบเพื่อรักษาสมดุลภายในต้นพืช

หลังจาก 1 เดือน ผ่านไป ต้นที่รอดก็จะตั้งตรง ยอดแสดงอาการสดชื่น ผลิยอดใหม่ ลำต้นยีดยาว เราก็จะค่อยๆ เปิดถุงวันละน้อย เพื่อให้อากาศในถุงกับภายนอกเป็นอากาศเดียวกัน หากใครไม่เข้าใจเปิดทีเดียวเลย ความชื้นที่อยู่ในกระโจมที่เป็นสภาพปิดมีความชื้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว พืชก็จะคายน้ำอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ทำให้พืชเหี่ยว และน็อกไปเลย

การย้ายปลูก

หากท่านใดสนใจ กล้าไม้การบูร สั่งได้โดย ติดต่อผู้เขียนทางอีเมลเหมือนเดิม นางไม้แห่งลานสะแบง [email protected]h ราคาคิดเฉพาะต้นทุน ไม่มากไม่น้อยสำหรับคนหัวใจสีเขียวสีเดียวกัน แต่ได้ไม้เด็ดๆ ที่มีเฉพาะที่นี่เท่านั้น ผู้เขียนหวังว่า ต้นการบูร และกลิ่นหอมการบูรจากใบของมัน จะเป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงโลกได้เป็นอย่างดี พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี

…………………………………………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่