เกษตรกรสระบุรี เลี้ยงปลาดุกคุณภาพ เน้นอาหารลดต้นทุน เป็นอาชีพทำเงินมา 1 ทศวรรษ

ปัจจุบัน ปลาดุกมีการเลี้ยงกันหลายพื้นที่ เพราะเป็นปลาที่มีความอดทน เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตรวดเร็ว ต้านทานโรคและสภาพแวดล้อมได้ดี จึงเป็นปลาที่ตลาดมีความต้องการ หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลอด และที่สำคัญนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู ปลาดุก มีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาดุกด้าน ปลาดุกยักษ์ หรือปลาดุกรัสเซีย ปลาดุกบิ๊กอุย ฯลฯ จึงทำให้เกษตรกรมีความสนใจเลี้ยงปลาดุกกันมากขึ้น ซึ่งการเลือกสายพันธุ์ที่เลี้ยงก็ขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่นั้นๆ ว่านิยมบริโภคสายพันธุ์ใด

คุณพัฒนกฤช พันธ์แก้ว

คุณพัฒนกฤช พันธ์แก้ว อยู่บ้านเลขที่ 183 หมู่ที่ 3 ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ได้ศึกษาการทำตลาดการจำหน่ายปลาดุกมาตั้งแต่ ปี 2552 จากนั้นจึงได้มาลงมือเลี้ยงเอง โดยนำความผิดพลาดและความสำเร็จของหลายๆ ฟาร์ม มาเป็นครู ทดลองเลี้ยงปลาดุกด้วยตนเองจนประสบผลสำเร็จ สามารถทำเป็นรายได้มาจนถึงปัจจุบัน โดยปลาดุกที่เขาเลี้ยงมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ปลาดุกรัสเซีย และปลาดุกบิ๊กอุย เพราะลูกค้าต้องการซื้อปลาดุก 2 ชนิดนี้เป็นหลัก เขาจึงเลือกเลี้ยงเพื่อตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาด

การผสมอาหาร

คุณพัฒนกฤช เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนทำงานอยู่บริษัทเอกชน และต่อมาได้ลาออกมาทำไร่อ้อยเป็นของตัวเอง โดยในช่วงนั้นได้มีโอกาสเห็นคนในพื้นที่มีการเลี้ยงปลาดุกอยู่หลายที่ จึงทำให้เขาเกิดความสนใจและได้ศึกษาการเลี้ยงอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อมีความพร้อมที่จะลงมือทำ จึงได้มาทดลองเลี้ยงในพื้นที่ของตนเอง ประมาณ 1-2 บ่อ

“ช่วงที่ผมศึกษาการเลี้ยงปลาดุก ผมก็จะดูว่าแต่ละคนเขามีเทคนิคการเลี้ยงอย่างไร เราก็เอาทั้งความผิดพลาดและความสำเร็จต่างๆ มาเป็นครูให้กับตัวเอง จึงทำให้การเลี้ยงปลาดุกของเราจะไม่เกิดความผิดพลาด และสามารถทำได้อย่างมีระบบ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้ จากวันนี้มาถึงวันนี้ผมก็ทำการเลี้ยงปลาดุกเป็นอาชีพที่สร้างรายได้มาได้เป็น 10 ปี แล้ว แรกๆ เริ่มเลี้ยงไม่มาก เอาเท่าที่เราสามารถทำได้ก่อน พอเริ่มขายได้เรื่อยๆ ก็เพิ่มจำนวนบ่อ ตอนนี้ก็มีบ่อเลี้ยงอยู่ประมาณ 7 บ่อ” คุณพัฒนกฤช บอก

บ่อเลี้ยง

ในขั้นตอนของการเลี้ยงปลาดุกให้ได้คุณภาพนั้น คุณพัฒนกฤช บอกว่า หลังจากจับปลาดุกจำหน่ายจนหมดบ่อแล้ว จะดูดขี้เลนออกจากบ่อในกรณีที่บ่อมีขี้เลนมาก แต่ถ้าบ่อไหนไม่มีขี้เลนก็จะวิดน้ำออกให้แห้งและตากบ่อทิ้งไว้ 1 วัน จากนั้นโรยด้วยปูนขาว ประมาณ 100 กิโลกรัม ต่อไร่ พร้อมกับตากบ่อทิ้งไว้ 3 วัน

เมื่อบ่อมีสภาพพร้อมใช้งานได้แล้ว จะปล่อยน้ำเข้าภายในบ่อเลี้ยงปลาทันที พร้อมกับปล่อยทิ้งไว้ 15 วัน เป็นการทำให้น้ำเขียว เพื่อให้ภายในบ่อเกิดอาหารธรรมชาติขึ้นมาเอง เป็นการช่วยให้ประหยัดต้นทุนในช่วงแรกที่นำลูกปลาดุกมาปล่อยเลี้ยง 3 วัน โดยที่ไม่ต้องให้อาหารกิน

การปล่อยลูกปลาดุกลงบ่อ

“พอบ่อเลี้ยงเราพร้อมแล้ว ก็จะนำลูกปลาดุกขนาดไซซ์ตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไปมาปล่อยเลี้ยง บ่อขนาด 1 ไร่ จะปล่อยลูกปลาดุกลงไปเลี้ยงในอัตราส่วน 70,000-80,000 ตัว ใน 3 วันแรกที่ปล่อยลงบ่อใหม่ๆ เราจะยังไม่ให้ลูกปลากินอาหาร แต่จะให้กินอาหารธรรมชาติที่อยู่ภายในบ่อก่อน หลังจากนั้นก็จะเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดแช่น้ำ ที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 32 ให้ลูกปลากินอยู่ประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นก็จะนำอาหารเม็ดบางส่วนมาผสมกับไก่บด เพื่อให้ลูกปลาดุกได้มีการปรับเปลี่ยนจากกินอาหารเม็ด มากินเป็นอาหารสดจำพวกไก่บดแทน” คุณพัฒนกฤช บอก

อาหารที่เปลี่ยนเป็นพวกไก่บด ที่มีส่วนผสมของกระดูกแข้งไก่ แป้งสาลี เศษขนมปัง บดให้เข้ากัน ให้กินมื้อเดียวต่อวันในช่วงเย็น แบบนี้ทุกวันจนกว่าปลาจะได้ไซซ์ขนาดที่ขายได้ ส่วนน้ำก็ค่อยๆ เติมลงไปโดยดูขนาดไซซ์ของปลา เลี้ยงอยู่แบบนี้ ประมาณ 5-6 เดือน ปลาดุกก็จะได้ขนาดที่พร้อมจำหน่ายได้

การให้อาหารบด วันละ 1 มื้อ

ในเรื่องของโรคที่จะเกิดขึ้นกับปลาดุกที่เลี้ยงภายในฟาร์ม คุณพัฒนกฤช บอกว่า ยังไม่เกิดปัญหาสำหรับเขามากนัก หากเห็นว่าสภาพน้ำภายในบ่อไม่ดี ก็จะถ่ายน้ำเก่าออกและเติมน้ำใหม่เข้าไปภายในบ่อทันที ก็จะทำให้น้ำไม่เน่าเสียและไม่มีการสะสมของโรคที่ทำให้ปลาดุกตาย

สำหรับการจับปลาดุกจำหน่ายจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อยกบ่อ โดยเป็นลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ที่รับซื้อกันมานาน เพียงแต่การเลี้ยงต้องรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้าต้องการ ยังไงปลาดุกที่เลี้ยงก็สามารถจำหน่ายได้ตลอดทั้งปีอย่างแน่นอน โดยการรับซื้อในช่วงนี้จะให้ราคาทุกไซซ์เป็นราคาเดียว อยู่ที่กิโลกรัมละ 30-35 บาท เมื่อเทียบกับต้นทุนอาหารที่ใช้เลี้ยงยังสามารถสร้างผลกำไรเป็นอาชีพที่เลี้ยงตนเองได้

ปลาดุกภายในบ่อ

“เวลาเราจับขายยกบ่อแต่ละครั้ง ปล่อยปลาเลี้ยงอยู่ที่ 70,000-80,000 ตัว ต่อบ่อ เลี้ยงประมาณ 5-6 เดือน ปลาเฉลี่ยแล้วที่จับหน่ายได้ก็จะอยู่ที่ 10 กว่าตันขึ้น บางรุ่นที่เลี้ยงดีๆ เคยได้สูงขึ้นไปถึง 30 ตัน  ต่อบ่อก็มี ดังนั้น การเลี้ยงปลาดุกมันก็ไม่ใช่เรื่องยากเท่าไร แต่ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ผมยึดมั่นมาตลอด คือลูกพันธุ์ปลาดี พื้นที่เลี้ยงต้องมีน้ำที่ดี อาหารเลี้ยงต้องดี และสุดท้ายการจัดการที่ดี ก็จะช่วยให้ปลาที่เลี้ยงมีคุณภาพ และสามารถติดตลาด ทำเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน” คุณพัฒนกฤช บอก

เหยื่อบด สด ใหม่ทุกวัน

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลาดุก หรือต้องการปรึกษาพูดคุยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ คุณพัฒนกฤช พันธ์แก้ว หมายเลขโทรศัพท์ 081-758-1149

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2563


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354