กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรชุมชนห้วยฮวก จอมทอง นาฝาย สานกระติบข้าวจากคล้า เหมาะเป็นของฝากจากศรีบุญเรือง

ต้นคล้า หรือต้นแหย่ง จัดเป็นไม้ล้มลุกหรือเป็นไม้ยืนต้นที่มีเนื้ออ่อน เจริญเติบโตขึ้นเป็นพุ่มหรือเป็นกอและมีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งแบบตั้งตรงและเป็นแบบเลื้อย มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน สามารถแตกหน่อได้ ลำต้นกลมเป็นสีเขียวเข้มออกเป็นข้อๆ และมีข้อปล้องยาว หากรวมทั้งก้านและใบจะมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 2-4 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อปลูก

พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติในที่เป็นน้ำหรือเป็นโคลนตามริมคลอง ริมสระ หรือตามลำธาร มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคตามริมห้วยหรือตามหุบเขาที่มีความชุ่มชื้น ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร และมักจะพบได้มากทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และในจังหวัดจันทบุรี

ทำได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ประโยชน์ของคล้า ต้นนำมาตากแห้ง ใช้ในการจักสาน เช่น การสานเสื่อ สานกระติบข้าว เป็นต้น ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในบริเวณบ้านทั่วไป ใช้ตกแต่งสวนน้ำหรือใช้ปลูกตามสถานที่ต่างๆ คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นคล้าไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยคุ้มครองรักษาให้มีความสงบสุข เพราะคำว่า “คล้า” หรือ “คลุ้ม” หมายถึง การคุ้มครองปกป้องรักษา และยังหมายถึงความคลาดแคล้วจากพิษภัยของศัตรูทั้งปวงอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเรียกต้นคล้าว่า “พุทธรักษาน้ำ” โดยถือว่าเป็นไม้มงคลนาม ที่มีความหมายว่า พระพุทธเจ้ารักษานั่นเอง

ประวัติความเป็นมาของกลุ่ม
คุณธิษณามดี ศรีหนองเม็ก ประธานกลุ่ม เล่าให้ฟังว่า กลุ่มจักสานกระติบข้าวจากคล้าชุมชนห้วยฮวก จอมทอง นาฝาย ตำบลศรีบุญเรือง จัดตั้งเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2561 มีที่ทำการกลุ่ม เทศบาลตำบลจอมทอง เลขที่ 999 หมู่ที่ 9 ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู

นำวัตถุดิบมาจากแปลง

เนื่องจากบริบทของชาวบ้านในชุมชนโดยส่วนใหญ่มีพื้นที่ทำการเกษตรไม่มากและบางครัวเรือนไม่มีพื้นที่ทำการเกษตรเลย ผู้นำครอบครัวจึงหันไปทำอาชีพรับจ้างแทน ซึ่งรายได้ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายภายในครัวเรือน จึงได้มีการจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อปลูกคล้า ส่วนคนที่ไม่มีพื้นที่ทำการเกษตรก็จัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อปลูกคล้าและคนที่ไม่ได้ไปทำงานรับจ้างก็นำคล้ามาทำการจักสานเพื่อจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลจอมทอง และศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว รัตนาภา จังหวัดขอนแก่น จึงมีการรวมกลุ่มกันของสมาชิกจากทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยฮวก บ้านจอมทอง และบ้านนาฝาย มีสมาชิกจำนวน 29 คน และกลุ่มมีการดำเนินงานและพัฒนากลุ่มอย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีความหลากหลายเป็นที่รู้จักของผู้คนมากขึ้น เพราะคุณภาพความสวยงามของลวดลายที่แปลกใหม่ และความคงทนของผลิตภัณฑ์ จึงทำให้ผู้ที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์มีการประชาสัมพันธ์แก่ผู้ใช้สินค้าด้วยกันเอง (ใช้ดี จึงบอกต่อ) จากเครื่องจักสาน เครื่องใช้สอยที่ใช้ในครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวชุมชน โดยมีพ่อค้าจากต่างจังหวัดมารับซื้อกระติบข้าวถึงชุมชน

บางขั้นตอน

ประวัติของกระติบข้าว
คุณธิษณามดี ประธานกลุ่ม ให้ข้อมูลว่า จากการเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนว่า คนสมัยก่อนได้ใช้ภูมิปัญญาสอนลูกหลานอย่างชาญฉลาด ฝึกทักษะการใช้ชีวิตให้กับลูกหลานให้รู้จักครองตน ครองคน และครองงาน ในสมัยก่อนที่ผู้ชายจะมีเหย้ามีเรือน จะต้องเริ่มจากการทำมาหากินแบบใช้มันสมอง มือจับจอบ จับไถ ทำนา ทำไร่ ที่เป็นอาชีพของเกษตรกร ไม่มีโรงเรียนในการเรียนหนังสือ จึงต้องใช้แรงงานซึ่งอาชีพส่วนใหญ่คือเกษตรกรรม เริ่มมีแนวคิดในการจักสานของใช้ในครัวเรือนสานกระบุง ตะกร้า กระติบข้าว กระจาด เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ภายในครัวเรือน ซึ่งลูกผู้ชายจะต้องทำสิ่งนี้ให้เป็น ส่วนผู้หญิงจะต้องทอผ้า เป็นต้น
ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปเป็นสังคมแห่งการบริโภควัตถุ สังคมยุคศรีวิไล ทำให้สิ่งดีงามของชุมชนบางอย่างสูญหายไปพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาทดแทนด้วยความเจริญของสังคม แต่สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาที่ยังมีการอนุรักษ์สืบทอดและพัฒนามาจนถึงปัจจุบันคือ “กระติบข้าว” กระติบข้าว เป็นงานหัตถกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยก่อนเรียกว่า แอบข้าว ก่องข้าวหรือกระติบข้าว เป็นผลิตภัณฑ์อันเกิดจากต้นทุนทางสังคมได้นำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นคือ ต้นคล้า รวมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างสรรค์เป็นผลงานเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวันและสร้างรายได้เป็นอย่างดีสำหรับสมาชิก ชุมชน จนกลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของตำบลศรีบุญเรือง ที่สร้างชื่อให้ชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วและมั่นคง เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ลูกหลานได้ทราบถึงรากเหง้าของชุมชนต่อไป

ผลิตภัณฑ์ที่ได้

แหล่งเงินทุนของกลุ่ม
1. ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว รัตนาภา 123,000 บาท
2. บริษัท ทรูมูฟ จำกัด (ture move) จำนวน 2,000 บาท
3. เงินออมสมาชิก 5,400 บาท
4. เงินหุ้นสมาชิก 540 บาท
5. เงินสะสมกลุ่ม 43,000 บาท

การบริหารจัดการเงินทุน
กลุ่มสานกระติบข้าวมีการแบ่งปันผลกำไรให้กับสมาชิกและสังคมในการสร้างคนงาน
และอื่นๆ ดังนี้
1. ค่าตอบแทนคณะกรรมการ ร้อยละ 10
2. สาธารณประโยชน์ ร้อยละ 10
3. ปันผลประโยชน์ให้สมาชิกร้อยละ 40 (ของหุ้น)
4. เงินจากการบริหารผลกำไรเข้ากองทุน ร้อยละ 30
5. สวัสดิการ ร้อยละ 10
6. ค่าดำเนินการ ร้อยละ 20

ร่วมกันสาน

กระบวนการผลิต
วัตถุดิบและส่วนประกอบวิธีการ
1. แหล่งวัตถุดิบ
วัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้า คือต้นคล้า กลุ่มสั่งต้นคล้าและอุปกรณ์อื่นๆ มาจากต่างจังหวัดที่มีพ่อค้านำมาเร่ขายในพื้นที่
2. วัสดุ-อุปกรณ์
2.1 มีด/มีดจักคล้า
2.2 กรรไกร
2.3 เชือก
2.4 เข็ม
2.5 ไผ่สานรองฝากระติบ
2.6 ฝาคล้า
2.7 ฐาน (ก้านตาลหรือก้านมะกอก)
กลุ่มมีการจักสานกระติบข้าว 3 ขนาด ได้แก่
1. ขนาดใหญ่ จักเส้นตอกยาว 70 เซนติเมตร ส่วนกระติบใช้เส้นตอก 62 เส้น ส่วนฝาใช้ 64 เส้น
2. ขนาดกลาง จักเส้นตอกยาว 60 เซนติเมตร ส่วนกระติบใช้เส้นตอก 50 เส้น ส่วนฝาใช้ 52 เส้น
3. ขนาดเล็ก จักเส้นตอกยาว 20 เซนติเมตร ส่วนกระติบใช้เส้นตอก 60 เส้น ส่วนฝาใช้ 62 เส้น

วิธีการ
1. นำต้นคล้าที่ได้มาตัด วัดความยาวให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ
2. จักเป็นเส้นตอก
3. นำมาตากแดด ประมาณ 3 แดด
4. แช่น้ำ 3 ชั่วโมง
5. นำเส้นคล้ามาขูดเอาไส้ออก รีดเส้นทีละเส้น
6. น้ำเส้นคล้าที่ได้มาตากแดด 2-3 วัน จนเส้นคล้ามีสีเหลือง
7. ทำการก่อขึ้นรูปและสานตามขนาดที่ต้องการ
8. พับเหลือครึ่งลูก จะได้ฝากระติบข้าว 1 ด้าน

นำส่วนประกอบอื่นๆ มาเย็บประกอบ จะได้กระติบข้าวเต็มใบ แล้วร้อยเชือกเป็นสายสะพาย
หากต้องการเพิ่มลวดลาย ความสวยงาม สมาชิกจะนำคล้าไปย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ เปลือกต้นประดู่ มะเกลือ และหมักโคลน ตามความต้องการของเกษตรกรเพื่อใช้ในครัวเรือน หรือตามที่ลูกค้าสั่งทำพิเศษ เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้ใช้
ต้นทุนการผลิต/ราคาจำหน่าย

สมาชิกกลุ่ม

1. ต้นคล้า 3 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 4.50 บาท = 13.50 บาท
2. ไผ่สานรองฝากระติบ 3 แผ่น แผ่นละ 2 บาท = 6 บาท
3. ฝาคล้า 1 แผ่น แผ่นละ 5 บาท = 5 บาท
4. ฐาน (ก้านตาล) 1 ก้าน ก้านละ 10 บาท = 10 บาท
5. เชือกเย็บ ประมาณ = 3 บาท

รวมต้นทุนการผลิตกระติบข้าว (ขนาดใหญ่) 1 ใบ = 34.50 บาท
กระติบข้าวขนาดเล็ก ต้นทุน 22.80 บาท จำหน่ายใบละ 85 บาท
กระติบข้าวขนาดกลาง ต้นทุน 28.05 บาท จำหน่ายใบละ 100 บาท
กระติบข้าวขนาดใหญ่ ต้นทุน 34.50 บาท จำหน่ายใบละ 95 บาท
การผลิตกระติบข้าว ทั้ง 3 ขนาด ต้นทุนจะแตกต่างกันที่ปริมาณเส้นตอกคล้า โดย กระติบข้าวขนาดใหญ่ใช้คล้าสด ประมาณ 3 กิโลกรัม ขนาดกลาง ใช้ 2.5 กิโลกรัม และขนาดเล็กใช้ 2 กิโลกรัม
การจำหน่ายผลิตภัณฑ์

เป็นการรวมกลุ่มจำหน่าย ตรวจสอบคุณภาพโดยกรรมการรวมทั้งสมาชิก และมีพ่อค้าคนกลาง จากสกลนคร นครพนม และร้อยเอ็ด มารับซื้อถึงที่ทำการกลุ่มครั้งละประมาณ 3,000 ใบ ต่อเดือน
การบริหารและการจัดการสถาบัน

กลุ่มสานกระติบข้าวจากคล้าชุมชนห้วยฮวก จอมทอง นาฝาย เป็นกลุ่มที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีเงินปันผล มีการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับสมาชิกอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ จึงได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมและให้การสนับสนุน

ระเบียบข้อบังคับกลุ่ม หลักเกณฑ์การเข้าร่วมกลุ่ม
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบกลุ่มส่งเสริมอาชีพจักสานกระติบข้าวด้วยคล้า
ข้อ 2 กลุ่มนี้ตั้งอยู่ที่เทศบาลตำบลจอมทองเลขที่ 999 หมู่ที่ 9 ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู 39180 โทร. (093) 381-5573
ข้อ 3 ระเบียบนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 4 วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมอาชีพจักสานกระติบข้าวจากคล้า
ข้อ 5 เพื่อพัฒนาจิตใจสมาชิกให้เป็นคนดี มีคุณธรรม 4 ประการ คือ
5.1 เป็นคนซื่อสัตย์
5.2 เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว
5.3 เป็นคนไม่มัวเมาในสิ่งอบายมุข
5.4 เป็นคนรักความสามัคคี
ข้อ 6 เพื่อพัฒนาสมาชิกให้เป็นคนดี มีคุณธรรม 4 ประการ คือ
6.1 เป็นคนเรียนเก่ง ใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ
6.2 เป็นคนคิดเก่ง คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา
6.3 เป็นคนเก่งงาน และมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน
6.4 เป็นคนเก่งคน มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อทุกๆ คน
ข้อ 7 สมาชิกต้องมาสมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วยใจรักกลุ่มส่งเสริมอาชีพจักสานกระติบข้าวจากคล้า
7.1 ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 5

ข้อ 8 สมาชิกขาดหรือพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกตามเหตุดังนี้
8.1 ตาย
8.2 ลาออก หรืออนุมัติให้ลาออกจากคณะกรรมการ
8.3 วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนหรือเป็นคนไร้ความสามารถ
8.4 จงใจฝ่าฝืนระเบียบของกลุ่มหรือแสดงตนเป็นปรปักษ์ไม่ให้ความช่วยเหลือหรือไม่ให้ความร่วมมือกับกลุ่ม

กลุ่มสานกระติบข้าวจากคล้าชุมชนห้วยฮวก จอมทอง นาฝาย ได้สืบทอดภูมิปัญญาและขยายผลด้วยการสืบทอดจากบรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่นด้วยการดู ฝึกปฏิบัติและมีการออกงานตามงานประเพณีต่างๆ ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และต่างจังหวัด

บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน
ด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป ทำให้ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนรายได้ภาวการณ์การจ้างงานลดลงและค่าครองชีพสูงขึ้น ดังนั้น ทางเทศบาลตำบลจอมทอง ได้เล็งเห็นความสำคัญจึงเกิดการรวบรวมก่อตั้งกลุ่มจักสานกระติบข้าวจากคล้าขึ้นมาจากทั้ง 3 ชุมชน โดยการรวบรวมกลุ่มด้วยความสมัครใจของสมาชิกแต่ละคน แต่ละครอบครัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน กลุ่มมีการคัดเลือกคณะกรรมการเพื่อมาเป็นตัวแทนในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งในแต่ละครั้งของการประชุมสามัญประจำปี ทางคณะกรรมการกลุ่มจะมีการสรุปผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ให้แก่สมาชิกได้รับทราบ มีการรับสมัครสมาชิกเพิ่มในทุกปี ปีละ 1 ครั้ง พร้อมรับฟังแนวคิดข้อเสนอแนะ หาแนวทางการพัฒนากลุ่มต่อไป

อุปกรณ์

ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน
กลุ่มสานกระติบข้าวปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 29 คน เดิมสมาชิกแต่ละคนสานกระติบข้าวใช้เองในครัวเรือนและจำหน่ายเอง ต่อมามีการรวมกลุ่มกันของสมาชิกจากทั้ง 3 หมู่บ้าน รวมผลิตภัณฑ์กำหนดราคาโดยกลุ่มเองมีผู้ซื้อมารับซื้อถึงที่บ้าน อีกทั้งในหมู่บ้านมีวัตถุดิบคือ ต้นคล้า ที่สามารถปลูกและหาได้ง่ายโดยการนำเอาวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น มาเพิ่มมูลค่าด้วยการสานเป็นกระติบข้าวและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากคล้า เช่น ตะกร้า กระเป๋า และถาด เป็นต้น แต่ทางกลุ่มจะเน้นการผลิตกระติบข้าวมากกว่า กระติบข้าวที่ทางกลุ่มทำมี 3 ขนาดด้วยกันคือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งมีราคาจำหน่ายแตกต่างกัน ดังนี้

ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง (เซนติเมตร) ราคาจำหน่าย (บาท)
เล็ก 12 85
กลาง 14 100
ใหญ่ 17 95
เนื่องจากขนาดกลางเป็นขนาดพิเศษทางกลุ่มจะทำตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น และถ้ามีลวดลายราคาก็จะเพิ่มขึ้นตามความยากง่ายของลวดลายนั้นๆ

กระติบข้าวเป็นภาชนะที่ใช้เก็บข้าวเหนียวซึ่งผู้ที่นิยมบริโภคมีอยู่ทั่วประเทศโดยเฉพาะภาคอีสาน จึงถือได้ว่าเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในท้องถิ่นและต่างพื้นที่ สมาชิกหนึ่งคนสามารถสานกระติบข้าวได้ 3-5 ลูก ต่อวัน สร้างร้ายได้เป็นอย่างดีโดยเฉลี่ย 8,000-13,000 บาท ต่อคน ต่อเดือน

กลุ่มสานกระติบข้าวจากคล้าชุมชนห้วยฮวก จอมทอง นาฝาย มีลักษณะเป็นกลุ่มที่มีการดำเนินการต่างๆ ในชุมชน เพื่อกินเพื่อใช้ในชุมชน เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ชุมชนเกิดความพอเพียง พออยู่พอกิน เพื่อลดรายจ่าย เน้นการผลิตใช้เองแทนการซื้อ และการนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาต่อยอดและพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้าสู่ตลาดผู้บริโภค เมื่อเหลือกินเหลือใช้ในชุมชน ได้สร้างกระบวนการการเรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน จนสามารถปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดผู้บริโภคได้สร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากท้องถิ่นอื่นจนมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อสินค้าถึงชุมชน

กลุ่มสานกระติบข้าวจากคล้าชุมชนห้วยฮวก จอมทอง นาฝาย เป็นกลุ่มสานกระติบข้าว เป็นอาชีพเสริมหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร หลังจากที่มีการรวมกลุ่มได้มีการพัฒนากลุ่มอย่างต่อเนื่องคือ สมาชิกเข้าร่วมอบรมการพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง นอกจากกิจกรรมการสานกระติบข้าวจากคล้าแล้วยังมีกิจกรรมการขยายพื้นที่ปลูกคล้าให้เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิกภายในกลุ่มและสอดคล้องกับโครงการ “อนุรักษ์พันธุ์พืช” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความสามัคคี การมีส่วนร่วมของสมาชิกและชุมชนทั้ง 3 ชุมชน ซึ่งได้นำเอาทุนทางสังคมที่มีด้านต่างๆ เข้ามามีบทบาทและมีส่วนในการดำเนินการของกลุ่มสานกระติบข้าวจากคล้าต่อไป

การมีส่วนร่วมทางสังคม
กลุ่มได้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมทางสังคมในทุกด้าน ได้แก่ ประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ทั้งชุมชนบ้าน โรงเรียน วัด และมีการจัดตั้งหลักสูตรการถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านจักสาน ให้ถ่ายทอดสู่เยาวชนได้อนุรักษ์ไว้ชั่วลูกหลานต่อไป

ความมั่นคงของการดำเนินกิจกรรม
กลุ่มได้มีการดำเนินการประชุมวางแผนร่วมกันในการทำกิจกรรมของกลุ่ม ซึ่งเป็นการวางแผนการผลิตสินค้าในปี 2562 และ 2563 ดังนี้

เนื่องจากการผลิตปี พ.ศ. 2562 บรรลุเป้าหมายและเกินเป้าหมายที่วางแผนการผลิตไว้ ทำให้การวางแผนการผลิตในปี พ.ศ. 2563 ต้องเพิ่มจำนวนการผลิตขึ้น แต่จะเน้นการเพิ่มการผลิตขนาดกระติบข้าวขนาดเล็กและขนาดใหญ่ให้มากขึ้น เพราะความนิยมของผู้ซื้อจะนิยมซื้อขนาดเล็กและขนาดใหญ่มากกว่าขนาดกลาง

การสร้างโอกาสและจุดแข็งภายในกลุ่ม
1. กลุ่มมีความเข้มแข็ง
2. เป็นภูมิปัญญาตั้งแต่บรรพบุรุษ
3. สามารถปลูกต้นคล้าเองได้ในพื้นที่
4. แหล่งผลิตและจำหน่ายใกล้ถนนเส้นหลักเชื่อมต่อหลายจังหวัด
5. การผลิตเน้นคุณภาพของสินค้าและผลิตตามความต้องการของตลาด
6. เทศบาลจอมทอง ได้ให้การสนับสนุนด้านสถานที่เพื่อเป็นหน้าร้านและจำหน่าย
7. ศูนย์เรียนรู้พัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มในด้านทุน องค์ความรู้ในด้านต่างๆ รวมถึงโอกาสทางการตลาดด้วย
8. สามารถเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคคลทั่วไปได้

การวางแผนพัฒนาสู่อนาคต
1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
2. สร้างเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์กลุ่มและสินค้า
3. ถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นลูกรุ่นหลานให้สืบสานอาชีพต่อไป
4. ถอดองค์ความรู้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

คุณกมล โสพัฒน์ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า กระติบข้าวจากคล้า เป็นภูมิปัญญาของคนอีสาน สอนลูกหลานให้รู้จักทำของใช้ในครัวเรือนก่อนจะไปมีเหย้ามีเรือน นี่คือภูมิปัญญาไทยสอนลูกด้วยปัญญาปัจจุบันกลายเป็นสินค้า “OTOP” ในการสานกระติบข้าวนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มมีขึ้นเมื่อใด แต่มีการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น โดยการปฏิบัติ สาธิต ให้ดู ฝึกฝนกันแบบตัวต่อตัว เริ่มจากในครอบครัว ลูกๆ ที่ยังเด็กจะเรียนรู้จากพ่อแม่ ในเวลาว่าง และในโรงเรียนมีการสอนการสานกระติบข้าวจากคล้า ปัจจุบันพบว่า ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ จนกระทั่งวัยชรา (ทุกเพศทุกวัย) มีการสานกระติบข้าวทุกหลังคาเรือน เด็กหรือเยาวชนในชุมชนร้อยละ 80 สามารถสานกระติบข้าวได้ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนมีเงินเก็บจากการสานกระติบข้าว กระติบข้าวจากคล้า ใช้แรงงานคนเน้นความละเอียดอ่อน ลวดลายที่สวยงามสร้างสรรค์ความประณีตของชิ้นงาน เป็นสินค้าทำมือ (Hand made) โดยการใช้ชิ้นตอกที่มีขนาดเล็กมีการนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้ในการย้อมสีเพื่อความสวยงาม

ซึ่งกลุ่มมีผลงานการรับรองจากหน่วยงานเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ได้รับรองมาตรฐานสินค้า ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดในการประกวดกลุ่มสถาบันเกษตรกรดีเด่น ปี 2563 สาขากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร หากเกษตรกรสนใจสั่งซื้อสินค้าหรือเยี่ยมชม สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มสานกระติบข้าวจากคล้าชุมชนห้วยฮวก จอมทอง นาฝาย เทศบาลตำบลจอมทอง เลขที่ 999 หมู่ที่ 9 ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอศรีบุญเรือง หรือ คุณธิษณามดี ศรีหนองเม็ก ประธานกลุ่ม โทร. (093) 381-5573 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอศรีบุญเรือง (042) 353-784