เลี้ยงปลากระชัง เน้นแปรรูปขาย ง่ายต่อการทำตลาด

คุณชัยวัฒน์ สุขสำแดง อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าชัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังที่ประสบผลสำเร็จมากว่า 20 ปี โดยเขาได้ใช้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำให้เกิดประโยชน์ ด้วยการมาเลี้ยงปลาในกระชังที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีข้อดีคือกระชังของเขาอยู่เหนือเขื่อนจึงทำให้มีน้ำเลี้ยงปลาได้ตลอดทั้งปี ทำให้เวลานี้จากงานที่คิดจะทำเป็นอาชีพเสริม กลายเป็นงานที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

จากแค่คิดทดลองเลี้ยง จนกลายเป็นอาชีพ

คุณชัยวัฒน์ สุขสำแดง เล่าให้ฟังว่า ช่วงสมัยก่อนนั้นมีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมทั่วไปคือ ปลูกพืช ต่อมาได้รู้สึกว่าอยากจะเลี้ยงปลาในกระชังเป็นอาชีพเสริม โดยเห็นว่าบริเวณที่ดินอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำ มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี จึงมีแนวคิดว่าการเลี้ยงปลาน่าจะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ จึงได้ทดลองเลี้ยงแบบจำนวนน้อยๆ โดยเริ่มเลี้ยงในช่วงแรก ประมาณ 2 กระชัง

คุณชัยวัฒน์ สุขสำแดง

ซึ่งจากวันนั้นที่คิดจะเริ่มเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมมาจนถึงปัจจุบัน เขาสามารถเลี้ยงปลาในกระชังจนประสบผลสำเร็จและมีตลาดรองรับอย่างหนาแน่น ทำให้เวลานี้ฟาร์มของเขามีกระชังเลี้ยงปลาในแม่น้ำถึง 60 กระชัง กันเลยทีเดียว

 

น้ำมีให้เลี้ยงปลาได้ตลอดทั้งปี

ในขั้นตอนแรกจะนำปลามาอนุบาลภายในกระชังที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเลือกซื้อลูกพันธุ์ปลาจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาอนุบาล โดยลูกปลาทับทิมจะนำมาอนุบาลในกระชัง ที่มีขนาด 5×5 เมตร โดยใช้เวลาประมาณ 45 วัน จากนั้นก็จะนำมาแยกใส่กระชังอื่นๆ ต่อไป เพื่อไม่ให้ภายในกระชังมีปลาหนาแน่นมากเกินไป

“ช่วงแรกปลาทับทิม เราก็จะให้กินอาหารเม็ดเล็กที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 60 ให้กินแบบนี้ประมาณ 15 วัน เสร็จแล้วเราก็จะเปลี่ยนไปเป็นอาหารที่มีขนาดเม็ดใหญ่ขึ้น ก็จะมีขนาดเม็ดที่ใหญ่ขึ้นและเปอร์เซ็นต์โปรตีนก็จะค่อยๆ ลดลงมาด้วย พอลูกปลาทับทิมที่อนุบาลได้อายุที่กำหนดก็จะแยกให้ 1 กระชัง มีปลาทับทิม ประมาณ 1,000-1,500 ตัว ต่อกระชัง เลี้ยงไปอีกประมาณ 4 เดือน ปลาทับทิมชุดนี้ก็จะจับขายได้” คุณชัยวัฒน์ บอกวิธีการเลี้ยงปลาทับทิม

พื้นที่ภายในฟาร์ม

ส่วนด้านปลากดคังนั้น คุณชัยวัฒน์ บอกว่า จะนำลูกปลามาอนุบาลประมาณ 4-6 เดือน จากนั้นเลี้ยงไปอีกให้มีอายุประมาณ 1 ปี 8 เดือน ก็จะได้ปลากดคังขนาดไซซ์ตามที่ตลาดต้องการ โดยปลาแต่ละชนิดก็จะมีอายุการเลี้ยงที่แตกต่างกันไป จึงทำให้สามารถจับแบบสลับหมุนเวียนได้ ทำให้สามารถมีเงินนำมาใช้จ่ายอย่างไม่ขาดมือในการลงทุน ซึ่งคุณชัยวัฒน์บอกว่า การทำตลาดที่ดีคือ ต้องมีปลาให้ลูกค้าตลอด โดยที่การส่งขายต้องไม่ขาดช่วง ก็จะทำให้ลูกค้าเชื่อใจในการทำธุรกิจ

ปลาทับทิม

ซึ่งปลาที่คุณชัยวัฒน์ เลี้ยงทั้งหมด ปลาทับทิมจะอ่อนแอมาก เมื่อเข้าสู่ระยะน้ำเป็นสีแดงในช่วงฤดูฝน โดยเขาจะหมั่นคอยสังเกตและควบคุมการให้อาหารอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการป้องกัน พร้อมทั้งมีการดูแลป้องกันโรคอยู่เป็นระยะ

 

เน้นแปรรูปขาย จะง่ายต่อการทำตลาดมากกว่า

ในเรื่องของการตลาดนั้น คุณชัยวัฒน์ บอกว่า สมัยแรกที่ขายใหม่ๆ ยังไม่มีความชำนาญมากนัก จึงทำให้ยังจับทิศทางการทำกำไรได้ไม่ดีเท่าที่ควร ต่อมาเมื่อมีประสบการณ์จากการเลี้ยงมากขึ้น จึงทำให้สามารถจับทิศทางของการตลาดได้ดี โดยจะเน้นชำแหละขายเองที่หน้าฟาร์ม ตกวันละ 40-50 กิโลกรัม และนำมาทอดขายเป็นกับข้าวให้กับลูกค้าในชุมชนทุกเช้า ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อีกหนึ่งช่องทาง

ปลาดุกผิวนวลสวย
ตั้งร้านขายหน้าฟาร์มทุกเช้า

“ปลาทับทิม ขายอยู่ที่หน้าฟาร์มเลย อยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท ปลากดคัง ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท โดยปลากดคังขนาดไซซ์ที่ขายได้ต้องให้มีน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนปลาสังกะวาดขายอยู่ที่หน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 110 บาท ซึ่งสำหรับผมเวลานี้ ถ้าเราสามารถทำตลาดขายปลีกได้ มีสินค้าขายออกได้ทุกวันตลอดก็จะไม่หายไปไหน และราคาก็ดีกว่าการขายส่งอย่างแน่นอน โดยต้องทำตลาดให้มีความหลากหลายช่องทาง” คุณชัยวัฒน์ บอก

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงปลาเป็นอาชีพ คุณชัยวัฒน์ ให้คำแนะนำว่า ให้สำรวจว่าพื้นที่ที่จะเลี้ยงมีแหล่งน้ำที่เพียงพอมากน้อยเพียงใด จากนั้นให้ศึกษาวิธีการเลี้ยงจากผู้ที่ประสบผลสำเร็จ ก็จะทำให้ผู้ที่จะเริ่มเลี้ยงใหม่เดินตามแนวทางที่ถูกต้องและประสบผลสำเร็จ และการเลี้ยงจะช่วยเป็นครูสอนให้มีประสบการณ์มากขึ้นตามไปเอง แต่ที่ต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาคือ เรื่องการตลาด โดยอย่าขายส่งเพียงอย่างเดียว ต้องมีการนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้มากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นอาชีพที่ทำเงินเลี้ยงครอบครัวได้อย่างแน่นอน