ลังแข สาวใต้ชาวป่า เนื้อหนาขาวปุย เปรี้ยวยามวัยอ่อน แต่…หวานตอนสุก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea macrophylla Muell. Arg

ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE, PHYLLANTHACEAE

ชื่อสามัญ Balacuya, Malayan Baccaurea

ชื่ออื่นๆ ลูกปุย ลำแข รังแข มะไฟควาย มะแค้ (ปัตตานี) ตัมโปย (มลายู) ลารัก (ชาวเงาะป่าซาไก) ตัมปุยบูลัน (อินโดนีเซีย)

หนูรู้สึกน้อยใจกับชีวิตเล็กน้อย ในฐานะสาวบ้านป่าชาวใต้ ที่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะถิ่น เฉพาะจังหวัด จะหันไปพึ่งพาเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ได้รับการส่งเสริม หรือจัดเป็นพืชพันธุ์เศรษฐกิจ ซ้ำยังถูกจัดเป็นผลไม้ป่า “หายาก เสี่ยงสูญพันธุ์” อีก ยิ่งกลุ้ม กว่าจะได้พบผู้คนก็ต่อเมื่อมีคนเข้าไปเก็บ ไปสอย ในชายป่าออกมาแขวนห้อย เป็นช่อเป็นพวงขายข้างทาง ให้ผู้คนที่ขับรถผ่านไปมาซื้อ ส่วนใหญ่ก็แขวนห้อยพวงคู่กับพวงมะไฟหรือละไม แต่พอใครเห็นพวงที่ห้อยหนูไว้กลับคิดผิด

แล้วนินทาว่า ทำไมร้านนี้จึงเอากระท้อนมาห้อยขาย เห็นไหมเข้าใจผิดหนักไปอีก ทั้งๆ ที่หนูผลเล็กกว่ากระท้อน เพราะมองไกลๆ จะคล้ายๆ กัน ยิ่งช่วงปีนี้วิกฤตหนักไปอีก เมื่อมีประกาศของรัฐขอความร่วมมือลดการเดินทางและกิจการขนส่งคมนาคม ด้วยการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้หนูไม่ได้เจอผู้คนซะเลย

ชื่อของหนูนอกจากจะแปลกแล้วยังถกเถียงกันว่า น่าจะออกแนวผู้ชาย และบางท้องถิ่นกลับเรียก “มะไฟควาย” หนูจึงหมดอารมณ์จริงๆ จะมีกำลังใจอยู่บ้างที่บางท้องถิ่นเรียก “ลูกปุย หรือ ปุกปุย” และที่ฟังดูดี ก็ที่ชาวเงาะป่าซาไก เรียกว่า “ลารัก” พอพิจารณาความหมายก็ติดลบอีก หนูจึงสับสน และคาใจกับชื่อของตัวเองเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม หนูก็ภูมิใจว่าเป็นสาวชาวใต้ที่คนสนใจหนูหลายจังหวัด เช่น ที่จังหวัดพังงา ในอำเภอท้ายเหมือง ใครผ่านไปที่ตำบลลำภี เคยมีต้นลูกปุยมาก เขาจึงมีชื่อ “บ้านบกปุย” และที่นี่เขาก็แขวนพวงหนูลูกลังแข ห้อยโชว์ไว้ขายข้างทาง น่ารักน่ากินเชียวล่ะ หรือถ้าใครขับรถผ่านเส้นทางสายพังงา-ตะกั่วป่า ก็จะพบพวงห้อยสีส้มอมเหลืองเป็นแนวยาวหลายร้าน ส่วนใหญ่จะมัดไว้ช่อละ 1 กิโลกรัม ราคา 50-60 บาท ตามขนาดผล หรือถ้าใครได้ไปถึงจังหวัดยะลา ที่อำเภอเมืองยะลา ตำบลลำพะยา เขาจัดหนูไว้เป็นผลไม้ประจำถิ่น และปลูกมากที่สุด

แต่เดี๋ยวนี้หนูก็มีญาติกระจายหลายจังหวัด เช่น ตรัง ปัตตานี ภูเก็ต ระนอง หรือถ้าจะตามหาบรรพบุรุษ ก็ทราบว่าโคตรตระกูลอยู่ถึงเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และที่ใกล้ที่สุดก็เป็นมาเลเซีย ในธรรมชาติพบหนูได้ตามป่าพรุ ดินร่วนซุย ที่ราบชายป่าเชิงเขา

หนูเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่สูงใหญ่ได้มากถึง 20 เมตร สกุลเดียวกับมะไฟ แต่ลักษณะต้นคล้ายต้นลองกอง เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาล ใบเดี่ยว ออกดอกเป็นช่อยาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ออกตามกิ่งก้านทั่วไป จึงออกผลเป็นพวง ผลกลม สีเหลืองนวล โตได้ 7-10 เซนติเมตร เปลือกผลหนาแตกตามพู ใต้ชั้นเปลือกสีส้ม มีเนื้อเปลือกชั้นในสีขาวขุ่นห่อหุ้มเนื้อผลของลังแข ซึ่งมีเนื้อปุยคล้ายเนื้อมังคุด หรือเนื้อกระท้อน รสชาติอมเปรี้ยวอมหวาน แต่ถ้าเป็นผลอ่อนจะเปรี้ยวมาก เมื่อสุกจัดก็จะหวาน เนื้อปุยลื่น บางคนชอบกลืนทั้งเมล็ด ถ้ากัดหรือเคี้ยวเมล็ดแตกจะมีรสขม หลายคนให้นิยามว่าเหมือน “กินมะไฟผสมมังคุด”

ไม่ทราบว่าโชคดีหรือโชคร้าย ที่หนูไม่มีศัตรู แม้เมื่อออกผลก็ไม่ต้องดูแลหุ้มห่อเหมือนกระท้อน รอเก็บผลได้เลย ย้ำเตือนว่า ถ้ากินผลอ่อนก็เปรี้ยวจี๊ดจ๊าดถึงใจ ขับรถหายง่วง แต่เมื่อสุกจัดก็หวานถึงใจเช่นกัน เดี๋ยวนี้เริ่มมีคนนิยมนำเมล็ดไปเพาะขยายพันธุ์ และเสียบยอดก็ได้ผลเร็ว ผลผลิตแต่ละปีได้ 400-500 กิโลกรัมต่อต้น ออกทุกรอบปี แต่ตอนเก็บเกี่ยวต้องระวังผิวผล เปลือกช้ำ ถ้าถลอกโดนอากาศ จะเป็นสีดำกลายเป็นสาวแก้มช้ำ จะเก็บผลสุกจัดต้องรอให้ผิวผลเป็นสีเหลืองอมส้มจนเข้มออกน้ำตาล เมื่อสอยเก็บหนูรวมพวงแล้วอย่าเก็บไว้นานนะคะ รับประทานเลย เป็นผลไม้ประจำถิ่นหายาก ชื่อแปลก แต่ผลสุกรสหวานชื่นใจ ช่วยลดความดันโลหิต และแก้ท้องผูกได้อย่างดีนะจ๊ะ

หนูแอบคิดว่าที่เขารวมมัดจับพวงห้อยขาย จะขัดนโยบายรัฐบาลหรือเปล่า เพราะหนูได้ส่งสโลแกนป้องกันการติดเชื้อ “โควิด-19” ไปที่ทำเนียบสนับสนุนว่า “รวมกันตายหมู่ แยกอยู่ตายเดี่ยว” แต่ใครๆ ซื้อหนูไปหนึ่งพวงแล้วชอบ ขับรถไป กินไป หมดพวงทุกคน ที่-งง-งง-งง ก็คือส่วนใหญ่ “กลืนทั้งเมล็ด” หนูงี้ขนลุก

เข้าไปอึดอัดแทบแย่เลยจ้า..! หนูขอเปลี่ยนความคิดเป็น “รวมกันตายหมู่ แยกกันอยู่รอดแน่ๆ” ดีกว่า?

……………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครัั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563