เฉลิม พีรี ปราชญ์เกษตรดีเด่น เปิดศูนย์เรียนรู้ฯ “เกษตรสมคิด” 1 ไร่ มั่งคั่ง ยั่งยืน

ลุงเฉลิม พีรี ปราชญ์เกษตรดีเด่น จังหวัดกำแพงเพชร นับเป็นต้นแบบของการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตร จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ทำสวนส้มโออินทรีย์ โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จากจุลินทรีย์เบญจคุณ มีการเลี้ยงไก่ เป็ด หมูหลุม การผลิตน้ำส้มควันไม้ และการผลิตน้ำหมักจากพืชสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น มาใช้ทดแทนการใช้สารเคมี นอกจากนั้น ยังได้ปรับสวนส้มโอ เป็นการปลูกไม้ยืนต้นแบบผสมผสาน มีความร่มเย็นเป็นธรรมชาติ เป็นผู้ค้นพบเทคนิคการขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น ซึ่งมีอัตราการรอดตายสูง ทำได้ง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามาก

ลุงเฉลิม พีรี

ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ

สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) จังหวัดปทุมธานี ได้ขยายผลศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ด้านการเกษตร
และเผยแพร่องค์ความรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนไทยได้ร่วมเรียนรู้ศาสตร์พระราชา สืบสาน รักษา ต่อยอด สืบทอดพลังแห่งความดีผู้ทรงเป็นดั่งกำลังของแผ่นดิน

“เกษตรสมคิด” ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จังหวัดกำแพงเพชร

ขณะเดียวกัน ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำเกษตรตามแนวทางเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงทั่วประเทศ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านการเกษตร ให้คนไทยได้ใช้พัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่น

ลุงเฉลิม พีรี นักวิจัยไทบ้าน ของพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

สวน “เกษตรสมคิด” ของ ลุงเฉลิม พีรี เป็น 1 ในศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรและพื้นที่ใกล้เคียง ที่ผ่านมา มีเกษตรกรและคนรุ่นใหม่ที่สนใจในด้านการเกษตรจำนวนมากได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาดูงานที่สวนเกษตรสมคิด ของลุงเฉลิม ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ “Active Learning” ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องการทำเกษตรกรรมมากขึ้น

หากใครอยากรู้ว่า ภายในจังหวัดของท่าน หรือจังหวัดใกล้เคียงมีศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ฯ หรือไม่ สามารถโทร.มาสอบถามเพิ่มเติมได้ ที่เบอร์ 02-529-2212-13, 087-359-7171, 094-649-2333

ลุงเฉลิม โชว์ข้าวโพดอินทรีย์ที่ปลูก

รู้จัก “ลุงเฉลิม พีรี”

ลุงเฉลิม พีรี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 3 บ้านใหม่ ตำบลบึงสามัคคี อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร โทร. 081-921-9217 ลุงเฉลิม ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตร ที่ขยันเรียนรู้นวัตกรรมการเกษตรใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาสวนเกษตรสมคิดมาอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ทำให้ลุงเฉลิมได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรดีเด่น ของจังหวัดกำแพงเพชร และได้รับพระราชทานปริญญาเศรษฐศาสตร์ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ประจำปี 2557 มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

เดิมที ลุงเฉลิม มีอาชีพทำไร่อ้อย และปลูกข้าวโพดฝักอ่อนส่งโรงงาน ต่อมาปรับเปลี่ยนมาทำสวนส้มโอ ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว ต้องซื้อปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งปุ๋ยและยา ทำให้มีภาระหนี้สินมากมาย

ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ จากศูนย์เรียนรู้ฯ “เกษตรสมคิด”

ปี 2550 ลุงเฉลิม มีโอกาสไปดูงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เรียนรู้แนวทางการปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรม รวมทั้งการอนุรักษ์ดินและน้ำ สร้างแรงจูงใจให้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับปรุงพื้นที่ทำกินของตนเอง โดยมี กศน. อำเภอบึงสามัคคี เป็นที่ปรึกษาให้การสนับสนุนช่วยเหลือมาตลอด ลุงเฉลิม เลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรและปรับปรุงสวนส้มโอเป็นสวนเกษตรผสมผสาน ที่ปลูกดูแลในระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด

ลุงเฉลิม เลี้ยงไก่ เป็ด เลี้ยงหมูหลุม ผลิตน้ำส้มควันไม้และน้ำหมักจากพืชสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น มาใช้ทดแทนการใช้สารเคมี และใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากก้อนเบญจคุณ ของมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค ที่ลุงทำเอง โดยพัฒนาต่อยอดจากการเข้าอบรมความรู้กับ กศน. อำเภอบึงสามัคคี

ลุงเฉลิม พาผู้สนใจเกษตรอินทรีย์เยี่ยมชมสวน

ลุงเฉลิม เปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจเทคนิคการลดต้นทุนการผลิตในการทำเกษตรอินทรีย์ เช่น การทำปุ๋ยเบญจคุณ เพื่อใช้ในการเกษตร การพัฒนาพันธุ์ข้าวโพด มะขามเปรี้ยวเนื้อแดง ฯลฯ ลุงเฉลิม รับเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรพอเพียงให้กับหน่วยงานต่างๆ มากมาย

พร้อมกับเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรผ่านเฟซบุ๊กเพจ “สวนลุงเฉลิมพีรี” และ “สวนลุงเฉลิมเกษตรพอเพียง” และ YouTube “ป้อมซังเกษตรสร้างชีวิต” ผลงานที่ผ่านมาสร้างชื่อเสียงจนได้รับรางวัลศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระดับอำเภอดีเด่น ประจำปี 2556 ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

การขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น

ฐานการเรียนรู้ที่โดดเด่นของสวนเกษตรสมคิด คือ การขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น สามารถนำไปใช้กับพืชได้หลายชนิด เช่น มะนาว มะกรูด ชมพู่ สะเดา มะเดื่อ หม่อนบราซิล ทับทิม แคนา แคป่า มะกอก มะไฟ ตะขบป่า พืชผักพื้นบ้าน ไม้ผล ไม้ป่า พืชสมุนไพร แมงลัก ผักแพว ผักขม ฯลฯ การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ สามารถขยายพันธุ์ได้ครั้งละมากๆ ตามที่ต้องการ พืชไม่กลายพันธุ์ และมีความแข็งแรง

การขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น เปรียบเหมือนงานวิจัย ที่น่าทึ่ง เพราะใช้ยอดของต้นไม้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกิ่งแก่ ที่ใช้ปักชำกันทั่วไป นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านหรือเรียกว่า นักวิจัยไทบ้านนั่นเอง

ตัวอย่างการขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น

ยกตัวอย่าง การขยายพันธุ์มะนาว แบบควบแน่น เริ่มจากเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ ยอดมะนาว ความแก่อ่อน 40-60% น้ำสะอาด แก้วพลาสติก ขนาดบรรจุ 10 ออนซ์ ถุงพลาสติกใส ขนาด 6×11 นิ้ว ยางวงเส้นเล็ก

วิธีทำ เก็บดินจากบริเวณที่มีอินทรียวัตถุน้อย ทำดินให้ร่วนซุย พรมน้ำคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วปั้นดู พอติดมือ (กำพอเป็นก้อน) นำดินใส่ให้เต็มแก้วพลาสติก โดยแบ่งใส่ 3 ครั้ง แต่ละครั้งกดดินให้แน่น ระดับ 80% ใช้ไม้แหลมหรือกรรไกรเสียบตรงกลางแก้วที่ใส่ดินให้ลึกไม่เกิน 3 ใน 4 ส่วน ของแก้ว ใช้กรรไกรคม ตัดยอดมะนาวตามที่ต้องการ ตัดให้ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร ข้อสำคัญ อย่าให้แผลที่ตัดเปลือกฉีก จะออกรากไม่ดี

ขั้นตอนต่อมา ใช้กรรไกรตัดหนามออกให้หมด ป้องกันหนามแทงถุง ถ้าอากาศเข้าจะออกรากยาก นำยอดมะนาวเสียบลงในรูที่เสียบไว้ให้สุด กดดินรอบกิ่งมะนาวให้แน่น อย่าให้หลวม จะออกรากยาก นำถุงพลาสติกครอบลงแล้วรัดด้วยยางวง จำนวน 2 เส้น แล้วดึงก้นถุงให้ยางไปรัดอยู่ที่ขอบปากแก้ว นำไปเก็บไว้ในที่ร่มรำไร หลังจากนั้น 15-20 วัน ให้ตรวจดูราก พอพบรากให้ปล่อยจนรากมีสีน้ำตาลค่อยกลับถุง

การกลับถุง มีวิธีดังต่อไปนี้

1. ให้นำถุงออกจากแก้ว ช่วงประมาณ 18.00 น. เพื่อป้องกันความร้อน

2. นำถุงออกแล้ว นำแก้วมะนาวที่ออกรากแล้ว ใส่กลับลงไปในถุง (เปิดปากถุงไว้ ไม่ต้องใช้ยางวงรัด)

3. ทิ้งไว้ในร่มรำไร ประมาณ 5-7 วัน ค่อยนำแก้วมะนาวออกจากถุง เพื่อให้มะนาวปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม

4. หลังจากนั้นนำแก้วมะนาวที่ออกจากถุง พักตัวไว้ในร่ม 7-10 วัน ค่อยนำไปเพาะในกระถาง หรือนำไปปลูกได้เลย

ลุงเฉลิม โชว์วิธีการขยายพันธุ์พืช

ดินเพาะชำต้นไม้ (สูตรเบญจคุณ)

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่น่าเรียนรู้ในสวนเกษตรสมคิดคือ ดินเพาะชำต้นไม้ (สูตรเบญจคุณ) วิธีทำก็แสนง่าย เริ่มจากเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมด น้ำหนักรวม 10 กิโลกรัม ได้แก่

1. วัสดุย่อยสลายแล้ว (2 ส่วน) เช่น ใบไม้ ฟาง หญ้า กิ่งไม้

2. ดินที่สมบูรณ์ใต้กองวัสดุที่มีขุยไส้เดือนบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ (2 ส่วน)

3. น้ำสะอาด

4. ก้อนเบญจคุณ จำนวน 2 ก้อน

วิธีทำ ให้นำวัสดุย่อยสลายเทกอง นำดินเททับกองวัสดุ ผสมให้เข้ากัน นำก้อนเบญจคุณทุบละเอียด คลุกเคล้าให้เข้ากับกองดิน ผสมกันดีแล้ว ให้นำน้ำสะอาดพรมลงไปแล้วคลุกเคล้าไปเรื่อยๆ ความชื้น 40-50% พูนดินที่คลุกแล้วให้เสมือนลักษณะจอมปลวก นำกระสอบป่านหรือผ้าพลาสติกคลุมความชื้นแล้วนำวัสดุที่หนักทับบนผ้าพลาสติกเพื่อรักษาความชื้น คลุมทิ้งไว้ 5-7 วัน นำมาใช้ชำต้นไม้ได้ทุกชนิด

น้ำหมักผลไม้เบญจคุณ สูตรย่อส่วน

อุปกรณ์สำคัญ ได้แก่

1. ถังขนาด 40-50 ลิตร

2. น้ำสะอาด 22.5 ลิตร

3. น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม

4.จุลินทรีย์เบญจคุณ 2 ก้อน

5. ผลไม้รวม 5 ชนิด รวมน้ำหนัก 7.5 กิโลกรัม (มะละกอสุก ฟักทองแก่ แตงไทย แตงโม มะม่วงสุก กล้วยน้ำว้าสุก ส้มโอสุก กระท้อนสุก ฟักข้าวแก่) นำผลไม้มาสับหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ จะได้ย่อยเอนไซม์เร็วขึ้น หมักทิ้งไว้ 45 วัน ถึง 5 เดือน ในระยะเวลา 45 วัน จะต้องคนทุกวัน น้ำหมักผลไม้เบญจคุณ ใช้เร่งการเจริญเติบโตของพืชได้ดี

ลุงเฉลิม กับแปลงนาอินทรีย์

ลุงเฉลิม ใช้หลักการปรัชญาเกษตรพอเพียงมาใช้บริหารจัดการทรัพยากร เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเอง เพื่อให้ตัวเองและครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจนอดอยาก ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ใช้ปัญญาให้เกิดประโยชน์กับสังคม หากใครมีข้อสงสัยประการใด ติดต่อสอบถามกับลุงเฉลิมได้โดยตรงตามที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ข้างต้น

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 /05/2020


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354