อัมพวา มีมะม่วง “เหนียงนกกระทุง”

จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นดินแดนถิ่นฐานเดิมแห่งราชนิกุล เรียกว่า แขวงบางช้าง มาแต่โบราณตามที่เจ้านายในวังท่านเรียกกัน และเรียกสวนที่อยู่บางช้างว่า “บางช้างสวนนอก” และเรียกสวนที่อยู่ทางบางกอกว่า “สวนใน” จึงเป็น “บางช้างสวนนอก” เรียกคู่กับ “บางกอกสวนใน” แขวงบางช้างเมืองสมุทรสงคราม มีชื่อเสียงในเรื่องผักผลไม้ที่รสชาติดี เช่น พริกบางช้าง หอม-กระเทียมบางช้าง ยาจืดบางช้าง มะพร้าวผลใหญ่ มะม่วงรสหวาน ส้มโอรสดี

กระรอกเจาะ

มะม่วงรสหวาน คงน่าจะหมายถึง มะม่วงอกร่องบางช้าง ที่หอมและหวานไว้รับประทานคู่กับข้าวเหนียวมะม่วง ตอนนั้นยังไม่มีมะม่วงพันธุ์ไหนมาเทียบได้ถึงความหวานและความหอมฟุ้งขจรไปทั่วทั้งบ้านเท่ามะม่วงอกร่องบางช้าง ที่ทั้งหอมทั้งหวาน คนรุ่นเก่าชอบรับประทานข้าวเหนียวมูนกับมะม่วงอกร่องเท่านั้น หรือคนเฒ่าคนแก่มักรับประทานข้าวสวยกับมะม่วงอกร่อง เมื่อปล่อยต้นให้มีอายุมากจะให้ผลเล็ก ก่อนที่จะมีมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ผลใหญ่กว่า เนื้อเยอะกว่า ความหวานไม่ต่างกันเข้ามาแทน มะม่วงอกร่องบางช้าง จึงค่อยๆ หายไปจากข้าวเหนียวมะม่วง กลายเป็นมะม่วงหารับประทานยาก เพราะชาวสวนมะม่วงโค่นไปมาก จนแทบจะไม่เหลือไว้ติดสวน กำลังจะกลายเป็นมะม่วงในตำนานมะม่วงอกร่องบางช้าง

คุณสถาพร อร่ามดี กับลูกสาวกลางสวน

อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีมะม่วงโบราณพันธุ์ดีหลายพันธุ์ แม้นว่าอัมพวาไม่ใช่แหล่งผลิตมะม่วงรายใหญ่ของประเทศก็ตาม แต่อัมพวาก็มีมะม่วงอยู่หลากหลายพันธุ์ มีมะม่วงที่ยังไม่รู้จักรอการเปิดตัว ชาวสวนเองก็ไม่รู้ว่ามีมะม่วงแปลกอยู่คู่สวน สาเหตุหนึ่งที่ชาวสวนไม่รู้จัก เนื่องมาจากรุ่นปู่และรุ่นพ่อไม่ได้บอกชื่อไว้ พอตกมาถึงคนรุ่นลูกจึงไม่รู้จักชื่อมัน หรือรุ่นปู่และรุ่นพ่อก็ลืมชื่อมัน และไม่ได้ใส่ใจสนใจดูแลรักษา เพราะมีไม่กี่ต้น ซึ่งไม่ใช่มะม่วงพันธุ์หลักที่ปลูกจำนวนมากเพื่อไว้ขาย ผลไม้ชนิดไหนไม่ทำเงินก็มักถูกลืม แต่ทราบมาว่ามีมะม่วงโบราณพันธุ์หนึ่งอยู่ที่อัมพวา ชื่อ “มะม่วงเหนียงนกกระทุง” ซึ่งมันไม่ใช่มะม่วงทำเงิน แต่ก็น่าสนใจในความเป็นมะม่วงโบราณกับชื่อที่แปลกของมัน

มะม่วงเหนียงนกกระทุง

ดังนั้น เมื่อผู้เขียนกลับมาอัมพวา ได้ตามหามะม่วงพันธุ์โบราณพันธุ์นี้มาหลายปี มาแต่ละครั้งก็ต้องไปสอบถามกับชาวสวนมะม่วงโบราณ แต่ไม่มีใครรู้จัก จนกระทั่ง พ.ศ. 2557 คุณสถาพร อร่ามดี ชาวสวนที่อัมพวา ผู้สร้างความฮือฮากับ มะม่วงทองเอก เอาขึ้นห้างขายกิโลกรัมละเกือบ 200 บาท หลังจากนั้น ก็ได้ติดต่อกับ คุณสถาพรอยู่ตลอดมา เพื่อให้เขาช่วยตามหามะม่วงโบราณ มะม่วงเหนียงนกกระทุง คุณสถาพร บอกว่า มีในตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีเหลือไม่กี่ต้นจะลองสืบค้นให้ แต่อาจจะพบได้ตามสวนมะม่วงเก่าถ้าเขายังไม่โค่นมะม่วงเก่าเปลี่ยนไปปลูกมะม่วงพันธุ์ใหม่ ได้แต่ภาวนาให้คุณสถาพรเจอสักต้น

เมล็ดโค้งตามผล

การสืบค้นเริ่มต้นที่คุณสถาพรเดินทางไปหา คุณลุงฉะอ้อน เพ็งอุดม ที่บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 5 บ้านคลองวัว-ทุ่งเศรษฐี ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม คุณลุงฉะอ้อน อายุ 78 ปี เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอดีตกำนันตำบลเหมืองใหม่ คือ กำนันสวัสดิ์ เพ็งอุดม ที่สวนของกำนันสวัสดิ์เคยมีมะม่วงเหนียงนกกระทุง แต่มันตายไปนานแล้ว เหลือแต่สวนลิ้นจี่ คุณลุงฉะอ้อนมีต้นมะม่วงเหนียงนกกระทุงอยู่ 1 ต้น คุณสถาพรจึงขอยอดมา 3-4 ยอด เอามาเสียบยอดกับมะม่วงที่บ้าน แต่ปรากฏว่ายอดที่เอามาเสียบยอดไม่ติด ตายหมด จะกลับไปขอยอดใหม่ก็เกรงใจคุณลุงฉะอ้อน แต่รู้ว่าในตำบลเหมืองใหม่ยังมีต้นมะม่วงเหนียงนกกระทุงที่บ้าน คุณลุงสงบ อุยวรรณัง อยู่บ้านเลขที่ 4/1 หมู่ที่ 8 ซอยโรงเจคลองดอน ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ขอยอดต้นมะม่วงเหนียงนกกระทุงมาเสียบใหม่หลายยอด คราวนี้ติดทุกยอด ต่อมา คุณลุงสงบ อุยวรรณัง ได้เสียชีวิต ถ้ารับประทานผลที่เสียบยอดคงรอไปอีก 3-4 ปี

สองพี่น้อง ลูกคุณสถาพร อร่ามดี

แต่ผลมะม่วงเหนียงนกกระทุงที่รับประทานนี้เป็นต้นของคุณลุงฉะอ้อนที่ปลูกแทนต้นเก่า อายุมากแล้ว ต้นแม่แก่มาก ต้นเก่าตายไปนาน ต้นที่ปลูกแทนต้นเก่าเป็นต้นใหม่อายุก็เกือบ 50 ปี ปลูกไว้เพียงต้นเดียว เพราะแกชอบนกกระทุงมากกว่าอกร่อง มะม่วงเหนียงนกกระทุงไม่มีจำหน่ายแม้จะมาถึงท้องถิ่นอัมพวา เนื่องจากปลูกกันน้อยจึงมีผลผลิตออกมาน้อย มีพอไว้รับประทานในครอบครัว ส่วนใหญ่ชาวสวนจะปลูกไว้ต้นหรือสองต้น เพราะชอบรับประทาน ต้นมะม่วงเหนียงนกกระทุงต้นนี้คุณลุงฉะอ้อนปลูกเอง ปลูกเพราะชอบ ชอบนกกระทุงมากกว่าอกร่อง  คุณสถาพรได้ผลมะม่วงเหนียงนกกระทุงจากคุณลุงฉะอ้อนมา 7 ผล ได้มาน้อย เพราะปีนี้ (กุมภาพันธ์ 2563) มันไม่ดก ผลค่อนข้างเล็ก คุณสถาพรส่งมาให้ผู้เขียน 2 ผล ถึงผิวของมันไม่สวย ผิวเป็นขี้กลากราดำ แต่ก็ไม่ได้ติดใจที่ผิวของมัน ขอให้ได้ชิมรสชาติของมันเป็นครั้งแรก รับประทานได้ทั้งดิบทั้งสุก

หายากแล้ว กระรอกยังมาเจาะอีก

จากคำบอกเล่าของชาวสวนต่างพื้นที่บอกว่า ยังมีต้นมะม่วงเหนียงนกกระทุงอยู่ที่ ตำบลท้ายหาด อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสงคราม และที่ตำบลบางยี่รงค์ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เรียกมะม่วงตีนนก หรือมะม่วงนก ดังนั้น ยังมีมะม่วงเหนียงนกกระทุงกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม

คุณสถาพร ยังมีความวิตกว่า ต้นมะม่วงเหนียงนกกระทุงของคุณลุงฉะอ้อนปลูกนั้น คุณลุงฉะอ้อนได้ปลูกด้วยเมล็ดจากต้นเก่า อาจเกิดการกลายพันธุ์ ไม่ตรงตามสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งก็ไม่มีใครรู้รสชาติดั้งเดิมว่าเป็นเช่นไร เพราะคนเก่าคนแก่ในยุคนั้นได้ลาลับกันไปหมดแล้ว แต่เมื่อได้มาชิมรสชาติแล้วยังคงความหวานอยู่มาก หอมอ่อนๆ ไม่เหม็นกลิ่นขี้ไต้ เนื้อไม่เละ ก็ต้องเชื่อได้ระดับหนึ่งว่าเป็น มะม่วงเหนียงนกกระทุง

เหนียงนกกระทุง รับประทานจนติดเมล็ด

เมื่อผลยังอ่อนมีส่วนท้องที่ยื่นออกมาเล็กน้อย คล้ายมะม่วงหนังกลางวัน มะม่วงมันศาลายา ผลดิบเมื่อแก่มีเนื้อสีขาว เนื้อค่อนข้างกรอบ หวาน มัน เพราะความมันเวลารับประทานจึงแทะถึงเปลือกเมล็ด ผลสุกผิวสีเหลืองอ่อนๆไม่เหลืองเต็มผล มีสีเขียวเจือปน มีสีเป็นสุกๆ ดิบๆ รับประทานตอนสุกงอมเนื้อไม่เละไม่เหี่ยว เพราะเปลือกหนากว่าอกร่อง เนื้อมีเสี้ยนน้อย หวานมาก มีเนื้อเหลืองอ่อน

มะม่วงเหนียงนกกระทุง มีทรงพุ่มสูงโปร่ง ความสูงประมาณ 5-10 เมตร ทรงพุ่มคล้ายมะม่วงหนังกลางวัน

เหนียงนกกระทุงดิบ เนื้อขาว

ใบ มีสีเขียวเข้ม ใบยาว 22-30 เซนติเมตร กว้าง 5-7 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3-6 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นมัน

ดอก ดอกช่อสีนวล ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ยาว 18-30 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ

ผล ผลค่อนข้างเป็นรูปยาวรี ส่วนหัวมน (ค่อนข้างจะเล็ก) ส่วนก้นมน (ค่อนข้างจะแหลม) ส่วนท้องหรือตรงกลางยื่นออก (เป็นส่วนที่กว้างที่สุด) ส่วนหลังแอ่นลงรับกับส่วนท้องที่ยื่นออก ผลมีขนาดกลาง 3-4 ผล ต่อกิโลกรัม เป็นข้อเสียเปรียบอย่างหนึ่ง ขนาดค่อนข้างจะเล็ก

เหนียงนกกระทุงดิบ มัน

เมล็ด มีลักษณะโค้งงอนไปตามลักษณะรูปทรงของผล เอ็มบริโอ (embryo) เป็นส่วนที่จะเจริญไปเป็นต้นพืชนูนขึ้นมาอยู่ตรงกลางๆ

ความหวาน ประมาณ 25-26 องศาบริกซ์ ความหวานอยู่ในระดับสูงมาก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว หอมอ่อนๆ ถ้าเก็บมาแล้วปล่อยไว้สุกงอมผิวเหี่ยวย่นจนหมดกลิ่นหอม หรือความหอมน้อยลง ความหวานจะสูงขึ้นไปอีกเล็กน้อย แต่ไม่ถึง 27 องศาบริกซ์ (มะม่วงน้ำตาลเตา ประมาณ 27-28 องศาบริกซ์)

ความหวานของมันทำให้เหล่าบรรดากระรอกรอเฝ้าสวนอดใจไม่อยู่ แอบมากินก่อนเจ้าของสวนหลายครั้ง เพราะมันมาตอนเจ้าของสวนไม่อยู่ กระรอกเฝ้าสวนมีหลายตัว แต่เจ้าของสวนมีคนเดียว มะม่วงยิ่งมีอยู่น้อย ต้นอื่นมันก็ไม่ไปกิน ชอบมากินต้นที่เจ้าของเขาหวง มันชอบกินที่ส่วนหัว

เหนียงนกกระทุง บนต้น

ความหวานพอที่จะรับประทานกับข้าวเหนียวได้ เพราะไม่มีเปรี้ยวติดมาเลยสักนิด แต่จะขายคู่กับข้าวเหนียวมะม่วง ต้องทำใจสักหน่อยว่าจะขายได้หรือเปล่า ความหวานสู้ได้ แต่หน้าตาเป็นรอง เพราะผลมีรูปทรงค่อนข้างจะอัปลักษณ์ ทำนองเงาะถอดรูป ผลไม่สวยแต่ถ้าได้ชิมจะติดใจ

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้บรรยายชื่อพันธุ์มะม่วงเป็นกาพย์ยานี 11 เมื่อปี พ.ศ. 2427 ประมาณ 136 ปี ได้กล่าวไว้บทหนึ่งถึง มะม่วงเหนียงนกกระทุง ดังนี้

 

หอยแครง แลแตงกวา       หัวกิ้งก่า เหนียงนกกระทุง

คิ้วนาง ดูน่ากิน                 เทพสิน เหมือนชื่อกรุง

แลเห็น เปนหมู่มุง            ม่วงสาวน้อย เยี่ยมห้องหวน

หัวโต ต้นต่ำเตี้ย               ผัวตีเมีย ร้องไห้ครวญ

สาวน้อย สีน้ำนวล            สาวรัญจวน สาวสวรรค์

มะม่วง ผัวพรากเมีย         คิดน่าเสีย ใจครันครัน

 

ชื่อเรียกมะม่วงเหนียงนกกระทุง ก็น่าจะเป็นท้องมะม่วงที่ยานยื่นออกมามาก ถ้ามองในแนวดิ่งผลห้อยจากต้นลงมาจะมองไม่เห็นชัด แต่ถ้าเด็ดผลลงมามองทางด้านข้างให้ท้องมะม่วงที่ยานห้อยลงข้างล่าง ส่วนหลังจะแอ่น ทำให้บางคนจึงเรียกอีแอ่นบ้าง ซึ่งเป็นคนละพันธุ์กัน ส่วนท้องที่ยื่นออกมาจะมองคล้ายกับเหนียงปากของนกกระทุงที่เอาไว้ดำน้ำจับช้อนปลาตัวเล็กๆ จึงนำส่วนใต้ปากที่เป็นเหนียงมาตั้งชื่อมะม่วงชนิดนี้ แสดงว่าในอดีตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามเคยมีนกกระทุงอาศัยอยู่ที่ปากอ่าวแม่กลอง ตอนเป็นเด็กเคยเห็นเรือประมง (เรือตังเก) “ชื่อนกกระทุง” ลำใหญ่แล่นมาตามแม่น้ำแม่กลองมาเอาน้ำแข็งที่หน้าวัดปากน้ำผ่านอัมพวา เมื่อได้น้ำแข็งแล้วก็แล่นออกกลับไปแม่กลอง ปากอ่าวแม่กลองก็คงมีนกกระทุง

ส่วนหนึ่งที่ทำให้มะม่วงโบราณลดจำนวนลงหรือสูญหายไป อาจเนื่องมาจากในยุคหนึ่งชาวสวนนิยมปลูกลิ้นจี่และส้มโอ จึงโค่นไม้ผลที่ไม่ทำรายได้สูง เพื่อปลูกลิ้นจี่และส้มโอ ทำให้มะม่วงเหนียงนกกระทุงถูกโค่นไปด้วย

โอกาสที่มะม่วงเหนียงนกกระทุงจะได้รับความนิยมคงจะมีน้อยมาก นอกจากในหมู่นักสะสมมะม่วงโบราณ

ที่วัดบัวงาม เลขที่ 1 บ้านบัวงาม หมู่ที่ 1 ตำบลบัวงาม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี 70210 ได้รวบรวมผลไม้ไทยไว้หลายอย่าง เป็นพันธุ์โบราณหายาก เช่น ทุเรียนรวบรวมไว้หลายพันธุ์โบราณ มะม่วงรวบรวมไว้หลายพันธุ์รวมทั้งเหนียงนกกระทุง

อัมพวายังจะมีมะม่วงเหลืออยู่ที่ไม่เปิดตัวอีกกี่พันธุ์ บางพันธุ์ได้หายสาบสูญไปนานแล้ว คงเหลือไว้แต่ชื่อ

สนใจ มะม่วงเหนียงนกกระทุง ติดต่อที่ คุณสถาพร อร่ามดี โทร. 081- 697-8763 บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 9 ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110

……..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่