ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี ทำ สะละ ให้ไร้หนาม เอาใจผู้บริโภค

สะละ เป็นผลไม้ที่รสชาติอร่อย หอม หวาน น้อยคนนักที่จะไม่ชอบรับประทานสะละ เพียงแต่การรับประทานค่อนข้างจะลำบาก เพราะหนามแหลมของผลสะละ ทำให้การแกะเปลือกออกรับประทานค่อนข้างลำบาก จึงมีผู้นำไปแปรรูปเป็นสะละลอยแก้ว สะละแช่อิ่ม เพื่อรับประทานได้ง่ายขึ้น ทั้งยังสามารถส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ ให้รับประทานกันได้ทั่วถึง

ก่อนขัด

สะละ เป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ในเกือบทุกพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่จะปลูกกันในเขตภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2559 พบว่า มีการปลูกสะละในจังหวัดจันทบุรี รวมพื้นที่ประมาณ 10,325 ไร่ พื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 9,483 ไร่ ผลผลิตประมาณ 1,087 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2560)

ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายในรูปผลผลิตสด ซึ่งมีทั้งการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ ตลาดส่งออกหลัก คือ ประเทศญี่ปุ่น สะละที่ออกสู่ตลาดผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่ เป็นการจำหน่ายในรูปแบบของสะละผลสด โดยจำหน่ายในรูปแบบช่อและผลสะละร่วง สำหรับการแปรรูปส่วนใหญ่เป็นการทำสะละลอยแก้ว และสะละแช่อิ่ม สำหรับตลาดต่างประเทศจะส่งเป็นสะละผลเดี่ยว ซึ่งผู้บริโภคต้องการในรูปแบบของสะละไร้หนาม

เครื่องขัด

ดร. พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบัน กระบวนการขัดหนามสะละออก จะใช้แรงงานคนโดยตรง โดยการใช้ช้อนขูดหนามออกจากผลสะละ ซึ่งต้องขูดเบาๆ ที่ผิวสะละเพื่อป้องกันการเกิดรอยช้ำที่ผล แต่ละคนมีความสามารถในการทำงานต่ำ เพียงประมาณคนละ 5 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง เท่านั้น ประกอบกับปัจจุบันเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และขาดความเอาใจใส่ในการทำงาน ตลอดจนขาดความสม่ำเสมอในการทำงาน หากผลสะละเกิดการกระแทกจะทำให้เกิดเป็นรอยช้ำสีดำที่เนื้อสะละ ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายได้ นอกจากนั้น หนามสะละยังเป็นปัญหากับกลุ่มแปรรูปสะละลอยแก้ว คือ ความไม่สะดวกในขั้นตอนการแกะเปลือกออกจากผลเพื่อมาทำลอยแก้ว

เครื่องทำงาน

ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี จึงนำปัญหาดังกล่าวมาทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องมือต้นแบบสำหรับการขัดหนามออกจากผลสะละ เพื่อทดแทนการใช้แรงงาน และเพิ่มความสามารถในการทำงาน ให้รวดเร็วและผลสะละที่ได้มีคุณภาพดี เพราะหนามแหลมของเปลือกสะละ เป็นอุปสรรคต่อการรับประทานและเป็นการอำนวยความสะดวกและมีความสุขสำหรับผู้ที่ชอบรับประทานผลสะละสดมากกว่าการแปรรูปเป็นแช่อิ่มและลอยแก้ว

เครื่องขัดหนามผลสะละต้นแบบ

ดร. พุทธธินันทร์ อธิบายว่า หลักการประดิษฐ์เครื่องขัดหนามผลสะละต้นแบบ สร้างให้มีขนาด กว้าง 1.6 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 0.6 เมตร เป็นรูปแบบมีมุมเอียงเพื่อให้ผลสะละเกิดการขัดสีกับพื้นผิวตะแกรงและขัดสีระหว่างผลสะละด้วยกันเอง ทำให้หนามสะละหลุดออกและลอดผ่านพื้นตะแกรงโยกสู่ด้านล่างของเครื่อง และเครื่องจะมีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจนกระทั่งผลสะละออกจากเครื่อง และติดตั้งชุดแปรงขัดหนามสะละ ซึ่งทำจากวัสดุไนล่อนทั้งหมด 2 ชุด เพื่อช่วยขัดหนามผลสะละให้หมด

ดร. พุทธธินันทร์ อธิบายต่อว่า เครื่องขัดหนามผลสะละยังมีชุดดูดหนามเข้าสู่ถังเก็บหลังการขัดหนามผลสะละแล้วเพื่อให้พื้นที่บริเวณการทำงานสะอาด สำหรับหนามสะละที่ขัดออกจากผลแล้วยังนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีก

การทำงานของเครื่องขัดหนามสะละ

ใช้แรงงานคนช้า

เครื่องจะทำงานแบบอัตโนมัติผ่านการควบคุมด้วยอุปกรณ์ Programmable Logic Controller ซึ่งสามารถเขียนโปรแกรมสำหรับควบคุมลำดับและระยะเวลาการทำงานของชุดอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมดได้

เครื่องขัดหนามผลสะละ ประกอบด้วยชุดโครงเครื่อง ซึ่งทำจากวัสดุเหล็ก ขนาดกว้าง 1.6 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 0.6 เมตร ชุดตะแกรงโยกของหนามผลสะละทำจากวัสดุตะแกรงอะลูมิเนียมและชุดแปรงขัด ประกอบด้วย แปรงขัด 2 ชิ้น ทำจากวัสดุไนล่อน ชุดตะแกรงโยกและชุดแปรงขัดจะใช้ต้นกำลังร่วมกัน ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 1 แรงม้า 220โวลต์ ขั้นตอนการทำงานของชุดตะแกรงโยกจะเป็นการเคลื่อนไหวในแนวราบ สามารถยกขึ้นเพื่อให้สะละมีการเคลื่อนที่ผ่านชุดแปรงขัดและลงสู่ภาชนะเก็บหลังการขัดหนามแล้ว

สะละลอยแก้ว

ชุดตะแกรงโยกใช้ต้นกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 0.5 แรงม้า 220 โวลต์ และเมื่อตะแกรงโยกขึ้นถึงจุดสูงสุดชุดดูดหนามสะละใต้ตะแกรงโยกจะดูดหนามสะละเข้าสู่ถังเก็บ เครื่องขัดหนามผลสะละมีความสามารถในการทำงาน 900 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง ใช้พลังงานไฟฟ้ารวม 1.47 กิโลวัตต์ สภาวะในการทำงานที่เหมาะสมคือ ความเร็วรอบตะแกรงโยก 110 รอบ ต่อนาที มุมเอียง 14 องศา สามารถขัดหนามผลสะละได้หมด และผลสะละสามารถเก็บรักษาได้เกิน 3 วัน ที่อุณหภูมิแวดล้อมปกติ โดยไม่ช้ำและไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานคนขูดผลสะละ ซึ่งมีความสามารถในการขัดหนาม 5 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง ต่อคน

ดร. พุทธธินันทร์ บอกว่า ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม จากการลงทุนใช้เครื่องต้นแบบในการขัดหนามผลสะละ พบว่า มีต้นทุนค่าใช้จ่าย 82.92 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ใช้แรงงานคนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่า คือ 90.61 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อขัดหนามผลสะละในปริมาณที่เท่ากันและคุณภาพที่ได้ไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานคน

หลังขัด

สนใจติดต่อสอบถาม และขอดูเครื่องต้นแบบได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี ทุกวันในเวลาราชการ โทร. 039-609-652


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่