พันธุ์ปทุมาที่ตลาดต้องการ

หลายคนสนใจปลูกปทุมา เพราะเห็นว่าเป็นไม้ตัดดอกที่สวยงามมากชนิดหนึ่ง นอกจากดอกมีรูปทรงสวยงามแล้ว ยังมีสีสันสวยงามอีกด้วย ซึ่งมีความหลากหลาย หากใครสนใจปลูกปทุมมา มีคำแนะนำเรื่องการปลูกดูแลปทุมมา ดังต่อไปนี้

ปทุมา หรือ ทิวลิปแห่งสยาม มีลักษณะดอกและก้านดอกมีรูปทรงคล้ายกับดอกทิวลิปของฝรั่ง หากพูดถึงพันธุ์ของปทุมานั้นมีอยู่หลายพันธุ์และสีสันแตกต่างกันไป ปทุมาแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทตัดดอก และประเภทไม้กระถาง ก่อนอื่น ขออธิบายเรื่องดอกของปทุมาให้เข้าใจก่อน  ส่วนที่เห็นเป็นกลีบดอกสีสวยงามนั้นคือ กลีบประดับ ส่วนดอกจริงๆ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย จะเป็นดอกขนาดเล็ก อยู่ต่ำลงมาจากกลีบประดับ จะมีกาบสีเขียวเป็นหลุม เมื่อมองเข้าไปจะเห็นดอกขนาดเล็ก จำนวน 8-10 ดอกย่อยๆ

ปทุมาพันธุ์เชียงราย

สำหรับปทุมา ประเภทปลูกเป็นไม้ตัดดอก เช่น

พันธุ์เชียงใหม่ สีชมพู สีชมพูอ่อน และสีชมพูเข้ม ลักษณะเด่นมีลำต้นสูง 40-45 เซนติเมตร แตกกอ 10-15 หน่อ ต่อกอ ใบแผ่ตั้งแข็งแรง ใบรี แผ่นใบมีสีเขียว เส้นกลางใบมีสีน้ำตาลเหลือบขาว ช่อดอกยาว 60-70 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางก้านดอกเฉลี่ย 1 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีชมพูอ่อน สีชมพู และสีชมพูเข้ม กลีบดอกคล้ายดอกบัว เฉลี่ย 1 กอ จะให้ดอก 5-8 ดอก (กลีบประดับ)

ปทุมาพันธุ์เชียงใหม่ สีชมพู

พันธุ์สโนว์ไวท์ มีลำต้นสูง 40-50 เซนติเมตร ใน 1 กอ มี 9-12 หน่อ ใบตั้งแข็งแรง ค่อนข้างกว้าง แผ่นใบมีสีเขียวและเส้นกลางใบมีสีเขียวเช่นเดียวกัน ก้านดอกยาว 50-60 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว ใน 1 กอ ให้ดอก 5-6 ดอก

พันธุ์ทรอปิคอลสโนว์ ลำต้นสูง 50-55 เซนติเมตร ใน 1 กอ ให้หน่อ 10-12 หน่อ ใบยาว แผ่ออกด้านข้าง ก้านดอกยาว 60 เซนติเมตร คอดอกค่อนข้างอ่อน กลีบประดับมีสีขาว ส่วนปลายแต้มสีเขียวเล็กน้อย กลีบรี ปลายกลีบแหลม จำนวน 10 กลีบ ให้ดอก 4-6 ดอก ต่อกอ

ปทุมาพันธุ์ไข่มุกสยาม

ส่วนปทุมา ที่นิยมปลูกเป็นไม้กระถาง ได้แก่

พันธุ์ไข่มุกสยาม มีลำต้นค่อนข้างเตี้ย มีความสูงเพียง 28-33 เซนติเมตร แตกกอ 6-10 หน่อ ต่อกอ ก้านดอกแข็ง ใบรีกว้าง รูปทรงสวยงาม แผ่นใบสีเขียวนวล เส้นกลางใบสีเขียว ก้านดอกแข็ง ชูดอกเหนือใบมองเห็นชัดเจน ก้านดอกยาว 35-45 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 0.6 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาวนวล ปลายกลีบแต้มสีแดง ลักษณะกลีบกว้าง ปลายมน จำนวน 9 กลีบ ให้ดอก 2-3 ดอก ต่อกอ

พันธุ์บัวสวรรค์เตี้ย เป็นพันธุ์ต้นเตี้ย มีความสูงเพียง 30-40 เซนติเมตร แตกกอ 7-12 หน่อ ต่อกอ ใบเรียวแคบ แผ่นใบสีเขียว เส้นกลางใบสีน้ำตาลเข้ม ก้านดอกยาว 45-55 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาว 9 กลีบ ให้ดอกคราวละ 2-3 ดอก

พันธุ์บัวสวรรค์ชมพูเตี้ย ลำต้นสูง 30-35 เซนติเมตร แตกกอ 7-12 หน่อ ใบตั้งตรง รูปร่างรีและแคบ แผ่นใบมีสีเขียว ก้านดอกตั้งตรง ยาว 35-40 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร กลีบดอกสีชมพู ปลายกลีบแต้มสีชมพูหรือแดง ให้ดอกคราวละ 2-3 ดอก ต่อกอ หรือต่อกระถาง

ปทุมาพันธุ์เชียงราย

ปทุมา 4 พันธุ์ใหม่ ผลงานกรมวิชาการเกษตร

ช่วงต้นปี 2563 ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กรมวิชาการเกษตร ได้เปิดตัวปทุมมา 4 พันธุ์ใหม่ ที่มีจุดเด่นคือ สีสันสะดุดตา ออกดอกไว ให้ผลผลิตช่อดอกมาก ก้านช่อดอกตรง แข็งแรง อายุการใช้งานนานทั้งในกระถางและปักแจกัน  ได้แก่  ปทุมาพันธุ์เชียงราย 1 และปทุมาพันธุ์เชียงราย 3   เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับผลิตเป็นไม้กระถาง  ส่วน 2 พันธุ์ คือปทุมาพันธุ์เชียงราย 2 และ ปทุมาพันธุ์เชียงราย 4 เหมาะสำหรับผลิตเป็นไม้ตัดดอกปักแจกัน

ปทุมาพันธุ์เชียงราย 1

ปทุมาพันธุ์เชียงราย 1 เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ ระหว่าง ปทุมรัตน์ กับ เทพรำลึก  ลักษณะเด่น ช่อดอกเป็นทรงกระบอกสั้น กลีบประดับสีชมพูเข้ม กลีบเรียงซ้อนกันเป็นระเบียบสวยงามและบิดเป็นเกลียว ออกดอกเร็ว อายุปลูกถึงให้ดอก 50 – 70 วัน ผลผลิตช่อดอกมาก 3 – 4 ดอก/กอ อายุการใช้งานนาน 4 – 7 สัปดาห์ เหมาะสำหรับปลูกที่ดอนและที่ลุ่ม ไม่มีน้ำท่วมขัง

ปทุมาพันธุ์เชียงราย 2

ปทุมาพันธุ์เชียงราย 2 เป็นสายพันธุ์ที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ ระหว่าง ปทุมรัตน์ กับบัวขาว ลักษณะเด่น ช่อดอกเป็นรูปทรงกระสวย สวยงาม แปลกใหม่ กลีบประดับทั้งส่วนบนและส่วนล่างมีสีชมพู ดูอ่อนหวานให้ผลผลิตช่อดอกมาก 6-8 ดอก/กอ การแตกกอดี ผลผลิตหัวพันธุ์ 5-9 หัว/กอ อายุปักแจกันนานถึง 13 วัน เหมาะสำหรับปลูกที่ดอนและที่ลุ่ม ไม่มีน้ำท่วมขัง

ปทุมาพันธุ์เชียงราย 3

ปทุมาพันธุ์เชียงราย 3 เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างปทุมรัตน์ Curcuma sparganifolia ‘Patumrat’ กับบัวขาว C. thorelii  ลักษณะเด่น 1. ลักษณะช่อดอกเป็นทรงกระบอกสั้น กลีบประดับสีขาวเรียงตัวเป็นระเบียบ อยู่ระดับเดียวกับใบ 2. ก้านช่อดอกตรง แข็งแรง เหมาะผลิตเป็นไม้ดอกกระถางขนาดกลาง 3. ออกดอกเร็ว อายุปลูกถึงให้ดอก 56-62 วัน 4. ผลผลิตช่อดอก 2-3 ดอกต่อกอ และให้ดอกพร้อมกัน 5. อายุการใช้งานในกระถางนาน 4-5 สัปดาห์หลังดอกบาน เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ดอนและที่ลุ่มที่มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง

ปทุมาพันธุ์เชียงราย 4

ปทุมาพันธุ์เชียงราย 4 ลักษณะเด่น กลีบประดับแยกชั้นอย่างชัดเจน โดยกลีบประดับส่วนบนสีชมพูปลายกลีบแต้มสีเขียวลายเส้นสีแดง  กลีบบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย  กลีบประดับส่วนล่างสีเขียว ด้านล่างของกลีบมีวงสีน้ำตาลแดง  ก้านช่อดอกตรงและแข็งแรง  ผลผลิตช่อดอก 3 – 7 ดอก/กอ ผลผลิตหัวพันธุ์ 4 – 7 หัว/กอ  อายุปักแจกันนาน 14 วัน เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ดอนและที่ลุ่มที่มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง

อุปสรรคในการปลูกปทุมา

หมอเกษตร ทองกวาว กล่าวถึงอุปสรรคในการปลูกปทุมา คือ โรคเหี่ยวหรือโรคหัวเน่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง อาการของโรคเริ่มพบว่าใบแก่ที่อยู่ตอนล่างห่อม้วนเป็นหลอดคล้ายอาการขาดน้ำ โดยเฉพาะในช่วงเช้า ต่อมาบริเวณโคนหน่อเกิดใหม่ เริ่มเกิดอาการฉ่ำน้ำหรือเป็นเนื้อแก้วและลุกลามจากใบล่างขึ้นส่วนบน ในที่สุดใบจะมีสีเหลืองซีดทั้งต้นและตาย แล้วหักพับลงดิน การเกิดโรคที่หัวอ่อนจะฉ่ำน้ำและเน่า เป็นสีน้ำตาลคล้ำและมีกลิ่นเหม็น ส่วนการเกิดโรคที่หัวแก่จะมีสีม่วงน้ำเงินอ่อน ฉ่ำน้ำคล้ายเนื้อแก้ว เมื่อบีบส่วนหัวจะมีน้ำสีเหลืองอ่อนไหลออกมา

การแพร่กระจาย เกิดจากการนำหัวพันธุ์ที่ติดเชื้อมาปลูก หรือใช้แปลงปลูกที่เคยมีการระบาดของเชื้อโรคชนิดดังกล่าวมาก่อน การระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน และมักระบาดรุนแรงขึ้น หากมีการเข้าทำลายจากไส้เดือนฝอยในเวลาเดียวกัน

ปทุมาพันธุ์เชียงราย

การป้องกันกำจัด โรคเหี่ยวหรือโรคหัวเน่า

ควรเลือกแหล่งที่ไม่เคยปลูกพืชตระกูลแตง ขิง ข่า มะเขือเทศ ยาสูบ มันฝรั่ง มะแว้ง และดาวเรืองมาก่อน ให้ปลูกพืชหมุนเวียนสลับทุกปี ใช้หัวพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ปลอดโรค เก็บตัวอย่างดินจากแปลงปลูกวิเคราะห์ความเป็นกรด-ด่าง หากเป็นกรดควรใส่ปูนขาว อัตรา 500-800 กิโลกรัม ต่อไร่

เมื่อพบต้นที่เกิดโรคให้ถอนและเผาทำลาย แล้วราดฆ่าเชื้อในดินด้วยคลอรอกซ์ที่ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเข้าแปลงปลูกต้องล้างรองเท้าด้วยคลอรอกซ์ทุกครั้ง ระวังอย่าให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นปทุมาเกิดเป็นแผล เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย หลังเก็บดอกหรือหัวพันธุ์แล้ว ให้เก็บเศษพืชเผาทำลายทิ้งให้หมด

การเก็บดอก

ปทุมา สามารถเก็บเกี่ยวเมื่อกลีบประดับบาน 4-6 กลีบ ก่อนตัดดอก ต้องรดน้ำพอชุ่ม เวลาตัดดอกดีที่สุดคือในตอนเช้า ตัดให้มีใบติดมาด้วย 1 ใบ แล้วแช่ในน้ำสะอาด หากเก็บในตู้รักษาอุณหภูมิที่ 15 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 15-25 วัน

เหง้าหรือหัวของต้นปทุมา

การเก็บหัวพันธุ์

ให้รดน้ำสะอาดในแปลง 1 วัน ก่อนเก็บหัวพันธุ์ เพื่อให้ดินนุ่มแล้วใช้เสียมที่สะอาดขุดหัวขึ้น ระวังอย่าให้เกิดบาดแผล เก็บหัวลงในตะกร้า เมื่อเก็บได้ปริมาณที่ต้องการแล้วฉีดน้ำล้างหัวในตะกร้าให้สะอาดแล้วแยกขนาดและผึ่งลมให้แห้ง ล้างกรรไกรที่คมด้วยแอลกอฮอล์ตัดแต่งรากและตุ้มที่ไม่สมบูรณ์ออก แล้วแช่หัวพันธุ์ในคลอรอกซ์ ความเข้มข้น 5.25 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 10-15 นาที เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย นำขึ้นผึ่งลมจนแห้ง

วิธีป้องกันเชื้อราให้แช่หัวพันธุ์ในคาร์เบนดาซิม 50 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ เป็นเวลา 30 นาที นำขึ้นผึ่งลมจนแห้ง การปฏิบัติตามขั้นตอนที่แนะนำจะได้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก อุทยานหลวงราชพฤกษ์, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมวิชาการเกษตร

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2563