สกก. ลำพระเพลิง ชูเศรษฐกิจพอเพียงรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ หนุนเกษตรกรปลูกผัก – ผลไม้ปลอดสารสร้างรายได้ เสริมความมั่นคง

นางสาวสุมาลี  ทองธีระ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เปิดเผยว่า ในอดีตสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการ ประสบภาวะขาดทุนจนเกือบต้องเลิกและถอนชื่อ  แต่จากความร่วมมือร่วมใจของคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และสมาชิก  ได้นำเอาความล้มเหลวมาเป็นบทเรียน ประกอบกับการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารงาน ทำให้สหกรณ์สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ พัฒนาให้ก้าวหน้าและสามารถสร้างผลกำไรมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะเป็นสหกรณ์เล็ก แต่ด้วยแนวทางการดำเนินงานเช่นนี้ ทำให้ธุรกิจของสหกรณ์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแล้วประมาณปีละ 15 – 20 %  การขยายธุรกิจของสหกรณ์จะไม่ใช้แหล่งเงินกู้จากภายนอก  แต่จะใช้เงินทุนของสหกรณ์เอง เช่นเดียวกับแนวทางส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพในการทำนา ทำนาสวนผสม และผลไม้  สหกรณ์ฯ จะส่งเสริมให้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  จึงส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้ และความเป็นอยู่มั่นคง  โดยเฉลี่ยแล้ว เกษตรกรสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด จะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 25,000 – 30,000 บาท/เดือน  หรือประมาณ 300,000 – 360,000 บาท/ครัวเรือน/ปี  จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สหกรณ์ ฯ และเกษตรกรสมาชิกนำมาเป็นแนวทาง เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่าน ๆ มา  หรือแม้กระทั่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19)  สหกรณ์ ฯ และเกษตรกรสมาชิกไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก สังเกตได้จากเงินที่สมาชิกกู้ยืมจากสหกรณ์  เกษตรกรก็ยังสามารถมาชำระได้ตามปกติ ไม่มีการติดค้าง   ส่วนเรื่องอาหารการกินของแต่ละครัวเรือนก็ยิ่งไม่มีผลกระทบ  เพราะแต่ละครัวเรือน นอกจากการปลูกข้าวเป็นหลักแล้ว ผลผลิตส่วนหนึ่งจะเก็บไว้บริโภค  อีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปขาย นอกจากนี้  เกษตรกรสมาชิกส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ไว้บริโภคในครัวเรือน  ผลผลิตที่มีจึงเพียงพอสำหรับการบริโภคโดยไม่เดือดร้อน ส่วนที่เหลือก็นำไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริม

นอกจากนี้สหกรณ์ ฯ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกปลูกพืชผักปลอดสารเคมี  และปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่  จำหน่ายเป็นรายได้เสริมโดยสหกรณ์จะช่วยหาตลาดให้ ขณะนี้สมาชิกที่เข้ามาร่วมโครงการประมาณ 100 ราย  โดยมีพื้นที่ของเกษตรกรประมาณร้อยละ 10  ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ขณะนี้สหกรณ์ฯ กำลังผลักดันให้ยกระดับเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักอินทรีย์ โดยได้รับการสนับสนุนโรงเรือนปลูกผักจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และการสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการ ในด้านการลดต้นทุน การพัฒนาผลผลิต และการตลาด  จากมหาวิทยาลัยสุรนารี  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  เกษตรกรที่ร่วมโครงการส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักสวนครัว  บางส่วนก็เป็นผลไม้  ส่วนเรื่องการจำหน่าย  ผลผลิตบางส่วนเกษตรกรจะนำไปขายเองที่ตลาด  เพราะพืชผักของสหกรณ์ฯ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในพื้นที่อำเภอปักธงชัย  ผลผลิตบางส่วนจะส่งมาจำหน่ายที่ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ของสหกรณ์  และอีกส่วนหนึ่งสหกรณ์จะนำไปหาตลาดเองโดยจะเจาะไปที่กลุ่มผู้บริโภคตลาดบน และมีการนำผลผลิต เช่น ฝรั่งกิมจู ส้มโอ ละมุด มีวางจำหน่ายที่ตลาดจริงใจ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล นครราชสีมา  ข้าวไรซ์เบอร์รี่จำหน่ายที่แมคโคร  ร้านเลมอนฟาร์ม  ปัจจุบันยอดขายของพืชผักปลอดสารตกประมาณเดือนละ 50,000 – 60,000 บาท  ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 6,000 – 13,000 บาท ขณะนี้สหกรณ์ฯ กำลังขยายจำนวนผู้ผลิตผักปลอดสารเคมีให้ได้ประมาณ 200 ราย  คาดว่าประมาณปลายปี 2563 จะได้ตามเป้า  ถึงตอนนั้นสหกรณ์ฯ จะเริ่มทำแผนการตลาดและแผนการผลิตอย่างจริงจัง โดยจะใช้ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ของสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เป็นจุดรวบรวมผลผลิต และคัดบรรจุ เพื่อส่งไปจำหน่ายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล  สหกรณ์ร้านค้าในเครือข่าย โรงพยาบาลมหาราช ในจังหวัดนครราชสีมา หรือการเจาะตลาดเข้าไปที่โรงเรียนนานาชาติ ฯลฯ  ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมรายได้และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรสมาชิก

นางวารี ขวัญเกตุ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด กล่าวว่า ตนมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 23 ไร่  พื้นที่เกือบ 20 ไร่ ใช้ปลูกข้าวเจ้าพันธุ์พิษณุโลก 80 และ กข. 49  โดยผลผลิตส่วนหนึ่งจะเก็บไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งจะส่งขายให้โรงสี  เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานจึงสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ในรอบ 1 ปี จึงมีรายได้จากการขายข้าวเกือบ 200,000 บาท  นอกจากนี้ยังกันพื้นที่ไว้ประมาณ 4 ไร่  เพื่อปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ฯ มาส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตตลอดกระบวนการ เช่น นำรถมาช่วยดำนา และนำรถมาเกี่ยว หลังจากตากข้าวแล้วตนจึงบรรทุกไปให้สหกรณ์ฯ  ปีหนึ่งจะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ไม่เกิน 1 ครั้ง  เพราะหากปลูกติดต่อกันผลผลิตที่ได้ในรอบที่สองเมล็ดข้าวจะเล็กลง  มีรายได้เสริมจากการขายข้างไรซ์เบอร์รี่ ปีละประมาณ 30,000 บาท  นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน  เหลือจากการบริโภคจะนำออกไปขายที่ตลาด แต่ก็ไม่มาก  สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19)  นางวารีบอกว่า ที่บ้านมีของกินเกือบทุกอย่าง แทบไม่ต้องไปซื้อจากข้างนอก จึงไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบอะไรในเรื่องอาหารการกิน ส่วนเรื่องรายได้จากการขายข้าวก็ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไร

นายอ่าง เทียมสำโรง สมาชิกสหกรณ์อีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากการปลูกข้าวตามปกติแล้ว ในส่วนที่สหกรณ์ ฯ เข้ามาให้การส่งเสริม ตนได้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ประมาณ 3 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 700-800 กิโลกรัม/ไร่ โดยสหกรณ์ฯ จะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดในราคากิโลกรัมละประมาณ 18-20 บาท หนึ่งรอบการผลิตจะมีรายได้ประมาณ 37,800 – 48,000 บาท นอกจากนี้ยังปลูกผักปลอดสารพิษอีกประมาณ 2 ไร่  โดยจะปลูกพืชแทบทุกชนิด หมุนเวียนกันไป เช่น ต้นหอม กระเทียม ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กะเพรา โหระพา ฯลฯ นอกจากนี้ยังปลูกละมุดไว้อีกประมาณ 2 ไร่  สำหรับผลผลิตที่ได้ บางวันแม่บ้านจะนำไปขายเองที่สหกรณ์ฯ  หรือไม่ก็ฝากร้านค้าของสหกรณ์ฯ ขายให้  บางครั้งก็นำไปขายที่ตลาดในจังหวัดนครราชสีมา รายได้จากการขายผักแต่ละวันไม่น้อยกว่า 300 – 400 บาท  เดือนหนึ่งมีรายได้รวมประมาณเกือบ 20,000 บาท  สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19)   นายอ่างบอกว่าไม่มีผลกระทบอะไร  เพราะที่บ้านมีกินมีใช้เกือบหมดแล้ว


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่