สิงห์บุรี ดันปลาช่อนแม่ลาขึ้น GI เร่งฟื้นฟูสายพันธุ์เพิ่มผลผลิต

สิงห์บุรีส่งปลาช่อนแม่ลาขึ้นทะเบียน จีไอ เพิ่มมูลค่าสินค้า ประมงจังหวัดเร่งเก็บข้อมูล ส่งเสริมครบวงจรเลี้ยง-แปรรูป ตั้งเป้าสิ้นปีจดทะเบียนเรียบร้อย ยอมรับภัยแล้ง-สารเคมีกระทบปลาธรรมชาติเหลือน้อย ไม่เพียงพอบริโภค เตรียมฟื้นฟูสายพันธุ์ใหม่ พร้อมส่งเสริมทำเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ในพื้นที่ช่วยปรับระบบนิเวศ

นายวัชระ ช่างบุญศรี นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ จังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) หรือ GI ให้ครบ 77 จังหวัด ภายในปี 2560 ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์นั้น เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประชุมทำความเข้าใจและให้ข้อมูลกับกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลา กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปปลาเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปลาช่อนแม่ลาให้เป็นสินค้า GI

สำหรับขั้นตอนต่อไปคือ การให้สำนักงานประมงจังหวัดดำเนินการรวบรวมข้อมูล ทั้งถิ่นที่อยู่ของปลา ผู้เพาะเลี้ยง และข้อมูลความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ของปลาช่อนแม่ลากับที่อื่น เพื่อยื่นขอจดทะเบียนมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียน GI ได้ภายในปีนี้ โดยนอกจากปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว ยังรวมถึงเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในบ่อดินบริเวณรอบๆ ใกล้ลำน้ำแม่ลาด้วย

“การขึ้นทะเบียนน่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากโครงการนี้ทางหัวหน้าประมงจังหวัดสิงห์บุรีคนก่อนเป็นผู้มาเสนอกับทางพาณิชย์จังหวัด ต้องการจดทะเบียนปลาช่อนแม่ลาให้เป็น GI ด้วยตัวเอง แต่จากสภาพอากาศที่สิงห์บุรีประสบภัยแล้ง ส่งผลทำให้ปริมาณปลาช่อนแม่ลาในสิงห์บุรีลดจำนวนลงไป อาจส่งผลต่อการขึ้นทะเบียนบ้าง เพราะการขึ้นทะเบียนนั้นต้องครบห่วงโซ่ ตั้งแต่การเลี้ยง การแปรรูป ดังนั้น จึงต้องเน้นที่การฟื้นฟูสายพันธุ์ด้วย” นายวัชระ กล่าว

ส่วนการป้องกันการนำปลาจากแหล่งอื่นมาสวมสิทธิ์นั้น เมื่อปลาช่อนแม่ลาได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว ต้องมีการกำหนดระบบการควบคุมห้ามนำสินค้าจากเขตอื่นเข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ ซึ่งอาจควบคุมไม่ได้ 100% แต่น่าจะสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง จึงพยายามให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ GI ช่วยเป็นหูเป็นตา ป้องกันการสวมสิทธิ์ได้

ด้าน นายศุกรี บุญกอง หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการประมง สำนักงานประมงจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า ขณะนี้ประมงจังหวัดกำลังสืบค้นคุณลักษณะปลาช่อนแม่ลา เพื่อหาความแตกต่างระหว่างปลาช่อนสายพันธุ์จากสิงห์บุรี อ่างทอง และชัยนาท รวมถึงระบบภูมิศาสตร์ ซึ่งปลาช่อนแม่ลานั้นมีลักษณะพิเศษคือ ตัวป้อมกว่า เกล็ดมีสีแดง เนื้อมีรสชาติอร่อย เกิดจากแร่ธาตุที่มีอยู่ในลำน้ำแม่ลา คาดว่าจะใชเวลาประมาณ 4-5 เดือน จึงจะทราบผล

ส่วนกรณีที่ปลาช่อนแม่ลาได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมานั้น  ทางประมงจังหวัดได้นำปลาช่อนไปปล่อยลงในลำน้ำ เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศของปลาช่อน แต่ปริมาณปลายังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัจจุบัน จังหวัดสิงห์บุรียังต้องนำเข้าปลาจากจังหวัดอ่างทอง ชัยนาท เดือนละประมาณ 10 ตัน เพื่อมาใช้ในร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาช่อน

ขณะที่ นายชูศักดิ์ เพ็ชร์พูล ประธานกรรมการวิสาหกิจชุมชน ศูนย์ผลิตข้าวอินทรีย์ลำแม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันปลาช่อนแม่ลายังไม่ถึงกับสูญพันธุ์ เพราะปัจจุบันยังมี 2 พื้นที่ที่อนุรักษ์ไว้ คือบริเวณหมู่ที่ 10 ตำบลทับยา ที่มีแหล่งสงวนพันธุ์ปลา มีปลาหลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งปลาช่อนแม่ลาด้วย และบริเวณสวนสมเด็จย่า หน้าวัดแหลมคาง ตำบลบางระจัน ที่มีการอนุรักษ์พันธุ์ไว้ ซึ่งขณะนี้มีความพยายามจะฟื้นฟูและขยายพันธุ์ปลาช่อนแม่ลาขึ้นมาใหม่ รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยรอบลำน้ำแม่ลาด้วย โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม

“เนื่องจากที่ผ่านมาการปลูกข้าวที่ใช้สารเคมีในสองฟากฝั่งลำน้ำ ส่งผลต่อคุณภาพน้ำและปริมาณปลาในลำน้ำแม่ลาให้น้อยลงกว่าในอดีต ตอนนี้ได้จัดทำ “แม่ลาโมเดล” โครงการนาแปลงใหญ่ของจังหวัด ในพื้นที่หมู่ที่ 12 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มและทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ขณะนี้มีพื้นที่ที่ลงทะเบียนไว้ จำนวน 1,600 ไร่ มีเกษตรกร 65 ราย เพื่อให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปีที่มีคุณภาพ มีรายได้ และส่งเสริมให้ทำอาชีพอื่น เช่น เลี้ยงปลาในช่วงที่ไม่ได้ปลูกข้าวด้วย” นายชูศักดิ์ กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ