2 หนุ่มสาว เลี้ยงแมวด้วยรัก สร้าง บ้านแมวสกอตติช โฟลด์ เชียงใหม่

เชียงใหม่ เป็นเมืองขนาดใหญ่ เป็นจุดศูนย์รวมของเศรษฐกิจในภาคเหนือ ไม่ว่าจะคน สัตว์ สิ่งของ ล้วนมีตัวอย่างและผลิตภัณฑ์ที่ดีรวมอยู่ที่เมืองนี้มาก

คุณเกียรติกุล และคุณกานต์กวี กับลูกแมวกำลังน่ารัก

แมวพันธุ์สกอตติช โฟลด์ ก็เป็นสัตว์เลี้ยงน่ารัก ที่มีฟาร์มมาตรฐานปักหลักตั้งอยู่ที่นี่ด้วยเหมือนกัน

เริ่มจากคู่หนุ่มสาวที่เห็นความน่ารักของแมว โดยเฉพาะสายพันธุ์สกอตติช โฟลด์ ตกลงแต่งงานกันแล้วย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เพราะภูมิลำเนาเดิมของฝ่ายหญิงเป็นชาวเชียงใหม่ ที่สำคัญทั้งคู่มองหาธุรกิจทำเป็นอาชีพ แต่ยังไม่ลงตัวว่าควรทำอาชีพอะไรที่เหมาะสม

คุณกานต์กวี อุ้มสกาย

เมื่อก่อนหน้าจะย้ายมาเชียงใหม่ เริ่มเลี้ยงแมวแบบเลี้ยงเล่น เลือกสายพันธุ์ดี แต่ยังไม่คิดทำฟาร์มเพื่อเพาะขาย เป็นพันธุ์สกอตติช โฟลด์ หูพับ ไม่มีใบรับรองสายพันธุ์ กระทั่งปรึกษากันว่า น่าจะลองผสม เพราะอยากได้ลูกแมวของตัวเอง จึงเริ่มมองหาแมวพันธุ์สกอตติช โฟลด์ แบบมีใบรับรองสายพันธุ์ ตัวที่ 2 เพื่อนำมาผสม เมื่อมีจำนวนแมวเพิ่มขึ้น เห็นความน่ารัก ทำให้อยากมีเพิ่ม จึงซื้อเพิ่มอีกเป็นตัวที่ 3 และ 4

คุณเกียรติกุล จิรภัทรพิมล และ คุณกานต์กวี ศรีมงคล สองสามีภรรยา ย้ายกลับมาอยู่เชียงใหม่ พร้อมแมวพันธุ์สกอตติช โฟลด์ ชุดแรก ทั้งหูตั้งและหูพับ เมื่อแมวผสมและให้ลูก จึงโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ก็มีคนเข้ามาสอบถามจำนวนมาก จึงเก็บลูกแมวบางตัวไว้และแบ่งออกไปบางส่วน ทำให้คนเริ่มรู้จัก

ความน่ารักของแมวพันธุ์สกอตติช โฟลด์ ทำให้ทั้งคุณเกียรติกุลและคุณกานต์กวี อดไม่ได้ที่จะหามาเพิ่ม ทำให้ได้ “สกาย” จากรัสเซีย เป็นแมวนำเข้าเพศผู้

ฝึกเข้ากระบะขับถ่าย

และ “สกาย” ก็เป็นแมวที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนรู้จัก “LANNA SKY SCOTTISH FOLD บ้านแมวสกอตติช โฟลด์ เชียงใหม่” มากขึ้น

คุณเกียรติกุล เล่าว่า หลังจากคิดจะทำฟาร์มแมวสกอตติช โฟลด์ จริงจัง ก็วิเคราะห์เรื่องของธุรกิจสัตว์เลี้ยง ก็เห็นจุดด้อยของตนเองว่า มีที่ตั้งอยู่เชียงใหม่ การสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ หากลูกค้าต้องการสัมผัสหรือเห็นแมวจริงก่อนจะซื้อขาย การสัญจรค่อนข้างลำบาก ดังนั้น การสร้างเครดิตและความน่าเชื่อถือให้กับฟาร์ม จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้มองไปที่การประกวดแมว หากแมวของฟาร์มผ่านการประกวด จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้

เห็นชัดๆ ระหว่างหูพับและหูตั้ง

คุณเกียรติกุล บอกด้วยว่า เป็นความโชคดีของเรา ที่สมาคมจัดการประกวดแมว ติดต่อมาขอให้นำ สกาย ไปถ่ายแบบเพื่อผลิตแบนเนอร์โฆษณางานประกวด และได้รับคำแนะนำจากการไปถ่ายแบบว่า สกาย เป็นแมวที่เข้าข่ายการประกวด จึงตัดสินใจพา สกาย เข้าประกวด และได้รับรางวัลกลับมาในครั้งแรก จากนั้นจึงพา สกาย ไปประกวดอีก และได้รับรางวัลต่อมาอีกหลายรางวัล

สกาย จึงเป็นแมวที่มีคนติดตาม และต่อเนื่องมาถึงความเชื่อมั่นของฟาร์ม

หลังจากการประกวดหลายเวที คุณเกียรติกุล ก็มองเห็นความแตกต่าง ข้อดี และข้อด้อย ของแมวในฟาร์ม จึงคิดเติมความบกพร่องในสายพันธุ์ให้ได้แมวพันธุ์สกอตติช โฟลด์ ที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้วางเป้าหมายถึงการเป็นบรีดเดอร์ (นักปรับปรุงพันธุ์) แค่ต้องการให้ลูกแมวที่ออกจากฟาร์มไป มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสวยงามที่สุด

การผสมพันธุ์ ควรให้พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ อายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี และต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง มีความพร้อมสำหรับการผสม

คุณเกียรติกุล ให้ข้อมูลว่า แมวพันธุ์สกอตติช โฟลด์ แบ่งเป็นหูตั้งและหูพับ การผสมพันธุ์ต้องนำหูตั้งมาผสมกับหูพับ ไม่ควรนำหูพับกับหูพับ หรือหูตั้งกับหูตั้งมาผสมกัน แต่ความนิยมแมวหูพับจะมากกว่า ทำให้ไม่นำหูตั้งกับหูตั้งมาผสมกัน เพราะโอกาสเกิดแมวหูพับไม่มี

แมวหูพับ เกิดจากลักษณะด้อยของแมว หากยิ่งนำลักษณะด้อยกับด้อยมาผสมกัน จะทำให้แมวอ่อนแอมาก ซึ่งปกติ แมวพันธุ์สกอตติช โฟลด์ หูพับ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องโครงสร้างของกระดูกอยู่แล้ว โดยเฉพาะขาหลังและกระดูกสะโพก หากอ้วนจะออกอาการทำให้แมวปวดขา ปวดสะโพก ทำให้แมวไม่อยากเดิน จะนอนอยู่กับที่และนอนในลักษณะแบะขาออก

หลักการผสมของฟาร์ม หากคู่ใดผสมแล้ว ลูกออกมาดี จะผสมต่อ แต่ถ้าพบว่าลูกออกมาไม่ดี จะไม่ผสมคู่เดิมเด็ดขาด และหากผสมกับคู่ใหม่แล้วยังให้ลูกไม่ดีอีก ต้องทำหมันพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์นั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดผสมแล้วได้ลูกที่ไม่ดีอีก

หลังการผสมคอกแรก จะเว้นการผสมในแม่พันธุ์ไปอีก 8 เดือน เป็นอย่างน้อย เพื่อให้แม่พันธุ์ฟื้นตัว อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และเมื่อแม่แมวให้ลูก 4-5 คอกจะหยุดผสม ปลดเป็นแม่พันธุ์ไม่ใช้แล้วโดยการทำหมัน และแยกห้องแมวทำหมันไว้ต่างหาก รวมถึงพ่อพันธุ์ หากอายุมากขึ้น หรือมีไลน์บรีดใกล้กันจะลดความเสี่ยง หรือพบว่าพ่อพันธุ์ตัวไหนให้ลูกไม่ดี จะทำหมันเพื่อลดความเครียดลง

แมวหูพับเป็นแมวที่ได้รับความนิยมมากกว่าแมวหูตั้ง แต่ทั่วไปจะพบการดีดของหู เดิมหูพับจะค่อยๆ ดีดตั้งขึ้นหรือพับเกือบตั้ง แต่ถ้าสายพันธุ์ดีจริงๆ หูพับจะไม่ดีดหรือคลาย แมวจะหูพับสนิท เหมือนแมวไม่มีหู

การผสมพันธุ์ จะนำพ่อพันธุ์แยกไว้ในกรง และปล่อยแม่พันธุ์หลายตัวไว้ในห้องที่มีกรงพ่อพันธุ์อยู่ สังเกตอาการของแม่พันธุ์ หากพร้อมจะแสดงออกด้วยการร้อง โก่งก้น และกลิ้งตัวใกล้กรงพ่อพันธุ์ สามารถนำแม่พันธุ์เข้าไปในกรงพ่อพันธุ์ได้เลย จากนั้นพ่อพันธุ์จะเข้าไปดมก้น หากเป็นฮีสจะยอมให้ผสม แต่ถ้าไม่เป็นฮีส แมวจะกัดกัน ต้องแยกออก เพราะโดยธรรมชาติของแมวเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบให้สัมผัสตัวกัน

หลังนำแม่พันธุ์เข้าไปในกรงพ่อพันธุ์ คอยฟังเสียงแมวร้อง “จ๊าก” ให้นับจากเสียง “จ๊าก” ครั้งแรกต่อไปอีก 48 ชั่วโมง จึงนำแม่พันธุ์ออกจากกรงได้ จากนั้นนับต่อไปอีก 65 วัน เป็นวันครบกำหนดคลอด

การคลอด ปล่อยให้แมวคลอดธรรมชาติ แต่ต้องคอยฉีกรก ตัดสายสะดือให้ เพราะแมวเลี้ยงจะไม่เหมือนแมวตามธรรมชาติ สัญชาตญาณการคลอดไม่มี ทำให้ต้องช่วยจนกว่าจะคลอดครบจำนวน แล้วปล่อยให้แม่แมวเลี้ยงเอง เฉลี่ยการคลอด 4 ตัว ต่อท้อง

คุณเกียรติกุล บอกว่า การเลี้ยงลูกแมว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแม่แมวให้นมตามธรรมชาติ ฟาร์มเราไม่ได้บำรุงที่ลูกแมว แต่ให้การบำรุงที่แม่แมว เพื่อให้ส่งถ่ายผ่านน้ำนมไปยังลูกแมว หลังจากลูกแมวอายุครบ 1 เดือน จะนำอาหารเม็ดสำเร็จรูปวางไว้ ลูกแมวจะเริ่มทำตามแม่แมว กินอาหารเม็ดสำเร็จรูปเป็นหลัก แล้วเสริมด้วยอาหารดิบ เป็นเนื้อไก่ดิบปั่นผสมกับอาหารเม็ดสำเร็จรูป ไม่ต้องทำให้สุก แต่ควรนำเนื้อไก่ดิบแช่ฟรีซไว้ 72 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อ ก่อนนำมาให้แมวกินต้องทำให้อุณหภูมิอาหารปกติ ไม่ควรป้อนลูกแมว ให้ลูกแมวเรียนรู้การกินอาหารเอง เมื่อลูกแมวโตมาจะกินอาหารเองและกินได้เก่ง

การขับถ่าย ให้นำกระบะใส่ทรายแมววางไว้ หลังจากลูกแมวอายุ 1 เดือน ลูกแมวจะปีนเข้าไปเอง หรือลูกแมวบางตัวฉี่ข้างนอก ให้นำกระดาษทิชชูเช็ดแล้วนำไปวางในกระบะ ลูกแมวได้กลิ่นจะตามเข้าไปในกระบะ แล้วถ่ายในกระบะจนติดเป็นนิสัย

ที่ฟาร์ม คุณเกียรติกุลและคุณกานต์กวี แบ่งห้องพักเป็นสัดส่วน ติดเครื่องปรับอากาศ แยกแมวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ แมวทำหมัน แมวเล็ก ไว้เป็นสัดส่วน มีอุปกรณ์ให้แมวได้ผ่อนคลาย

หากลูกค้าต้องการเดินทางมาที่ฟาร์ม ซึ่งแท้จริงเป็นบ้านของคุณเกียรติกุลและคุณกานต์กวี อาจจะไม่รู้สึกถึงความเป็นฟาร์มแมวอย่างจินตนาการ เพราะมีความเป็นกันเอง สามารถเข้าชมฟาร์มได้แบบไม่หวง แต่ขอให้ติดต่อมาล่วงหน้า ได้ที่ ซอยช่างเคี่ยน ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หรือชมความเคลื่อนไหวของแมวพันธุ์สกอตติช โฟลด์ ได้ที่หน้าเฟซบุ๊ก LANNA SKY SCOTTISH FOLD บ้านแมวสกอตติช โฟลด์ เชียงใหม่ โทรศัพท์ (088) 252-0480 และ (085) 360-2151

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2563