“โคกเจริญ” ชุมชนต้นแบบเลี้ยงแพะ สร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง

“แพะ” เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมเลี้ยงทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ปัจจุบัน การผลิตแพะในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด กรมปศุสัตว์ จึงส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงแพะมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงแพะ จำนวน 501 กลุ่ม ชมรมแพะระดับจังหวัด 64 ชมรมจังหวัด เครือข่ายระดับเขต 9 เขต

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ แกะ โคกเจริญ กับรางวัลเกียรติยศต่างๆ ที่ได้รับ

“กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ แกะ โคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ” ได้รับการยกย่องจากกรมปศุสัตว์ในฐานะ สถาบันเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ (รางวัลชมเชย) ประเภทกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2560 เนื่องจากทางกลุ่มฯ ได้มีการพัฒนาทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน การจัดการด้านการตลาดตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มและเครือข่ายเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม

จุดเริ่มต้น

กลุ่มเกษตรกรฯ โคกเจริญ เซ็น MOU กับเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะ แกะฯ

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ แกะ โคกเจริญ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 79 หมู่ที่ 6 ตำบลวังทอง อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี เกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มฯ เมื่อ ปี พ.ศ. 2554 (เริ่มจากกลุ่มธรรมชาติ) โดยจดทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 และจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ในปีเดียวกัน ต่อมาได้จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 โดยมีสมาชิกแรกตั้ง จำนวน 15 คน ปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 92 คน โดย นายวสันต์ สุริย์วงษ์ โทร. (083) 940-2842 รับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มฯ

คุณจรินทร์ สุขประเสริฐ กับรางวัลปศุสัตว์ตำบลดีเด่นระดับเขต

คุณจรินทร์ สุขประเสริฐ ปศุสัตว์ตำบลวังทอง อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำแก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ แกะ โคกเจริญ มาอย่างต่อเนื่อง  ขณะเดียวกันเธอใช้เวลาว่างหลังเลิกงาน เลี้ยงแพะเป็นรายได้เสริม ในชื่อ “สุขประเสริฐฟาร์ม” ในพื้นที่ตำบลวังทอง ด้วยเช่นกัน

คุณวสันต์ สุริยวงษ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ แกะ โคกเจริญ

คุณจรินทร์ ได้เล่าให้ฟังว่า เดิมพวกเราเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อมาก่อน แต่ระยะหลังไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะสำหรับปล่อยสัตว์เลี้ยงให้แทะเล็มหญ้าได้หมือนสมัยก่อน ทำให้ปริมาณการเลี้ยงสัตว์โคเนื้อของเกษตรกรมีจำนวนลดลงอย่างมาก ทางกลุ่มเกษตรกรฯ จึงเกิดแนวคิดที่จะเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน โดยมีโจทย์ว่า ต้องเลี้ยงสัตว์ที่กินอาหารในปริมาณที่ไม่มาก และเป็นอาหารสัตว์ที่หาง่ายในท้องถิ่น ให้ผลผลิตที่ดี และราคาขายได้ในราคาที่ดีด้วย ในที่สุดทางกลุ่มฯ ก็ได้มติที่เป็นเอกฉันท์ว่า อยากเลี้ยงแพะ แกะ

อาหารข้นที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ แกะ โคกเจริญ จำหน่ายให้กับสมาชิก

ทางกลุ่มเกษตรกรฯ ได้นำเสนอทางเลือกใหม่ในการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ แก่ปศุสัตว์อำเภอโคกเจริญ นับเป็นความโชคดีของทางกลุ่มฯ เนื่องจากทางอำเภอโคกเจริญ มีงบประมาณสำหรับยุทธศาสตร์การเลี้ยงสัตว์อยู่พอดี ทางกลุ่มฯ จึงเสนอของบประมาณเลี้ยงแพะตามแผนยุทธศาสตร์การเลี้ยงสัตว์ของอำเภอโคกเจริญ โดยได้รับการจัดสรรแพะเนื้อมา จำนวน 165 ตัว

เกษตรกรพอใจกับอาชีพเลี้ยงแพะ

ทางกลุ่มเกษตรกรฯ ได้จัดสรรแพะให้สมาชิกใช้เลี้ยงนำร่อง จำนวน 15 ราย รายละ 11 ตัว (แม่พันธุ์ 10 ตัว ต่อพ่อพันธุ์ 1 ตัว) โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกที่ได้รับแพะแม่พันธุ์ไป จำนวน 10 ตัว จะต้องคืนลูกตัวแรกที่เป็นตัวเมียให้กับทางกลุ่มฯ จำนวน 10 ตัว ตามที่ได้รับแม่พันธุ์จากกลุ่มฯ ไปเพื่อกระจายพันธุ์แพะให้สมาชิกรายต่อไป (ทางกลุ่มฯ ได้แนวคิดดังกล่าวมาจากโครงการธนาคารโค-กระบือตามพระราชดำริ)

แพะที่เลี้ยงไว้ในโรงเรือน

“ในระยะแรกทางกลุ่มฯ ตั้งเป้าหมายว่า ภายใน ปี 2556 จะต้องกระจายแพะให้สมาชิกให้ได้ 60 เปอร์เซ็นต์ และจะต้องทำฟาร์มปลอดโรคให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์  ปัจจุบันกลุ่มฯ ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้สมาชิกพัฒนาฟาร์มแพะเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ฟาร์มปลอดโรคบรูเซลโลสิส (โรคแท้งติดต่อ) ได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ และพัฒนาเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มแพะต่อไป แต่เนื่องจากปัจจุบันจังหวัดลพบุรียังไม่มีสัตวแพทย์คุมฟาร์มแพะ จึงไม่สามารถยื่นขอรับรองมาตรฐานฟาร์มแพะได้ในขณะนี้” คุณจรินทร์ กล่าว

สินเชื่อ ธ.ก.ส.พัฒนาอาชีพ

ฟาร์มเลี้ยงแพะ ของ คุณจรินทร์ สุขประเสริฐ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ และสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ โคเนื้อขุน กระบือเนื้อ แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อตามมติ ครม. (26 พ.ย. 62) ภายใต้ชื่อ ธุรกิจชุมชนสร้างไทย ซึ่งเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 0.01 ต่อปี (กู้ 1 ล้าน ดอกเบี้ย 100 บาท ต่อปี) ให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ที่สนใจอาชีพเลี้ยงสัตว์ภายใต้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภาระหนี้สิน เป็นการเพิ่มทางเลือกและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร

ผู้เลี้ยงแพะ แกะ โคกเจริญ คว้ารางวัลชมเชยสถาบันเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ ปี 2560

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ แกะ โคกเจริญ เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรฯ ที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อ “ธุรกิจชุมชนสร้างไทย” จาก ธ.ก.ส. โดยสมาชิกกลุ่มฯ นำสินเชื่อดังกล่าวไปใช้ขยายฟาร์มแพะ รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มเพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายตลาดบน หรือธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) คือ ร้านซีพี เฟรชมาร์ท ของเครือซีพี

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ แกะ โคกเจริญ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแห่งประเทศไทย ในโครงการยกระดับการผลิตและการตลาดแพะของเกษตรกรสู่ระบบมาตรฐาน โดยมุ่งเน้นสินค้าที่ปลอดภัยมีคุณภาพ ร่วมกันบริหารจัดหาและสนับสนุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ พันธุ์สัตว์ ร่วมกันดูแลสุขภาพสัตว์ จัดหาตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน สนับสนุนความรู้ด้านวิชาการด้านการเลี้ยงแพะในระบบมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะที่มั่นคง ยั่งยืน

ซึ่งในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่รับซื้อแพะ แกะ ของกลุ่มเกษตรกร ไม่ต่ำกว่าราคาประกันที่เซ็น MOU ไว้ร่วมกัน โดยแพะเข้าขุน (น้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม) รับซื้อในราคา กิโลกรัมละ 125 บาท แพะขุน (น้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม) ราคากิโลกรัมละ 120 บาท แพะปลดเพศผู้ (น้ำหนักไม่เกิน 60 กิโลกรัม)  ราคากิโลกรัมละ 90 บาท แพะปลดเพศเมีย ราคากิโลกรัมละ 60 บาท แพะสาว ราคากิโลกรัมละ 110-115 บาท

“ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแห่งประเทศไทยจะทำหน้าที่ดูแลส่งสินค้าขายตลาดบน คือ ซีพี เฟรชมาร์ท ให้กับทางกลุ่มฯ ด้วย  ” คุณจรินทร์ กล่าวในที่สุด

——————————

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2563