ที่มา | รายงานพิเศษ ลพบุรี ปลูกพืชน้ำน้อย เลี้ยงแพะสู้ภัยแล้ง |
---|---|
ผู้เขียน | จิรวรรณ โรจนพรทิพย์ |
เผยแพร่ |
ปี 2563 เป็นอีกปีที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง เนื่องจากฤดูฝน 2562 ที่ผ่านมา มีฝนตกน้อยมาก ทำให้ปริมาณน้ำที่กักเก็บเอาไว้ในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ที่เรียกว่า “น้ำต้นทุน” สำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและภาคการเกษตรมีปริมาณต่ำกว่าความต้องการใช้จริง จังหวัดลพบุรีเองแม้มีอู่น้ำ คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอพัฒนานิคม แต่จังหวัดลพบุรีก็ประสบความขาดแคลนน้ำจากวิกฤตภัยแล้งเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ
พืชเศรษฐกิจจังหวัดลพบุรี
คุณธีระศักดิ์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า จังหวัดลพบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 4.06 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 2.87 ล้านไร่ (70% ของพื้นที่ทั้งหมด) โดยมีพื้นที่ศักยภาพในการปลูกข้าวทั้งหมด 9 แสนไร่ ในปีการผลิต 2562/63
สำหรับ ข้าวนาปรัง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562-มีนาคม 2563 มีพื้นที่ปลูกกว่า 52,955 ไร่ ในพื้นที่ 9 อำเภอ แบ่งเป็นข้าวนาปรังนอกเขตชลประทาน 2,660 ไร่ ข้าวนาปรังในเขตชลประทาน 50,295 ไร่ ซึ่งมีกำหนดเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563-ต้นเดือนมีนาคม 2563 ประมาณ 28,000 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เนื่องจากข้าวได้อายุเก็บเกี่ยว ส่วนที่เหลืออีก 25,000 ไร่นั้น มีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่จะได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ซึ่งจังหวัดลพบุรีไม่มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้ เนื่องจากได้มีการเตือนถึงสถานการณ์ความเสี่ยงในการปลูกแล้ว แต่เกษตรกรยังมีการฝ่าฝืนทำนาต่อ
ลพบุรี มีศักยภาพในการปลูก อ้อยโรงงาน ประมาณ 8 แสนไร่ ในปีการผลิต2562/63 พื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานลดลงมากเนื่องจากประสบภัยแล้งต่อเนื่องและราคาที่ตกต่ำ ทำให้พื้นที่ปลูกลดลงเหลือ 547,091 ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวหมดแล้ว ขายได้เฉลี่ย 0.7 บาท ต่อกิโลกรัม
มันสำปะหลัง ลพบุรีมีพื้นที่การปลูก 3 แสนไร่ แต่ปีการผลิต 2562/63 พื้นที่ปลูกลดลง เนื่องจากประสบภัยแล้งต่อเนื่อง เหลือพื้นที่ปลูกเพียง 279,735 ไร่ เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562-พฤษภาคม 2563 ผลผลิตเฉลี่ย 3.7 ตัน ต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 2.20 บาท ต่อกิโลกรัม
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลพบุรี มีพื้นที่การปลูก 2.3 แสนไร่ แต่ปีการผลิต 2562/63 พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ราคาที่ค่อนข้างดี เป็น 341,258 ไร่ โดยส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนพื้นที่มาจากอ้อยโรงงานและมันสำปะหลัง ในพื้นที่ 10 อำเภอ ปัจจุบันเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว ได้ผลผลิตเฉลี่ย 853 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 6.24 บาท ต่อกิโลกรัม
สร้างงาน สร้างรายได้ สู้วิกฤตภัยแล้ง
เนื่องจาก จังหวัดลพบุรี ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมา สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรีจึงร่วมกับจังหวัดลพบุรีได้เปิดตัวโครงการ “สร้างงาน สร้างรายได้ สู้วิกฤตภัยแล้ง จังหวัดลพบุรี ปี พ.ศ. 2563” โดยมี คุณสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรในช่วงวิกฤตภัยแล้งที่ไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้
จังหวัดลพบุรีเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ประสบภัยแล้งได้รับการฝึกอบรม “สร้างอาชีพ สร้างรายได้” ไม่น้อยกว่า 1 อาชีพ จาก 16 อาชีพทางเลือกใน 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ประกอบด้วย การเพาะปลูกแฟง, การเพาะปลูกบวบ, การเพาะปลูกฟักทอง, การเพาะปลูกแตงกวา, การเพาะปลูกถั่วฝักยาว, การเพาะปลูกแตงโมอ่อน, การเพาะปลูกข้าวโพดฝักอ่อน, การเพาะปลูกข้าวโพดหวาน, การเพาะปลูกผักบุ้งจีน, การเพาะปลูกพริกขี้หนู, การเพาะปลูกเห็ดฟางตะกร้า และการเพาะปลูกต้นอ่อนทานตะวัน
ส่วนการอบรมอาชีพ กลุ่มที่ 2 “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” ประกอบด้วย การเลี้ยงโคขุน, การเลี้ยงแพะขุน, การเลี้ยงไก่พื้นเมือง และการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการอบรม 16 สาขาอาชีพ สมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 11 อำเภอ ของจังหวัดลพบุรี ปิดรับสมัครในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับการอบรมความรู้และจัดงานวันสาธิตในพื้นที่ โดยใช้ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ปี 2563 จำนวน 11 อำเภอ โดยเน้นการถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกพืชน้ำน้อย การตัดแต่งกิ่ง การคลุมดินด้วยเศษฟาง เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจและประเมินข้อมูลในเบื้องต้น สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี คาดว่า จะมีพื้นที่เสี่ยงได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง จำนวน 3,944 ไร่ จำนวน 6 อำเภอ 28 ตำบล จำนวนเกษตรกร 187 ราย อย่างไรก็ตาม บางอำเภอพื้นที่ไม้ผลสามารถยืนต้นและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เนื่องจากอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ บ่อบาดาล และบางพื้นที่เกษตรกรได้การสนับสนุนจากสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 3 จังหวัดสระบุรี เจาะบ่อบาดาลและพลังงานโซล่าร์เซลล์ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล อำเภอหนองม่วง อำเภอท่าหลวง อำเภอสระโบสถ์ ฯลฯ
ปลูกพืชน้ำน้อย สร้างรายได้ 30-90 วัน
คุณธีระศักดิ์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ทางจังหวัดลพบุรีได้แนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชน้ำน้อย เป็นการสร้างรายได้ในระยะเวลา ตั้งแต่ 1-3 เดือน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการที่ไม่ได้ทำนาปรัง หากใครมีพื้นที่ 1 งาน สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรีแนะนำให้ปลูกพืชน้ำน้อยสู้ภัยแล้งที่ให้ผลผลิตสูง ผลตอบแทนสูง ต้นทุนต่ำ จำนวน 11 ชนิด ได้แก่ แฟง บวบ ฟักทอง พริกขี้หนู แตงกวา แตงโมอ่อน ข้าวโพดฝักอ่อน ผักบุ้งจีน ข้าวโพดหวาน ถั่วฝักยาว และการเพาะเห็ดตะกร้า
แฟง มีอัตราการใช้น้ำ 250 ลูกบาศก์เมตร ต่อไร่ อายุการเก็บเกี่ยว 90 วัน อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ 100 กรัม ต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 3,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 1,200 บาท ต่อไร่ ราคาจำหน่าย 10 บาท ต่อกิโลกรัม รวมรายได้สุทธิ 35,000 บาท กำไร 33,000 บาท ต่อไร่
ฟักทอง ใช้ต้นทุน 275 บาท มีอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ผลผลิต 1,250 กิโลกรัม ราคาขาย 15 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ 15,475 บาท
บวบ ใช้ต้นทุน 2,412 บาท มีอายุเก็บเกี่ยว 40-60 วัน ผลผลิต 1,000 กิโลกรัม ราคาขาย 10 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ 7,588 บาท
พริกขี้หนู ใช้ต้นทุน 3,975 บาท มีอายุเก็บเกี่ยว 70-90 วัน ผลผลิต 250 กิโลกรัม ราคาขาย 60 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ 11,025 บาท
แตงกวา ใช้ต้นทุน 6,382 บาท มีอายุเก็บเกี่ยว 30-40 วัน ผลผลิต 1,500 กิโลกรัม ราคาขาย 12 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ 11,618 บาท
แตงโมอ่อน ใช้ต้นทุน 2,575 บาท มีอายุเก็บเกี่ยว 45 วัน ผลผลิต 675 กิโลกรัม ราคาขาย 10 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ 4,175 บาท
ข้าวโพดฝักอ่อน ใช้ต้นทุน 1,305 บาท มีอายุเก็บเกี่ยว 55 วัน ผลผลิต 325 กิโลกรัม ราคาขาย 40 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ 11,695 บาท
ผักบุ้งจีน ใช้ต้นทุน 2,450 บาท มีอายุเก็บเกี่ยว 30-35 วัน ผลผลิต 875 กิโลกรัม ราคาขาย 11 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ 7,175 บาท
ข้าวโพดหวาน ใช้ต้นทุน 1,305 บาท มีอายุเก็บเกี่ยว 70-85 วัน ผลผลิต 875 กิโลกรัม ราคาขาย 10 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ 7,445 บาท
ถั่วฝักยาว ใช้ต้นทุน 2,500 บาท มีอายุเก็บเกี่ยว 50-75 วัน ผลผลิต 1,125 กิโลกรัม ราคาขาย 22 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ 22,250 บาท
เห็ดตะกร้า ใช้ต้นทุน 31 บาท ต่อตะกร้า มีอายุเก็บเกี่ยว 20-21 วัน 1 ตะกร้า เก็บผลผลิตได้ 3 รุ่น ผลผลิต 0.5 กิโลกรัม ต่อตะกร้า ราคาขาย 90 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิ 14 บาท ต่อตะกร้า
คุณธีระศักดิ์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี ได้วางแผนรับมือภัยแล้งอย่างครบถ้วน ตั้งแต่เริ่มสำรวจพื้นที่เสี่ยง แจ้งเตือนข่าวสาร สถานการณ์แล้ง การขาดแคลนน้ำ เยี่ยมเยียน ติดตามให้คำแนะนำเกษตรกรรักษาความชื้นในแปลง เช่น การใช้วัสดุคลุมดินช่วยให้ประหยัดน้ำ และการตัดแต่งกิ่ง ฯลฯ ควบคู่กับดำเนินโครงการฝึกอบรม “สร้างอาชีพ สร้างรายได้” ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรีมั่นใจว่า แล้งนี้เกษตรกรลพบุรีต้องรอด มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงอย่างแน่นอน
…………………………………………………….
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่