กล้วยอบราชสาสน์ ส่งยักษ์ใหญ่ “คิง เพาเวอร์”

นโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2542 สนับสนุนให้ทุกครัวเรือนปลูกกล้วยน้ำว้า เพื่อบริโภค และสร้างรายได้จากผลิตผลของกล้วยน้ำว้า ส่งผลให้ชาวอำเภอราชสาสน์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีรายได้ต่อยอดจากการแปรรูปกล้วยน้ำว้า มาจนถึงปัจจุบัน

คุณจินตนา ตันเจริญ

คุณจินตนา ตันเจริญ ประธานกลุ่มสตรีแปรรูปกล้วย ตำบลบางคา อำเภอราชสาสน์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดบริเวณพื้นที่บ้านส่วนหนึ่งให้เป็นสถานที่แปรรูปกล้วยน้ำว้า ให้เป็นกล้วยอบราชสาสน์ จำหน่ายตามยอดการสั่งซื้อของลูกค้า

เมื่อมีการปลูกกล้วยน้ำว้าทุกครัวเรือน ประกอบกับได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ทำให้ผลผลิตจากกล้วยล้นตลาด เมื่อผลผลิตมากขึ้น กลุ่มแม่บ้านที่มีการรวมตัวกันอยู่แล้ว จึงมีแนวคิดแปรรูปกล้วยขาย เพื่อลดความเสียหายจากผลกล้วยสดที่จำหน่ายไม่หมดลง

กลุ่มแม่บ้านสตรีแปรรูปกล้วย ตำบลบางคา อำเภอราชสาสน์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

เป็นโชคดีของกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดฉะเชิงเทราที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ส่งให้ คุณจินตนา ในฐานะประธานกลุ่ม เป็นตัวแทนอำเภอราชสาสน์ ไปอบรมการแปรรูปที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ และเรียนรู้การใช้เครื่องมือสำหรับอบกล้วย เพื่อนำมาเผยแพร่ และครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มแม่บ้านสตรีแปรรูปกล้วย ที่นำโดยคุณจินตนา ในการผลิตกล้วยอบราชสาสน์ และเป็นของดีขึ้นชื่ออีกประเภทของอำเภอราชสาสน์ทีเดียว

มีดชุบน้ำเกลือ ใช้แต่งกล้วย ไม่ติดใบมีด

เริ่มต้นจากการระดมหุ้นเพียงเล็กน้อย ปัจจุบันมีหุ้นในกลุ่มแม่บ้านสตรีแปรรูป จำนวน 270 หุ้น ระดมทุน หุ้นละ 100 บาท จำกัดไม่เกินคนละ 20 หุ้น มีสมาชิกทั้งสิ้น 27 คน เท่านั้น และปัจจุบัน คุณจินตนา บอกว่า จำนวนหุ้นไม่เพิ่มขึ้นแล้ว เนื่องจากคนในหมู่บ้านที่เป็นแม่บ้านจริงๆ มีจำนวนน้อยลง

รสชาติไม่มีที่ติของกล้วยอบราชสาสน์ ทำให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ติดต่อสั่งซื้อและเป็นลูกค้าประจำ นำกล้วยอบราชสาสน์ไปวางจำหน่ายยัง คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ถนนรางน้ำ กรุงเทพฯ และบริการบนเครื่องบินให้กับลูกค้าบนเครื่อง

กล้วยอบที่นำออกจากพลาสติกแล้ว ยังไม่บรรจุใส่บรรจุภัณฑ์

จากเดิมกลุ่มแม่บ้านนำกล้วยน้ำว้าของทุกครัวเรือนที่จำหน่ายไม่ทัน นำมาแปรรูปโดยการอบ ซึ่งคุณจินตนาเป็นผู้ถ่ายทอด และได้รับการสนับสนุนจัดซื้อเครื่องอบ 1 เครื่อง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้น ผลผลิตที่ได้ก็นำไปวางจำหน่ายเมื่อมีการจัดการแสดงสินค้า หรือการประชุม อบรม สัมมนา ภายในจังหวัด เมื่อมีคนซื้อเป็นของฝาก ปากต่อปากถึงรสชาติและฝีมือการอบกล้วยของกลุ่มแม่บ้านสตรีแปรรูปกล้วยก็เริ่มแผ่ขยาย

คุณจินตนา เล่าให้ฟังว่า จำนวนสมาชิก 27 คน แต่ไม่ได้เข้ามาช่วยงานทั้งหมด มีสมาชิกที่เข้ามาช่วยงานแปรรูป ประมาณ 10-12 คน ในทุกวัน ซึ่งการอบกล้วยราชสาสน์ จำเป็นต้องใช้แรงงานประจำจุด ดังนั้น หากมีแรงงานน้อยกว่า 10 คน ในแต่ละวัน จะไม่สามารถผลิตกล้วยอบได้

สมาชิกที่ร่วมลงแรง

ตู้อบ เป็นตู้อบอเนกประสงค์ ในแต่ละตู้สามารถนำกล้วยเข้าอบได้ครั้งละ 50 ถาด ในแต่ละครั้งที่นำเข้าอบ ใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง อุณหภูมิภายในตู้อบไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส ปัจจุบัน เพิ่มจำนวนตู้เป็น 7 ตู้อบ

กล้วยน้ำว้าภายในพื้นที่ฉะเชิงเทราไม่เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มแม่บ้าน จำเป็นต้องสั่งซื้อเพิ่ม โดยเน้นที่กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ไซซ์ใหญ่ และต้องเป็นกล้วยแก่จัด โดยซื้อกล้วยดิบมาทิ้งไว้ให้สุกตามธรรมชาติ เพื่อความหอมหวาน รสชาติดี เมื่อแปรรูป

ตู้อบ 7 ตู้ ที่ใช้ในปัจจุบัน

ขั้นตอนการผลิต

  1. ใช้กล้วยน้ำว้าสุกหมดทั้งลูก นำมาปอกเปลือกออก แช่ผลกล้วยที่ปอกแล้วทั้งลูกในน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 5-6 นาที
  2. สรงขึ้นตะแกรง ทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
  3. นำไปผ่าซีก เข้าเครื่องทับ ใส่ถาดที่ปูพลาสติกไว้
  4. แต่งให้สวยด้วยมีดชุบน้ำเกลือ
  5. นำเข้าตู้อบ 7-8 ชั่วโมง ระหว่างที่กล้วยอยู่ในตู้ ต้องคอยเปิดดูความสุกของกล้วยเป็นระยะ
  6. นำกล้วยออกจากตู้อบ ลอกออกจากพลาสติก นำไปบรรจุเข้าบรรจุภัณฑ์ แต่ถ้ายังไม่บรรจุ ก็สามารถเก็บไว้ก่อนได้

สีของกล้วยอบ บ่งบอกถึงความหวานของกล้วย หากกล้วยอบมีสีดำมาก หมายถึง ความหวานของกล้วยชิ้นนั้นมาก แต่ถ้าสีเหลือง นวล หรือขาว หมายถึงความหวานของกล้วยชิ้นนั้นน้อย

กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง เก็บไว้ให้สุกจัด

คุณจินตนา แนะเทคนิคการทำกล้วยอบราชสาสน์ รสชาติไม่เหมือนใคร ว่า ขั้นตอนการทำเป็นขั้นตอนที่เหมือนการอบกล้วยทั่วไป แต่เทคนิคการทำให้กล้วยมีความหวานได้ที่ รสชาติดีนั้น ควรเริ่มต้นจากกล้วยที่นำมาใช้ ผลกล้วยต้องแก่จัดจากต้น สุกธรรมชาติ และสุกทั้งผล เร่งอุณหภูมิสูงขึ้นเพื่อให้กล้วยสุกเร็วไม่ได้ เพราะจะทำให้กล้วยไม่ได้รสชาติ

กล้วยน้ำว้าไซซ์ใหญ่ 1 ผล จะได้กล้วยอบ 1 ชิ้น

กล้วยน้ำว้าไซซ์ใหญ่ 5-6 กิโลกรัม จะได้กล้วยอบ 1 กิโลกรัม

ในแต่ละครั้ง กล้วยน้ำว้าดิบ จะจัดส่งมาถึงกลุ่มเฉลี่ย 1 ตัน/สัปดาห์

บรรจุเรียบร้อย พร้อมจำหน่าย

กลุ่มสตรีแปรรูปกล้วยกลุ่มนี้ สามารถผลิตกล้วยอบราชสาสน์ได้วันละ 80-100 กิโลกรัม มีลูกค้าผูกขาดหลายราย “คิง เพาเวอร์” เป็นรายใหญ่ที่สั่งซื้อมากที่สุด อย่างน้อย 1,200 ซอง ส่วนรายอื่นกลุ่มสตรีแปรรูปกล้วยขายส่ง เพื่อให้ร้านค้านั้นๆ นำไปขายปลีก และใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “จินตนากล้วยอบราชสาสน์”

ราคาขายกิโลกรัมละ 160 บาท

กล้วยในตู้อบ

จะให้เพิ่มการผลิต คุณจินตนา ยอมรับว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากตู้อบมีเพียง 7 ตู้โดยเฉพาะแรงงานที่ใช้ในการผลิตกล้วยมีไม่เพียงพอในแต่ละวัน

ม้วนใส่จาน หยิบรับประทานง่าย

หากต้องการรับประทานกล้วยอบอร่อย “กล้วยอบราชสาสน์” มีไม่มาก แต่ก็ไม่ยากถ้าต้องการชิม เพียงแค่โทรศัพท์ไปจับจองสั่งซื้อกันที่ กลุ่มแม่บ้านสตรีแปรรูปกล้วย เลขที่ 34 หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา อำเภอราชสาสน์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 089-928-7764

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น!  คลิกดูรายละเอียดที่นี่