ประมงอาสาสาว เลี้ยงปลาตะเพียนอินทรีย์ ต้นทุนต่ำ พร้อมแปรรูปปลาส้ม สูตรเด็ดไม่เหมือนใคร ที่ยโสธร

คุณธนาวดี ศรีมันตะ อยู่บ้านเลขที่ 74 หมู่ที่ 7 บ้านหนองแคน ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร อดีตพนักงานลูกจ้างสหกรณ์ สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการใช้โอกาสที่มี เรียนรู้โครงการสร้างอาชีพต่างๆ ที่ทางสหกรณ์ได้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้กับสมาชิก จนกระทั่งปี 2559 ได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการลดพื้นที่ทำนา 5 ไร่ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการทำนา แห้งแล้ง น้ำไม่พอใช้ จึงตัดสินใจจ้างรถแบ๊กโฮมาขุดบ่อเลี้ยงปลาแทน โดยมีประมงจังหวัด ประมงอำเภอ เข้ามาช่วยเหลือ จัดอบรมให้ความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงไปจนถึงขั้นตอนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งปลาส้ม ปลาแดดเดียว และปลา 3 รส จนสามารถนำมาประกอบอาชีพได้ เมื่อเรียนรู้จนเกิดความชำนาญจึงอาสาตัวเองเป็นประมงอาสาเมื่อปี 2561 จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ได้มีอาชีพ มีรายได้ไปจุนเจือครอบครัว  

คุณธนาวดี ศรีมันตะ

เทคนิคเลี้ยงปลาตะเพียน-ปลานิล
แบบอินทรีย์ ต้นทุนต่ำ ปลาโตดี

หลังจากเข้าร่วมโครงการลดพื้นที่ทำนา คุณธนาวดีก็เริ่มขุดบ่อทดลองเลี้ยง โดยทางประมงจังหวัดได้มอบพันธุ์ปลาให้ 6,000 ตัว ต่อ 1 บ่อ แต่ด้วยความที่มีพื้นที่เยอะลูกปลาไม่พอจึงมีความคิดที่จะเพาะพันธุ์ปลาเอง จึงได้โอกาสจากการเป็นประมงอาสาไปฝึกเรียนรู้วิธีการเพาะพันธุ์ปลาเพิ่มจนตอนนี้สามารถเพาะพันธุ์ปลาได้เอง และสามารถนำองค์ความรู้ไปขยายต่อให้ชาวบ้านได้เพาะเลี้ยงเองด้วย

โดยคุณธนาวดีเริ่มเลี้ยงปลาจากพื้นที่ 5 ไร่ ค่อยๆ เลี้ยงและแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวขายเพื่อสร้างเงินต่อยอด นำมาขุดบ่อเลี้ยงปลาเพิ่ม จะไม่ลงทุนไปทีเดียวเพราะไม่มีเงินทุนมากขนาดนั้น คุณธนาวดีใช้เงินลงทุนครั้งแรกเพียง 53,000 บาท เท่านั้น นอกจากนั้น จะขายผลผลิตเพื่อต่อยอด เห็นผลชัดเจนมาเรื่อยๆ เริ่มเลี้ยงปี 2560 ปี 2561 ได้ผลผลิต ปี 2562 เกิดความชำนาญเห็นความชัดเจนรู้ถึงปัญหาในการเลี้ยงและมีการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันมีการขยายบ่อเลี้ยงเพิ่มขึ้นมาอีก 3 บ่อ รวมทั้งหมดเป็น 8 บ่อ มีบ่อเลี้ยงปลาในนาข้าว 2 บ่อ กว้างบ่อละ 2 ไร่ และมีบ่อเล็กบ่อน้อยอีก 6 บ่อ ขนาดความกว้างแตกต่างกันออกไป 

บ่ออนุบาลลูกปลา

วิธีการเลี้ยง

  1. เริ่มจากการเตรียมบ่อ เน้นเลี้ยงปลากินพืช ขุดบ่อไม่ต้องลึกมากประมาณ 1.50 เมตร เพราะถ้าขุดลึกเกินไปหรือตื้นเกินไปปลาจะไม่โต
  2. ตากบ่อให้แห้งสนิท ถ้าแดดจัดใช้เวลาตากไม่ถึงเดือน สำหรับบ่อใหม่เลี้ยงครั้งแรกให้ใช้ปูนขาวโรยฆ่าเชื้อและใช้ปุ๋ยคอกตากแห้งโรยเข้าไปเป็นอาหารปลากินพืช
  3. ปล่อยน้ำเข้าบ่อ ขั้นตอนนี้ถ้าหากสูบน้ำมาจากห้วยต้องทำการกรองน้ำด้วยมุ้งเขียวก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ปลาไข่สัตว์น้ำที่อยู่ในคลองเข้ามาปะปน และในระหว่างที่เลี้ยงต้องคอยดูแลเรื่องน้ำหากน้ำขุ่นให้นำปูนขาวละลายน้ำแล้วคน สาดให้ทั่วบ่อ น้ำก็จะใสขึ้น
  4. นำลูกปลาที่อนุบาลไว้มาปล่อย บ่อขนาด 1 ไร่ สำหรับทำปลาส้ม ปล่อยลูกปลาไม่เกิน 2,500-3,000 ตัว อัตราการปล่อยแล้วแต่ครั้ง บางครั้งจะปล่อยปลาตะเพียน 2,500 ตัว ปล่อยปลานิล 500 ตัว เพื่อให้ปลานิลเป็นตัวเก็บกวาดขยะก้นบ่อ กินขี้ปลาตะเพียน หรือถ้าเลี้ยงสำหรับทำปลาแดดเดียว บ่อขนาด 1 ไร่ เลี้ยงแบบหนาแน่นปล่อยปลาได้ถึง 6,000 ตัว
บ่อแหนแดง

อาหาร ไม่แนะนำให้เลี้ยงแบบใช้หัวอาหารอย่างเดียวเพราะต้นทุนจะสูง แต่จะแนะนำให้เลี้ยงแบบอินทรีย์ ก็คือการปลูกหญ้าเนเปียร์เสริมเป็นอาหารลดต้นทุน ในสัดส่วน 6 : 4 : 1 ตามสูตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ใช้หญ้าเนเปียร์ 6 ส่วน รำ 4 ส่วน และหัวอาหาร 1 ส่วน หรือถ้าฟาร์มไหนที่อยากเลี้ยงแบบอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ใช้อัตราส่วนเหมือนเดิม 6 : 4 : 1 เพียงแค่เปลี่ยนจากหัวอาหารเป็นปลาป่นแทน หรือเก็บผักไชยา ผักบุ้ง ให้ทุกวันเช้าเย็น

ระยะเวลาในการเลี้ยง จากประสบการณ์ทำให้รู้ว่าไม่จำเป็นต้องเลี้ยงให้ได้ปลาไซซ์ 5-6 ตัว ต่อกิโลกรัม เพื่อมาทำเป็นปลาส้มอย่างเดียว ในเมื่อมีหลายบ่อก็สามารถแบ่งเลี้ยงแยกไซซ์ได้ อาจจะแยกเลี้ยงแบบหนาแน่นทำปลาไซซ์เล็กใช้เวลาเลี้ยงเพียง 2-3 เดือน เพื่อจับมาทำปลาแดดเดียวขายสร้างรายได้หมุนเวียนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ไม่จำเป็นต้องรอเงินระยะยาวจากการเลี้ยงปลาไซซ์ 5-6 ตัว ต่อกิโลกรัม เพื่อทำปลาส้มอย่างเดียว

เทคนิคสร้างอาหารธรรมชาติ ประหยัดต้นทุน นำขี้วัวลงตามมุมบ่อ สร้างโลตัสให้ปลาโดยการใช้ฟางลงชั้นแรกสลับกับขี้วัวตากแห้งอัดกันไว้เป็นชั้นๆ จะทำให้เกิดไรแดง และฟางจะเปื่อยเป็นอาหารธรรมชาติ เมื่อฟางยุบย่อยสลายก็สามารถเติมฟางกับขี้วัวตากแห้งสลับเป็นชั้นได้เรื่อยๆ วิธีนี้คือการลดต้นทุนได้มากที่สุด เพราะว่าที่บ้านทำนาและเลี้ยงวัวอยู่แล้ว 

ประมงจังหวัดมอบพันธุ์ปลา

ขั้นตอนการแปรรูปปลาส้มแม่อ๋อย
อร่อย ถูกหลักอนามัย

คุณธนาวดี บอกว่า ปัจจุบันนี้ยังไม่ค่อยได้แปรรูปปลาส้มแบบจริงจังเท่าไร เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นประมงอาสาไปถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้านมากกว่า การแปรรูปจะใช้เวลาว่างที่เหลือจากการเป็นวิทยากรมาทำ ถ้าหากท่านใดอยากรับประทานต้องสั่งล่วงหน้า ถ้ามีเวลาถึงจะได้รับประทาน แต่ขอบอกก่อนว่าสูตรปลาส้มแม่อ๋อยมีจุดเด่นที่ไม่ธรรมดาแน่นอน แขกบ้านแขกเมืองที่เคยมาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้และได้ลองรับประทานปลาส้มของเราเป็นอันต้องติดใจทุกราย ต่างให้เหตุผลว่ารสชาติปลาส้มและเนื้อปลาส้มแม่อ๋อยไม่เหมือนที่อื่น จะมีสูตรเด็ดอย่างไรมาดูกัน

สาธิตขั้นตอนการทำปลาส้ม

ขั้นตอนการแปรรูป

  1. นำปลาขึ้นมาจากบ่อมาขอดเกล็ด ผ่าหลัง เอาเหงือกเอาคีบออก แล้วล้างน้ำให้สะอาด ขั้นตอนการล้างน้ำจะใส่เกลือลงไป 1 กำมือ เพื่อรักษาความสดของปลา พอล้างน้ำที่ 4 เสร็จจากนั้นสงปลาขึ้นมาสะเด็ดน้ำไว้
  2. เตรียมเครื่องปรุงส่วนผสม มีดังนี้ เกลือ กระเทียม ข้าวเหนียว น้ำตาลทรายแดงหรือผงชูรส
  3. นำปลาที่สะเด็ดน้ำไว้มานวด อัตราส่วน ปลา 4 กิโลกรัม เกลือ 2 ขีด ตำให้ละเอียดเพื่อให้เกลือซึมเข้าเนื้อปลาเร็ว แล้วคลุกนวดๆ เทคนิคสำคัญขึ้นอยู่ที่การนวด ถ้านวดไม่ดีปลาส้มจะเน่า การนวดต้องค่อยๆ นวด ค่อยๆ บีบให้เกลือซึมเข้าเนื้อ และทำให้ก้างนุ่ม จากนั้นใส่น้ำตาลทรายแดงแทนการใส่ผงชูรส และนวดต่อไปอีก 3-4 รอบ จนถึงรอบที่ 5 ถึงค่อยใส่กระเทียมที่ตำไว้ กับข้าวเหนียวที่แช่น้ำสงขึ้นมาสะเด็ดน้ำแล้วใส่ลงไปในกะละมังแล้วนวดอีกครั้งเป็นอันเสร็จ
  4. บรรจุใส่ถุงพลาสติก แล้วนำมาใส่ไว้ในกล่องพลาสติกหมุนปิดไม่ให้อากาศเข้า หน้าร้อนทิ้งไว้ 3 คืน ก็จะหอมแล้ว หรือสังเกตจากถุง ถ้าถุงพองมีน้ำแสดงว่าเป็นแล้ว แต่ถ้าหน้าหนาวต้องทิ้งไว้ประมาณ 4 คืน

จุดเด่นปลาส้มแม่อ๋อย 1. ผู้บริโภคมั่นใจได้เรื่องความสะอาด 2. รสชาติ การันตีได้จากแขกผู้ใหญ่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ท่านเคยเข้ามาเยี่ยมและได้ลองรับประทานปลาส้มแม่อ๋อยท่านชอบมา บอกว่าปลาส้มแม่อ๋อยมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร ปลาไม่มีกลิ่นเหม็นหืน เพราะของเราไม่ได้แช่น้ำซาวข้าว จะเน้นเลี้ยงแบบธรรมชาติใช้เกลือนวดแทน และปลาที่เลี้ยง เลี้ยงแบบอินทรีย์ เนื้อจะแน่นและอร่อยกว่าที่เลี้ยงด้วยหัวอาหาร 

ผลิตภัณฑ์ปลาส้มสร้างชื่ออำเภอกุดชุม

ผลิตภัณฑ์ปลาส้มมีขายที่ไหนบ้าง

ณ ตอนนี้ยังมีขายไม่เยอะเพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นไม่ค่อยมีเวลาทำ จะทำตอนที่มีเวลาว่างเท่านั้น ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาทั้งปลาส้ม ปลาแดดเดียว ปลา 3 รส จะนำมาวางขายที่ร้านค้าสหกรณ์การเกษตรในอำเภอ หรือทำตามออเดอร์ มีออเดอร์มาเรื่อยๆ แต่ไม่มีเวลาทำ คนสั่งต้องทำใจ และใจเย็นๆ ในการรอ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการที่เคยได้บริโภคมาก่อนแล้วติดใจ ติดใจรสชาติและความสดใหม่ไม่เก็บไว้นาน ราคาขายก็ไม่แพง ไซซ์ 2-3 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคา 140 บาท ที่ขายราคานี้ได้เพราะต้นทุนการเลี้ยงต่ำ แต่ถ้าใช้หัวอาหารเลี้ยงขายราคานี้ไม่ได้

 

รายได้จากการเพาะพันธุ์ปลาขายและแปรรูป

รวมรายได้ต่อปีเป็นเงิน 150,000 บาท รายได้จากปลาส้มได้ไม่น้อยอย่างต่ำเดือนละ 5,000-6,000 บาท และยังมีรายได้จากการเพาะพันธุ์ปลาขาย มีการประกันให้กับชาวบ้านที่ซื้อลูกปลาไปเลี้ยงด้วยการรับซื้อคืนเพราะเรามีตลาดส่งปลาไปให้กลุ่มทำแจ่วบอง กลุ่มโรงงานแปรรูปยโสธรด้วย แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยมีคนขายคืนเพราะการที่เป็นประมงอาสาก็จะสอนวิธีคิดวิธีการแปรรูปให้กับชาวบ้านไปด้วยว่าถ้าเขาเอามาขายให้เราได้ราคาแค่กิโลกรัมละ 35-40 บาท แต่ถ้าเขาแปรรูปเองทำเป็นปลาแดดเดียวกิโลหนึ่งได้เงิน 250 บาท ขีดละ 25 บาท สร้างเงินได้มากกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง เราจะไม่มีการเอาเปรียบชาวบ้าน แต่ในทางกลับกันอยากส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพสร้างทางรอดให้สามารถพึ่งตัวเองได้มากกว่า ทุกวันนี้มีหลายคนที่เลี้ยงและแปรรูปขายเองได้ บ้างก็แปรรูปแล้วส่งให้ลูกให้หลานไปขายที่กรุงเทพฯ ตามโรงงานที่ทำอยู่ สร้างรายได้ไม่น้อย บางรายทำได้เก่งกว่าคนสอนซะอีก มีออเดอร์เดือนละ 200-300 กิโลกรัม

“การทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จต้องยืนด้วยขาตัวเองให้ได้ ไม่ขี้เกียจ รับรองได้ว่าประสบความสำเร็จแน่นอน” คุณธนาวดี กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดขั้นตอนการเลี้ยงปลาหรือสูตรเด็ดทำปลาส้มเพิ่มเติม ติดต่อคุณธนาวดี ได้ที่เบอร์โทร. (095) 467-6150


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่