ที่มา | คิดใหญ่แบบรายย่อย |
---|---|
ผู้เขียน | อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย |
เผยแพร่ |
สวัสดีครับ ยินดีที่ได้พบกันผ่านคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย กันเป็นประจำ ฉบับนี้ผมอาจจะมาด้วยเรื่องที่แปลกตาสักหน่อย กับ คำว่า “ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค” ซึ่งเป็นคำที่ผมคิดขึ้นและนำมาใช้เรียกธุรกิจการเกษตรรูปแบบหนึ่ง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2553 เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมชมบ้านไร่วิมานดินฟาร์มสเตย์ แอนด์ รีสอร์ท ของ พ.ต.ท. กฤชญาณ อภิกุลชา ที่อำเภอทองผาภูมิ ซึ่งท่าน พ.ต.ท. กฤชญาณ บอกว่า ถูกใจคำว่า ระบบการเกษตรแบบบูติคนี้มาก และผมก็ใช้คำๆ นี้เรื่อยมา เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจการเกษตรอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความแตกต่างไปจากธุรกิจการเกษตรแบบอื่นๆ แต่ก็มีคนทักท้วงว่าเมื่อเห็นว่ามันต่าง ทำไมไม่อธิบายให้คนส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจให้ตรงกันเสียที ปล่อยผ่านมาจนเวลาล่วงเลยเป็น 10 ปี ดังนั้น ผมจึงขอใช้พื้นที่ในฉบับนี้อธิบายขยายความ คำว่า “ระบบการเกษตรแบบบูติค” เสียทีครับ
ระบบการผลิตทางการเกษตร คืออะไร?
ในการผลิตโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน ด้วยกันคือ ปัจจัยการผลิต (Input) ส่วนกระบวนการผลิต (Process) และส่วนที่เป็นผลผลิต (Output) ซึ่งรวมเรียกว่า ระบบการผลิต
ระบบการผลิต (Production System) หมายถึง การผลิตเป็นกระบวนการที่ทําให้เกิดการสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาจากการใช้ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ การดําเนินการผลิตจะเป็นไปตามลําดับขั้นตอนของการกระทําก่อนหลัง กล่าวคือ จากวัตถุดิบที่มีอยู่จะถูกแปลงสภาพให้เป็นผลผลิตที่อยู่ในรูปตามต้องการ เพื่อให้การผลิตบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น จึงจําเป็นต้องมีการจัดการให้อยู่ในรูปของระบบการผลิต ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่สําคัญ 3 ส่วน คือ ปัจจัยการผลิต (input) กระบวนการแปลงสภาพ/กระบวนการผลิต (conversion process) และผลผลิต (output) ที่อาจเป็นสินค้า และ/หรือบริการ (ที่มา : http://bc.crru.ac.th/downloads.pdf)
ดังนั้น หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ระบบการผลิตทางการเกษตรคือ การผลิตที่เป็นกระบวนการโดยใช้ปัจจัยการผลิต อย่าง คน วัตถุดิบ เครื่องจักร พลังงาน เงิน ข่าวสาร มาใช้ในกระบวนการแบบใดแบบหนึ่งเพื่อผลิตผลผลิตทางการเกษตรออกมาให้ได้ เช่น ลุงใหญ่ จะปลูกข้าวสัก 1 แปลง ลุงใหญ่ใช้ปัจจัยการผลิตอย่าง คน คือแรงงานของลุงใหญ่ วัตถุดิบ คือพันธุ์ข้าว ปุ๋ย เครื่องจักร คือรถไถ รถเกี่ยว เครื่องสูบน้ำ พลังงาน คือน้ำมัน เงินสำหรับซื้อพันธุ์ข้าวปลูก ซื้อน้ำมัน ค่าเช่านา ข่าวสารเพื่อการตรวจสอบราคาข้าวเปลือก ราคาค่าจ้างรถไถ ค่าจ้างรถเกี่ยว กระบวนการผลิตข้าวแปลงนี้ของลุงใหญ่จะเน้นการไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น ใช้เพียงปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ไม่ใช้สารฆ่าหญ้า สารฆ่าแมลงใดๆ ดังนั้น ผลผลิตข้าวที่ได้จากแปลงของลุงใหญ่แปลงนี้จะเป็นข้าวที่ปราศจากการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ซึ่งระบบการผลิตของลุงใหญ่ที่ว่ามาทั้งหมดคือ ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์นั่นเองครับ
ระบบการผลิตทางการเกษตรในประเทศไทยมีอะไรบ้าง
มีคำถามว่า แล้วระบบการผลิตทางการเกษตรในประเทศไทยมีอะไรบ้าง ผมได้พยายามอ่านและรวบรวมจากงานวิชาการของหลายท่าน หลายหน่วยงาน เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เนตรนภา อินสลุด คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น สามารถสรุปได้ว่าระบบการผลิตทางการเกษตรในประเทศไทยมีดังนี้
- ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบเกษตรเชิงเดี่ยวหรือระบบเกษตรเคมี (Monocropping/Chemical Agriculture)
- ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบยั่งยืน (Sustainable Agriculture System) ที่ผมรวมเอาทั้งระบบเกษตรผสมผสาน ระบบไร่นาสวนผสม ระบบวนเกษตร ระบบเกษตรธรรมชาติ และระบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ามารวมไว้ในระบบการผลิตทางการเกษตรแบบยั่งยืน
- ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture)
- เกษตรกรรมที่เป็นมากกว่าเกษตรอินทรีย์ (Beyond Organic farming) ซึ่งเป็นการปรับปรุงระบบและวิธีการทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและรักษาระดับคุณภาพของผลผลิตอินทรีย์ให้สม่ำเสมอต่อเนื่องได้
ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural
มาถึงพระเอกของเราที่ผมจั่วหัวเอาไว้ “ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural” ซึ่งมีที่มาจาก คำว่า Boutique ที่แปลความหมายตามดิกชั่นนารีได้ว่า ร้านขายเครื่องแต่งกายที่นำสมัย ร้านเล็กๆ ที่ขายสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง เช่น ร้านขายสินค้านำเข้า (ที่มา : https://dict.longdo.com/search/Boutique/pc)
ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค ตามความหมายที่ผมตั้งเอาไว้ก็คือ การรวมเอาธุรกิจเกษตรและธุรกิจบริการเข้าไว้ด้วยกันและดำเนินการไปพร้อมๆ กัน มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างรายได้จากการเกษตรและจากการบริการไปพร้อมๆ กัน และเกี่ยวเนื่องกัน นอกจากนั้นยังเน้นเรื่องการทำให้ลูกค้าพึงพอใจจากการได้ชื่นชม มีส่วนร่วม มีประสบการณ์ในการผลิตทางการเกษตรอีกด้วย
คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ฉบับนี้หมดพื้นที่อีกแล้ว คงจะต้องทิ้งเอาไว้ให้เป็นที่สงสัยว่าหลักเกณฑ์พื้นฐาน ขอบเขตของระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural นั้น จริงๆ แล้วเป็นอย่างไรกันแน่ มาหาคำตอบกันได้ในระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural ตอนที่ 2 ต่อไปครับ
………………………………………………………………………………………………………………………………………..
เอกสารอ้างอิง
ดร. เนตรนภา อินสลุด ใน http://www.ap.mju.ac.th/ap101/all%20lessons/Lesson/Chapter.pdf
http://bc.crru.ac.th/downloads.pdf
www.nan.doae.go.th › scanbook2559 › v4354.4.pdf
https://dict.longdo.com/search/Boutique/pc
………………………………………………………………………………………………………………………………..
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่