ผักลิ้นห่าน พืชชายหาดสู่ผักสวนครัวหลังบ้าน

นางอำพร ก่อเจริญกิจ หรือ ป้าจี๊ด เกษตรกรต้นแบบ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมการเกษตรและอาชีพแม่บ้านเกษตรกร หมู่ที่ 3 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต หนึ่งในเกษตรกรที่ได้ขยายผลการปลูกผักลิ้นห่านในพื้นที่บ้านของตนเอง ป้าจี๊ดกล่าวว่าตนและสมาชิกในครอบครัวชอบปลูกพืชไว้กินเอง อีกทั้งชอบพืชแปลกๆ ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล พืชผัก และพืชสมุนไพร รวมทั้งชอบเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเองอยู่เสมอ โดยเข้าร่วมอบรมด้านการเกษตรกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประจำ จนได้พบกับผักลิ้นห่านจากการเข้าร่วมอบรมและศึกษาดูงานด้านการปลูกและการแปรรูปผักพื้นเมืองภูเก็ต ซึ่งไปศึกษาดูงานการปลูกผักลิ้นห่านที่ตำบลไม้ขาว จึงตัดสินใจซื้อต้นพันธุ์ผักลิ้นห่าน จำนวน 100 ต้น มาปลูกที่บ้านของตนเองในตำบลป่าคลอก

นางอำพร ก่อเจริญกิจ หรือป้าจี๊ด

ป้าจี๊ด เป็นเกษตรกรนักทดลอง โดยการค้นคว้าหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต อ่านหนังสือ และสอบถามนักวิชาการหรือผู้รู้ ประกอบการตัดสินใจในการปลูกพืชใหม่ๆ รวมทั้งลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ป้าจี๊ดเริ่มต้นปลูกผักลิ้นห่านด้วยการปลูกลงแปลง โดยการยกแปลงและใช้ดินผสมในการปลูก แต่ดูแลและจัดการยาก เช่น การควบคุมวัชพืช การเก็บเกี่ยว ฯลฯ จึงได้เปลี่ยนมาทดลองปลูกในล้อยางรถยนต์ พบว่า การจัดการทำได้ง่าย และได้ผลเป็นอย่างดี จนปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 83 ล้อ และมีการวางแผนขยายเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกด้วย

ลักษณะต้นผักลิ้นห่าน

ขั้นตอนการปลูกผักลิ้นห่านในล้อยางรถยนต์

  1. การเตรียมภาชนะปลูกหรือล้อยางรถยนต์ โดยนำล้อยางรถยนต์มาตัดขอบด้านบนออกด้วยมีด เพื่อเพิ่มพื้นที่การปลูกผักลิ้นห่านต่อล้อได้มากยิ่งขึ้น
  2. โรงเรือน ผักลิ้นห่านชอบที่ร่มรำไร ป้าจี๊ดปลูกใต้ร่มไม้บ้างและส่วนหนึ่งปลูกในโรงเรือนพรางแสงแบบง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง จำลองสภาพแวดล้อมของผักลิ้นห่านที่เจริญเติบโตได้ดีใต้ต้นสนริมชายหาด
  3. ดินปลูก มีคนแนะนำให้นำทรายผสมในดินปลูกเพื่อจำลองสภาพการเจริญเติบโตของผักลิ้นห่าน ที่มักพบบริเวณชายหาด แต่ป้าจี๊ดได้ทดลองแล้วพบว่าไม่มีความแตกต่างมากนัก โดยป้าจี๊ดใช้หน้าดินที่บ้านของตนเองผสมกับปุ๋ยคอก (มูลสัตว์) พบว่าผักลิ้นห่านมีการเจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน
  4. ต้นพันธุ์ ด้วยลักษณะการเจริญเติบโตของผักลิ้นห่านที่ต้นมีไหลเลื้อยไปตามพื้นดิน แตกกอเป็นช่วงๆ เราสามารถเด็ดกอที่แตกใหม่เหล่านั้นให้ติดรากเพื่อนำมาขยายพันธุ์ เป็นวิธีการที่นิยมและให้ผลผลิตรวดเร็ว นอกจากนี้ ผักลิ้นห่านยังสามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด แต่ไม่เป็นที่นิยม
  5. การปลูก นำดินปลูกใส่ลงในล้อยางรถยนต์ให้เกือบเต็ม เพื่อให้มีพื้นที่ไว้สำหรับกักเก็บน้ำและป้องกันการสูญเสียดินออกจากล้อยางขณะรดน้ำ ใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 20-30 ต้น/ล้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดล้อและจำนวนต้นพันธุ์ที่มี หลังจากปลูกประมาณ 45 วัน ต้นจะเริ่มเลื้อยเต็มล้อ ให้ทยอยเก็บกินหรือจำหน่ายได้
  6. การให้น้ำ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ปกติให้น้ำในช่วงเช้าและเย็น แต่หากวัสดุปลูกยังมีความชื้นอยู่ สามารถลดการให้น้ำได้ตามความเหมาะสม
  7. การใส่ปุ๋ยและการบำรุงต้น ป้าจี๊ดเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก และน้ำหมักชีวภาพที่ทำเอง ป้าจี๊ดกล่าวย้ำเสมอระหว่างการให้ข้อมูลว่า “ป้าไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าโรคและแมลงเลย ปลูกแบบอินทรีย์จริงๆ เพราะป้าปลูกกินเองด้วย”
ดอกผักลิ้นห่าน

 การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการจำหน่าย

เก็บเกี่ยวโดยคัดเลือกต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ถอนทั้งต้น หลังจากนั้นนำไปล้างและตัดแต่งใบเหลือง ใบที่มีตำหนิ และตัดรากออก ก่อนนำไปบรรจุถุง และจำหน่าย ป้าจี๊ดจำหน่ายตาม Order หรือตามการสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลัก บ้างก็มีการออกไปจำหน่ายตามงานหรือกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานราชการ ปัจจุบัน จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 250-300 บาท อาจจะฟังดูแพง แต่ป้าจี๊ดบอกว่าไม่แพงเลย เพราะผักลิ้นห่านมีน้ำหนักเบามาก ปกติแล้วน้ำหนัก 2 ขีด ก็สามารถใช้ทำอาหารกินกันภายในครอบครัวได้แบบสบายๆ รวมทั้งมีบริการส่งฟรีทั่วไทย ปกติส่งให้ลูกค้าเป็นประจำที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี และเคยส่งไกลสุดไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ โดยบรรจุถุง ซีลสุญญากาศ และบรรจุกล่องเป็นอย่างดี

ผักลิ้นห่าน บริเวณชายหาดไม้ขาว

นายชัยยุทธ์ ทองชัย เกษตรอำเภอกะทู้ รักษาการในตำแหน่งเกษตรอำเภอถลาง สำนักงานเกษตรอำเภอถลาง หนึ่งในหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนปลูกผักสวนครัวเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผักลิ้นห่านเป็นอีกหนึ่งพืชผักทางเลือกที่ให้ผลผลิตเร็ว สามารถบริโภคในครัวเรือนเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ในครัวเรือน โดยตนและเจ้าหน้าที่ได้นำมาปลูกทดสอบบริเวณหน้าสำนักงานเกษตรอำเภอถลาง เพื่อเป็นแบบอย่างและใช้ประกอบอาหาร อีกทั้งยังมีความสวยงามใช้เป็นพืชประดับตกแต่งอาคารสำนักงานได้อีกด้วย พร้อมกันนี้ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผักลิ้นห่าน อยู่ที่ไหนก็ปลูกได้ พื้นที่มากหรือพื้นที่น้อย พื้นที่จำกัดในเมือง อยู่บ้านพักหรืออยู่คอนโด ก็สามารถปลูกได้ รสชาติอร่อย และได้ประโยชน์อีกด้วย”

นายชัยยุทธ์ ทองชัย เกษตรอำเภอกะทู้ รักษาการในตำแหน่งเกษตรอำเภอถลาง

สนใจ ผักลิ้นห่านสดๆ โทร.สั่งซื้อล่วงหน้ากับป้าจี๊ดหรือคุณเมย์ (ลูกสาว) ได้ที่ 062-057*6095 หรือจะเข้าไปรับเองพร้อมทั้งพูดคุยหรือซักถามเทคนิคการปลูกและดูแลได้ที่ บ้านบางโรง หมู่ที่ 3 ตำบล  ป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต (ใกล้มัสยิดบางโรง หรือตรงข้าม สำนักงานโครงการคืนชะนีสู่ป่า)