เกษตรกรชาวไร่อ้อยลพบุรี “เลี้ยงแพะ” เสริมรายได้ สู้ภัยแล้ง

จังหวัดลพบุรี มีศักยภาพในการปลูกอ้อยโรงงาน ประมาณ 8 แสนไร่ แต่หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานลดลงมาก เนื่องจากประสบภัยแล้งต่อเนื่องและราคาที่ตกต่ำ ทำให้มีผลกำไรลดลง คุณอ้อม หรือ คุณจีรนันท์ กล่ำเพชร เกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงสนใจลงทุนทำฟาร์ม “เลี้ยงแพะ” เป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ สู้ภัยแล้ง แรกๆ ก็เลี้ยงไม่กี่ตัว จนถึงปัจจุบัน มีกว่า 60 ตัว ลูกแพะตัวผู้จะขุนขาย ส่วนตัวเมียเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ อาชีพเลี้ยงแพะใช้ต้นทุนต่ำ แต่ทำรายได้ดี ทะลุหลักแสนต่อปี

เลี้ยงแพะ ใช้ต้นทุนต่ำ

คุณอ้อม หรือ คุณจีรนันท์ กล่ำเพชร เจ้าของฟาร์มแพะอินทรีแดง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 1 ตำบลวังทอง อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี โทร. 092-634-4546 คุณอ้อม เล่าให้ฟังว่า เดิมครอบครัวเธอมีอาชีพทำไร่อ้อยและให้บริการรถตัดอ้อย เมื่อ 4 ปีก่อน ไร่อ้อยได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง และประสบปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ สามีคุณอ้อมจึงสนใจอยากเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมรายได้ โดยศึกษาหาข้อมูลเรื่องการเลี้ยงแพะจากหนังสือการเกษตรประเภทต่างๆ รวมทั้งนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ใช้เป็นคู่มือในการลงทุนทำฟาร์มแพะขุน

แพะพันธุ์บอร์ ลำตัวสีขาว หัวและคอมีสีน้ำตาลแดง

ฟาร์มอินทรีย์แดง เริ่มต้นเลี้ยงแพะ พันธุ์บอร์ (Boer) ครั้งแรกจำนวน 10 ตัวก่อน ต่อมาสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแกะโคกเจริญ ทำให้คุณอ้อมมีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลการเลี้ยงและการตลาดกับสมาชิกผู้เลี้ยงแพะรายอื่นๆ ทำให้เลี้ยงแพะได้ชำนาญมากขึ้น ทางกลุ่มฯ ยังเปิดโอกาสให้สมาชิกขอยืมแพะจากธนาคารแพะมาผสมพันธุ์แพะเอง ช่วยเพิ่มจำนวนแพะในฟาร์มได้มากขึ้น เป็น 63 ตัว แบ่งเป็นแพะตัวผู้ 15 ตัว และแพะตัวเมีย 40 กว่าตัว

จนถึงวันนี้ คุณอ้อม ลงทุนเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมมาได้ 3 ปีแล้ว ทางฟาร์มขายแพะตัวผู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจ ส่วนแพะตัวเมียตั้งเป้าขยายพันธุ์ให้ได้ครบ 100 แม่ก่อน จึงค่อยเริ่มการขาย คุณอ้อม บอกว่า การเลี้ยงแพะ เป็นอาชีพที่มั่นคง มีโอกาสเติบโตสดใสในระยะยาว เพราะเป็นสินค้าขายดี มีฐานการตลาดกว้างขวาง เพราะเนื้อแพะเป็นที่ต้องการของตลาดชาวมุสลิมทั้งในประเทศและส่งออก แพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินง่าย หากใครสนใจอาชีพเลี้ยงแพะ อาจเริ่มต้นเลี้ยงแพะฝูงเล็กๆ ก่อน เมื่อเลี้ยงชำนาญแล้ว จึงค่อยๆ ขยายฟาร์มให้ใหญ่ขึ้นได้ไม่ยาก

โรงเรือนเลี้ยงแพะ สูงโปร่ง หลังคาสูงประมาณ 2.50 เมตร

โรงเรือนเลี้ยงแพะ

ฟาร์มแพะอินทรีย์แดง ใช้พื้นที่ไม่มาก ตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีการวางผังฟาร์มที่ดี เนื้อที่เหมาะสมกับขนาดฟาร์ม มีการจัดพื้นที่ของฟาร์มเป็นสัดส่วนชัดเจน โรงเรือนเลี้ยงแพะ แยกออกจากที่พักอาศัย มีโรงเก็บอาหารสัตว์เป็นสัดส่วน มีรั้วรอบบริเวณพื้นที่การเลี้ยง โรงเรือนแพะสูงโปร่ง หลังคาสูงประมาณ 2.5 เมตร กันแดด กันฝน และกันแรงลมได้ อากาศถ่ายเทสะดวก ทำให้แพะอยู่อย่างสบาย

ภายในโรงเรือนกั้นแบ่งเป็นคอก ผนังคอกโปร่ง สูงไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร พื้นโรงเรือนและพื้นคอกแห้งสะอาด พื้นใต้โรงเรือนเป็นพื้นดินอัดแน่น ทางขึ้นโรงเรือนยกระดับลาดเอียงไม่เกิน 45 องศา ใต้ถุนโรงเรือนมีลวดตาข่ายกั้น

“อาชีพการเลี้ยงแพะใช้เงินลงทุนไม่มาก มีค่าก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงแพะ 70,000 บาท ค่าซื้อพันธุ์แพะอีก 50,000 บาท รวมกัน 120,000 บาท ใช้เวลาคืนทุน ประมาณ 2-3 ปี แต่หากขายพันธุ์แพะตัวเมียได้ จะใช้เวลาคืนทุนได้เร็วกว่าที่กำหนด” คุณอ้อม กล่าว

กระถินสด อาหารหลักสำหรับแพะ หาได้ง่ายในพื้นที่

อาหารแพะ

โดยทั่วไป เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้นิยมเลี้ยงแพะในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน ฯลฯ แพะสามารถหาอาหารได้เองตามธรรมชาติ เช่น เศษใบไม้ วัชพืช หญ้าแห้ง เปลือกสน เปลือกถั่ว ฯลฯ แพะเป็นสัตว์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนแล้งได้ดี กินน้ำน้อย ต้องการเกลือเป็นอาหารเสริมในแต่ละวัน

เรียกได้ว่า อาชีพเลี้ยงแพะ มีค่าใช้จ่ายน้อย เนื่องจากอาหารแพะส่วนใหญ่เกษตรกรหาได้ตามธรรมชาติหรือปลูกได้เอง เช่น หญ้าเนเปียร์ ต้นกระถิน ฯลฯ เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะไม่ต้องลงทุนซื้ออาหารสำเร็จรูปมาใช้ เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจประเภทอื่น

ไม้กระถิน เศษวัสดุที่เหลือทิ้งในฟาร์มแพะ

คุณอ้อม บอกว่า ฟาร์มอินทรีแดง มีต้นทุนค่าอาหารแพะเฉลี่ยเดือนละ 3,000-4,000 บาท เป็นค่าซื้อเปลือกถั่วเหลือง หญ้าแพงโกล่าแห้ง และเกลือแร่ ฯลฯ ทางฟาร์มใช้กระถินเป็นอาหารหลักในการเลี้ยงแพะ โดยคนงานจะออกไปตัดกระถินตามที่สาธารณะต่างๆ ในชุมชน

คุณอ้อม กับแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์

นอกจากนี้ คุณอ้อม ยังปลูกหญ้าเนเปียร์ไว้อีก 2 ไร่ แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกหญ้าหวานอิสราเอลหรือหญ้าเนเปียร์อิสราเอลเป็นอาหารเลี้ยงแพะ ฤดูฝนปีนี้คุณอ้อมวางแผนขยายพื้นที่ปลูกอาหารสัตว์ประเภทกระถินและหญ้าแพงโกล่าเพิ่มขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่ง

คุณอ้อม บอกว่า การปลูกหญ้าหวานอิสราเอลทำได้ไม่ยาก คุณอ้อมใช้วิธีสั่งซื้อต้นพันธุ์หญ้าหวานอิสราเอลจากตลาดออนไลน์ ในราคาท่อนพันธุ์ละ 1 บาท นำมาปลูกไว้หลังบ้าน หญ้าหวานอิสราเอลเป็นพืชทนแล้ง ปลูกดูแลง่ายมาก แค่วางท่อนพันธุ์ลงดิน กลบดินให้แน่น ใช้เวลาปลูกแค่ 3 เดือน

หญ้าหวานอิสราเอล หรือหญ้าเนเปียร์อิสราเอล

หลังจากต้นหญ้าหวานอิสราเอลแตกกอก็ตัดใบไปให้แพะกินได้เลย หลังจากต้นหญ้าหวานอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะแตกหน่อในกอเดียวกันออกไปเรื่อยๆ หญ้าหวานอิสราเอลเป็นอาหารสุดโปรดชนิดหนึ่งของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ไม่ว่าจะเป็นแพะ แกะ วัว ควาย หรือกวาง เพราะเป็นหญ้าที่เคี้ยวง่าย ให้รสหวาน กรอบ แถมมีโปรตีนมากถึง 20% ขณะที่หญ้าเนเปียร์มีโปรตีนเพียงแค่ 10% เท่านั้น

ด้านตลาด

ทุกวันนี้ คุณอ้อมส่งแพะขุนตัวผู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแกะโคกเจริญเป็นผู้จัดจำหน่าย ในราคากิโลกรัมละ 130 บาท แพะขุน 1 ตัว จะมีรายได้ประมาณ 3,700 บาท หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือผลกำไรเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียว หากขายแพะตัวเมียจะมีรายได้ ตัวละ 5,000 บาท

“ตอนนี้ ชาวบ้านหันมาเลี้ยงแพะกันมากขึ้น เพราะผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้แหล่งน้ำสำหรับใช้เพาะปลูกพืชได้น้อยลง แพะเป็นสัตว์ที่กินน้ำน้อย ใช้เวลาเลี้ยงดูไม่นาน แต่ให้ผลตอบแทนสูง แถมขายได้ราคาดี เรียกได้ว่าอาชีพการเลี้ยงแพะสร้างผลกำไรดีกว่าการเลี้ยงวัวเสียอีก หากเลี้ยงแพะ 40 แม่ ปีหนึ่งจะมีลูกแพะเกิดใหม่ 40 ตัว หากเป็นตัวผู้ทั้งหมด จะมีรายได้จากการขาย ตัวละ 3,000 บาท เท่ากับปีหนึ่งจะมีรายได้ 120,000 บาท หากเป็นลูกแพะตัวเมียก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะขายได้ตัวละ 5,000 บาท” คุณอ้อม กล่าว

การเลี้ยงแพะแบบขังคอก

ฝากถึงผู้สนใจเลี้ยงแพะ

หากใครสนใจอาชีพเลี้ยงแพะ คุณอ้อมให้คำแนะนำว่า แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ดูแลง่าย แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะต้องดูแลใส่ใจบำรุงสุขภาพแพะให้แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อให้มีเปอร์เซ็นต์การเลี้ยงรอดได้มากที่สุด เพราะการเลี้ยงแพะมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง เช่น ช่วงอากาศเย็น หากปล่อยให้แพะโดนลมโกรกมากๆ แพะจะป่วยได้ง่าย จึงต้องใช้ซาแรนคลุมโรงเรือนเพื่อป้องกันลม

หากท้องถิ่นใด มีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะอยู่แล้ว คุณอ้อมแนะนำให้ผู้สนใจเลี้ยงแพะรีบสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มฯ ทันที เพราะจะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งด้านข้อมูลการผลิต แลกเปลี่ยนข้อมูลการตลาด รวมกันซื้อรวมกันขาย จะได้ไม่ถูกกดราคาขายจากพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ มีโอกาสเรียนรู้ยกระดับมาตรฐานการผลิต การจัดการผลผลิตและด้านการตลาด ช่วยให้สมาชิกทุกคนเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กัน

คุณอ้อม เล่าให้ฟังว่า หลังจากเธอสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแกะโคกเจริญ ฟาร์มแพะของคุณอ้อมได้รับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ มากมาย เช่น ตรวจเลือดแพะฟรี จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่สมาชิก ฯลฯ

คุณจีรนันท์ กล่ำเพชร หรือ คุณอ้อม กับฟาร์มแพะอินทรีแดงที่เธอภาคภูมิใจ

นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแกะโคกเจริญช่วยผลักดันให้ฟาร์มอินทรีแดงก้าวเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มแพะปลอดโรคบรูเซลลา ระดับ A เช่นเดียวกับเพื่อนสมาชิกกลุ่มฯ รายอื่นๆ เพิ่มโอกาสในการพัฒนาคุณภาพสินค้า และขยายตลาดแพะได้มากขึ้นในอนาคต  

………………………………………………………….

เผยแพร่ทางออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2563