วว. ฉลองครบรอบ 57 ปี ในฐานะหุ้นส่วนความสำเร็จของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน นำ วทน. ตอบโจทย์ สร้างโอกาสธุรกิจ เสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศเป็นรูปธรรมยั่งยืน

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.

วันนี้ (25 พ.ค. 2563) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ฉลองครบรอบคล้ายวันสถาปนา 57 ปี การดำเนินงานในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ ที่ประสบผลสำเร็จในการเป็นหุ้นส่วนของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เข้าไปตอบโจทย์ สร้างโอกาสทางธุรกิจ เสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นวันครบรอบ “57 ปี” การก่อตั้ง วว. โดยภารกิจหลักการดำเนินงานขององค์กรมุ่งใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปขับเคลื่อนสนับสนุนการแก้ปัญหา สร้างโอกาสทางธุรกิจ และการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม สังคม พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีกลไกสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในระดับ SMEs ผู้ผลิตสินค้า OTOP วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจาก วว. สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เดิมให้ได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ช่วยเสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

“…รูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานของ วว. ครอบคลุมตั้งแต่ การรับฟังแนวความคิดของผู้ประกอบการ (idea) การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและแก้ไขปัญหา (prototype & solution) การบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ การขยายขนาดการผลิตจากห้องทดลองสู่ระดับการผลิตจริง (scale up) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้า (product & management system) ตลอดจนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ (commercialization) ทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน

ตลอดระยะเวลา 57 ปีในการดำเนินงาน เรามีการปรับปรุง พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดนโยบายรัฐและปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ในภาพรวมการดำเนินงานตามภารกิจหลักและโครงการสำคัญต่างๆ ของ วว. มี การพัฒนานวัตกรรมสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริง มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่พร้อมใช้เพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ในภาวะที่เกิดวิกฤตต่างๆ เช่น แปรรูปอาหาร พัฒนาผลิตผลทางการเกษตร สมุนไพร สร้างความฝันของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นจริง ผลักดันผู้ประกอบการที่นำผลงานวิจัย พัฒนา และบริการของ วว. ไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม คิดเป็นมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1,500 ล้านบาท ต่อปี รวมมูลค่าผลกระทบที่เกิดจากผลงานของ วว. มากกว่า 6,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา…”    ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนขององค์กรในก้าวย่างอนาคตว่า มุ่งสร้างให้ วว. เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนา ที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการทำงาน ให้ร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ อยู่บนฐานของทรัพยากรชีวภาพ (Bio-based) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทย ตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจฐานราก ชุมชน และประชาชนเชิงพื้นที่ (Area based) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำ ตามนโยบายรัฐบาล

“…การดำเนินงานของ วว. ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร โดยใช้องค์ความรู้ด้าน วทน. เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งขับเคลื่อนโดยการนำความเชี่ยวชาญและโครงสร้างพื้นฐาน วทน. ไปสร้างประโยชน์อย่างครบวงจร (Total Solution Provider) พัฒนาเทคโนโลยีที่สนองตามบริบทของผู้ใช้ประโยชน์ (Appropriate technology)  และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ในก้าวต่อไปของ วว. จะใช้พื้นที่ของสถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยเหลือด้านการเกษตร การวิจัยพัฒนาวัสดุธรมชาติ  เป็นฐานดำเนินงานขยายผลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ หรือ “BCG Economy Model” ซึ่งประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว  (Green  Economy)  ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ทำการเกษตรแบบครบวงจร ส่งเสริมการปลูก เทคโนโลยีเกี่ยวกับการนำของเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภาพของสถานีวิจัยลำตะคองในปีหน้าจะเป็นแหล่งเรียนรู้และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล…” ผู้ว่าการ วว. สรุป

อนึ่ง วว. เริ่มต้นก่อกำเนิดเป็นองค์กรในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามนโยบายพิเศษของรัฐ   ในช่วงเวลากว่า 57 ปีที่ผ่านมา วว.สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม วิจัยพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอย่างครบวงจร และได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานแกนหลักในการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2563 วว. ยังเป็น 1 ใน 42 หน่วยงานของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

ผลการดำเนินงานเด่นๆ เป็นรูปธรรมของ วว. ที่ร่วมดำเนินงานกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน  ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหา สร้างโอกาสทางธุรกิจ และเสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศให้ยั่งยืน อาทิ 1. โครงการอุทยานสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติ ร.9 พุทธมณฑล 2. โครงการพัฒนาเกษตรดินทรายชายทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3. โครงการสิ่งแวดล้อมในเขตพระราชฐาน 4. โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดหอมบนที่สูงในภาคเหนือ 5. โครงการพืชพลังงาน 6. โครงการไม้บังลม 7. โครงการปรับปรุงบึงมักกะสัน 8. โครงการศึกษาดินพรุเพื่อใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 9. โครงการป่ารักน้ำ 10. โครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก 11. โครงการยกระดับโอท็อปในพื้นที่ 10 จังหวัดยากจน 12. โครงการคูปองวิทย์เพื่อโอท็อป 13. โครงการบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ 14. โครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร 15. โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร 16. โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐาน/ข้าวอินทรีย์ 17. โครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  18. โครงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตผลไม้และพืชอัตลักษณ์ 19. โครงการครัวชุมชน 20. โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่นไทย (Thai Cosmetopoeia) 21. โครงการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ 22. โครงการส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น

………………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่