ห้ามทำนาปรังรอบ 3

แม้ว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศในปีนี้จะมีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกัน 21,854 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างรวมกันหรือ “มากกว่า” ปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกันของปี 2559 รวม 7,941 ล้าน ลบ.ม.ก็ตาม

แต่เมื่อติดตามสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักที่จะมีผลต่อลุ่มเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขื่อนภูมิพล ปริมาตรน้ำใช้การได้จริง ณ 17 มีนาคม 2,430 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25-เขื่อนสิริกิติ์ 2,716 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 41, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 432 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 48 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 453 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 รวม 4 เขื่อนหลักคิดเป็นปริมาตรน้ำใช้การได้จริง 6,032 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33

ในขณะที่เหลือเวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 เดือนครึ่งกว่าที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนของปี 2560

นั่นหมายความว่า กรมชลประทานจะต้องบริหารจัดการน้ำก้อนนี้ (6,032 ล้าน ลบ.ม.) ในกิจกรรมหลัก ๆ 4 กิจกรรม ได้แก่ น้ำเพื่อเกษตรกรรมวันละ 36 ล้าน ลบ.ม, น้ำเพื่อระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มวันละ 5-7 ล้าน ลบ.ม., น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมวันละ 3 ล้าน ลบ.ม., น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภควันละ 8 ล้าน ลบ.ม. และอื่น ๆ อีกวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. รวมแล้วประมาณวันละ 55-57 ล้าน ลบ.ม.ไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน โดยไม่ต้องหวังว่า ในช่วงเวลานี้จะมีปริมาตรน้ำไหลลงอ่าง

อย่างไรก็ตาม หากคำนวณปริมาตรน้ำคงเหลือใช้การได้จริงของทั้ง 4 เขื่อน สามารถรองรับกิจกรรมในการใช้น้ำหลัก ๆ  ทั้ง 4 กิจกรรมได้ไปไม่น้อยกว่า 3 เดือนครึ่ง (110 วัน) หรือกินเวลาไปจนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคมก็ตาม

แต่ยังมีอีก 2 ปัจจัยเสี่ยง “อาจจะ” ทำให้การบริหารจัดการน้ำที่ยังเหลืออยู่อีก 6,032 ล้าน ลบ.ม.ไม่เป็นไปตามแผน ได้แก่ 1) การปลูกข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณควบคุมไม่ได้จากปัจจุบันปลูกข้าวนาปรังแล้วกว่า 5.35 ล้านไร่ (นาปรังรอบ 2) เกินไปกว่าแผนที่กำหนดให้ปลูกไม่เกิน 2.67 ล้านไร่ (เกินกว่าแผนแล้ว 2.68 ล้านไร่) และส่วนใหญ่เริ่มจะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 3 แล้ว

โดยการปลูกข้าว 1 ไร่จะต้องใช้น้ำไม่ต่ำกว่า 3,000 ลบ.ม.

กับปัจจัยที่ 2 ก็คือ จากแบบจำลอง IRI/CPC Pacific Nino ของ NOAA การวัดอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกล่าสุดบ่งบอกว่า จะเกิดปรากฏการณ์ El Nino (ฝนน้อย น้ำน้อย) อ่อน ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป แปลว่า มีโอกาสที่ไทยจะมีฝนทิ้งช่วงถึงเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งพอดีกับปริมาตรน้ำใช้การได้จริงที่จัดสรรไว้พอดิบพอดี

ดังนั้นหากพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ทั้ง 2 ปัจจัย แสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำปีนี้ถึงแม้จะเริ่มต้น “มากกว่า” ปีที่ผ่านมาถึง 7,941 ล้าน ลบ.ม. ก็ใช่ว่าจะไม่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

เพราะเพียงแค่ต้นเดือนมีนาคมก็เริ่มปรากฏข่าวคราวแหล่งน้ำตามธรรมชาติ-แม่น้ำสายหลัก ๆ แห้งขอด อาทิ แม่น้ำยม จนเกิดปรากฏการณ์ชาวนาแย่งน้ำ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกับคำถามที่ว่า “ชาวนาที่ไหนจะนั่งดูข้าวที่ปลูกไว้ยืนต้นตาย”

ดังนั้นจุดเสี่ยงจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทั้ง 2 ที่กรมชลประทาน พอจะดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงลงได้ก็คือ จะต้องไม่ยอมให้มีการทำนาปรังรอบ 3 หรือจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวที่เพิ่มขึ้นไปกว่า 5.35 ล้านไร่อย่างเด็ดขาด

และพื้นที่ปลูกข้าวที่เพิ่มขึ้นกว่าแผนการจัดสรรที่วางเอาไว้ 2.68 ล้านไร่นั้น ส่วนใหญ่จะต้องปล่อยให้ยืนต้นตายแน่นอน เพราะอย่าลืมว่า กรมชลประทานจะต้องไม่ระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักเกินไปกว่าวันละ 55-57 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะกระทบต่อกิจกรรมการจัดสรรน้ำที่วางเอาไว้ทั้ง 4 กิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกขึ้นไปถึงแหล่งสูบน้ำประปาที่สำแล จ.ปทุมธานี

ทว่าการพูดแบบนี้ดูเหมือนง่าย ๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วรัฐบาลจะต้องหามาตรการช่วยเหลือชาวนาทั้งที่ปลูกข้าวไปแล้วและที่กำลังจะปลูก “ทำอย่างไรจะให้พวกเขามีรายได้ จนกระทั่งผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งนี้ไปได้” นั่นล่ะที่ยากกว่า

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์